พัทธสีมา คือ ลักษณะหนึ่งของสีมาหรือเขตแดนที่สำหรับภิกษุทำสังฆกรรม โดยสีมาหรือเขตแดนสำหรับกำหนดสถานที่ประชุมสงฆ์นั้น มีอยู่ 2 ประเภท คือ "พัทธสีมา" คือ เขตแดนที่พระสงฆ์ผูกไว้แล้ว อีกประเภทคือ "อพัทธสีมา" คือ เขตที่กำหนดไว้ตามปกติของบ้านเมือง เช่น เขตตำบล

สำหรับพัทธสีมา คือ เขตที่สงฆ์กำหนดเอาเองนั้น โดยที่การกำหนดเขตสีมาต้องมีเครื่องหมายที่จะให้บุคคลทั่วไปหรือผู้ที่เข้าประชุมได้รับรู้ทั่วกัน พระพุทธองค์ได้ทรงอนุญาต 8 ชนิด คือ ภูเขา ศิลา ไม้ ต้นไม้ จอมปลวก หนทาง แม่น้ำ และสระน้ำ

ในการกำหนดเขตพัทธสีมานั้น ในเขตนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นอาคารก็ได้ เพราะเป็นเขตสำหรับการประชุมสังฆกรรม แต่พระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาตให้มีตัวอาคารสำหรับประชุมได้ เรียกว่า อุโปสถัคคะ หรือ โบสถ์ ซึ่งต่อมาการสร้างโบสถ์จะสร้างภายในสีมาหรือเท่ากับสีมา[1] การผูกสีมาจึงมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการสร้างโบสถ์ ซึ่งในปัจจุบันในประเทศไทยวัดที่ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาจะต้องมีโบสถ์เรียบร้อยแล้วหรืออยู่ระหว่างการก่อสร้าง[2]

ผูกพัทธสีมา

แก้

การกำหนดเขตพื้นที่ผูกนั้น พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้สงฆ์กำหนดเขตเอาเอง แต่กำหนดให้สมมติสีมาไม่เล็กกว่าการจุภิกษุ 21 รูป ให้นั่งหัตถบาสกันได้ เพราะสังฆกรรมที่ต้องการสงฆ์มีจำนวนมากที่สุด 20 รูป (อัพภานกรรม) และห้ามมิให้สมมติสีมาใหญ่เกินกว่าสามโยชน์

พัทธสีมามีอยู่ 3 ชนิด (คัมภีร์มหาวรรคระบุว่ามี 4 ชนิด) คือ

  1. ขัณฑสีมา คือ สีมาผูกเฉพาะโรงอุโบสถ
  2. มหาสีมา คือ สีมาผูกรอบวัด
  3. สีมาสองชั้น คือ สีมาที่มีขัณฑสีมาอยู่ภายในมหาสีมา
  4. นทีปารสีมา คือ สีมาที่สมมติคร่อมฝั่งน้ำ

ในยุคหลังมักจะผูกเฉพาะขัณฑสีมาหรือผูกเฉพาะอุโบสถ วัดที่ผูกมหาสีมามี 2 วัด คือ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร วัดที่มีสีมาสองชั้น เช่น วัดโสมนัสราชวรวิหาร ส่วนนทีปารสีมามีปรากฏในตำนานทางภาคเหนือ คือ นิยมบวชโดยใช้สมมุติสีมาน้ำที่เรียกว่า นทีสีมา หรือ อุทกสีมา นทีปารสีมา ทรงอนุญาตให้สมมติได้เฉพาะในตำบลทีมีเรือไปมาอยู่ตลอด เป็นท่าสำหรับจอดเรือ หรือมีสะพานถาวรยื่นออก เพื่อเรือจะได้จอดเทียบได้[3]

วิธีการผูกพัทธสีมา ในปัจจุบันเริ่มจากพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันที่อุโบสถ เพื่อทำพิธีสวดถอนเพื่อให้แน่ใจว่าอาณาบริเวณนี้ไม่เคยเป็นสีมาเดิมหรือสีมาเก่ามาก่อน เพื่อพระสงฆ์สวดถอนเป็นแห่ง ๆ ไปตลอดสถานที่ที่กำหนดเขตแดนทำสังฆกรรมแล้วว่ามีอาณาเขตเท่าใด[4] จากนั้นจึงจัดเตรียมลูกนิมิตไว้ตามทิศ เมื่อจะสมมติสีมา ต้องประชุมภิกษุอยู่ในภายในนิมิตทั้งหมด แล้วมีภิกษุทักนิมิต เริ่มต้นตั้งแต่ทิศบูรพาเป็นต้นไป โดยเวียนขวา ไปจนถึงทิศอีสานแล้วจึงกลับมาทักทิศบูรพาอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นสวดกรรมวาจาสมมติสีมา ส่วนปัจฉิมกิจแห่งการผูกพัทธสีมานั้นไม่มี

ในการสร้างวัดแม้วัดจะยังไม่ได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา แต่หากราษฎรได้จัดสร้างและยกถวายให้แก่สงฆ์และสงฆ์ได้มีพิธีผูกพัทธสีมาแล้ว ก็ถือว่ามีฐานะเป็นวัดทางพระพุทธศาสนาที่ชอบด้วยพุทธบัญญัติและจารีตประเพณี ส่วนการพระราชทานวิสุงคามสีมาถือเป็นโบราณพระราชพิธีสำหรับองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น[5]

อ้างอิง

แก้
  1. พระพรหมคุณาภรณ์, (ป.อ. ปยุตโต), ฝังลูกนิมิต-ผูกสีมา: ปุจฉา วิสัชนา, พิมพ์ครั้งที่ 4, (กรุงเทพมหานคร: ประพันธ์สาส์น, 2555), 4–7.
  2. พระสิทธินิติธาดา, 71.
  3. "พัทธสีมา". วัดป่ามหาชัย.
  4. พระสิทธินิติธาดา, 233.
  5. พระสิทธินิติธาดา, 246.

บรรณานุกรม

แก้