พระเจ้าชุงจง (เกาหลี중종; ฮันจา中宗; อาร์อาร์Jungjong; เอ็มอาร์Chungchong ค.ศ. 1488 - ค.ศ. 1544) เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 11 ของ อาณาจักรโชซอน (ค.ศ. 1506 - ค.ศ. 1544)

พระเจ้าชุงจง
พระราชสุสานของพระเจ้าชุงจง
พระมหากษัตริย์แห่งโชซอน
ครองราชย์ค.ศ. 1506-ค.ศ. 1544
ก่อนหน้าย็อนซันกุน
ถัดไปพระเจ้าอินจง
ระยะเวลาครองราชย์38 ปี
พระราชสมภพค.ศ. 1488
ลี ยอก (이역, 李懌)
สวรรคตค.ศ. 1544
พระมเหสีพระนางทันกย็อง
พระนางชังกย็อง
พระนางมุนจ็อง
พระราชบุตรพระเจ้าอินจง
พระเจ้ามย็องจง
พระนามเต็ม
พระเจ้าชุงจง
ราชวงศ์โชซ็อน
พระราชบิดาพระเจ้าซ็องจงแห่งโชซ็อน
พระราชมารดาพระนางช็องฮย็อน
พระเจ้าชุงจง
ฮันกึล
중종
ฮันจา
中宗
อาร์อาร์Jungjong
เอ็มอาร์Chungjong
ชื่อเกิด
ฮันกึล
이역
ฮันจา
李懌
อาร์อาร์I Yeok
เอ็มอาร์Yi Yŏk

รัฐประหาร

แก้

พระเจ้าจุงจงพระราชสมภพเมื่อปีค.ศ. 1488 เป็นพระราชโอรสพระเจ้าซ็องจง และพระนางชองฮยอน ตระกูลยุน ได้รับพระนามว่า เจ้าชายจินซอง (진성대군, 晉城大君) เจ้าชายจินซองมีพระเชษฐาต่างพระราชมารดาเป็นรัชทายาทอยู่แล้วขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1494 ภายหลังเป็นเจ้าชายยอนซันแต่หลังจากเหตุการณ์สังหารหมู่ปราชญ์ปีคัปจา เจ้าชายยอนซันประพฤติองค์เหลวแหลกไม่สนพระทัยกิจการบ้านเมืองจนเกิดกลียุค จนเมื่อ ค.ศ. 1506 คณะรัฐประหารนำโดย พัค วอนจง (박원종, 朴元宗) ซองฮีอัน (성희안, 成希顔) ยูซุนจอง (유순정, 柳順汀) ฯลฯ นำกำลังทหารเข้าบุกยึดพระราชวังคย็องบก ถอดเจ้าชายยอนซันจากราชสมบัติและขอคำรับรองจากพระนางจองฮยอนหรือพระพันปีจาซุน (자순대비, 慈順大妃) ในการยกเจ้าชายจินซองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ เหตุการณ์นี้เรียกว่า รัฐประหารพระเจ้าจุงจง (중종반정, 中宗反正)

หลังจากที่พระเจ้าจุงจงขึ้นครองราชย์ได้เพียงเจ็ดวันก็เกิดเหตุการณ์ปลดพระมเหสีตระกูลชิน เนื่องจากบิดาของพระมเหสีคือชินซูกึน (신수근, 愼守勤) ซึ่งเป็นราชเลขานุการในรัชสมัยของเจ้าชายยอนซันและได้ถูกสังหารไปในเหตุการณ์รัฐประหารพระเจ้าจุงจงคณะรัฐประหารเกรงว่าพระมเหสีจะแก้แค้นให้กับพระบิดาจึงปลดพระมเหสีชินออกจากตำแหน่งและเนรเทศไปนอกวังไปในค.ศ. 1506 (ต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้าย็องโจแห่งโชซอน จึงได้รับตำแหน่งคืนเป็นพระนางทันกยอง (단경왕후, 端敬王后))

ความพยายามในการปฏิรูป

แก้

เมื่อขึ้นครองราชสมบัติแล้ว พระเจ้าชุงจงมีพระราชปณิธานจะเยียวยารักษาบ้านเมืองหลังจากกลียุคในรัชสมัยของเจ้าชายยอนซันแต่ทว่าตลอดรัชสมัยนั้นพระเจ้าชุงจงตกอยู่ใต้อำนาจของขุนนางเป็นเพียงกษัตริย์หุ่นเชิดเท่านั้น พระเจ้าชุงจงก็ได้ปูนบำเหน็จแก่คณะรัฐประหารทั้งหลายให้เป็นผู้มีความดีความชอบ เรียกว่า ผู้มีความดีความชอบต่อความสงบของอาณาจักร (정국공신, 靖國功臣) พระราชทานที่ดินและทรัพย์สมบัติให้มากมายรวมทั้งมีอภิสิทธิ์ต่าง ๆ คณะปฏิวัติผูกขาดตำแหน่งสำคัญระดับสูง ผู้นำคณะรัฐประหารได้แก่พัควอนจง ยูซุนจอง และซองฮีอัน ผลัดกันเป็นอัครเสนาบดี ซึ่งเป็นที่ต่อต้านจากขุนนางฝ่ายซาริม จากสามกรม ซึ่งคอยโจมตีว่าคณะรัฐประหารไม่คู่ควรกับการปูนบำเหน็จและการผูกขาดตำแหน่งระดับสูง[1] และพระเจ้าชุงจงก็ต้องกลายเป็นหุ่นเชิดของคณะรัฐประหารที่นำพระองค์ขึ้นสู่บัลลังก์เอง

ใน ค.ศ. 1510 โจรสลัดญี่ปุ่นได้ทำการบุกปล้นสะดมอย่างหนักที่เมืองท่าของโจซอน เรียกว่า การปล้มสะดมสามท่าของโจรสลัดญี่ปุ่น (삼포왜란, 三浦倭亂) ได้แก่ ปูซาน เจ และยอม

ใน ค.ศ. 1515 พระมเหสีตระกูลยุน พระมเหสีองค์ที่สองของพระเจ้าชุงจง สิ้นพระชนม์ขณะมีพระประสูติกาลพระราชโอรส ได้รับพระนามว่าพระนางชังกย็อง (장경왕후, 章敬王后) และเกิดเหตุการณ์ขุนนางท้องที่ซึ่งเป็นฝ่ายซาริมได้ถวายฎีกากล่าวหาคณะรัฐประหารว่าได้ทำร้ายอดีตพระมเหสีตระกูลชิน (폐비 신씨, 廢妃 愼氏) อย่างไม่ยุติธรรมและขอให้พระเจ้าชุงจงคืนตำแหน่งให้แก่อดีตพระมเหสีชิน ฎีกานี้เป็นที่ต่อต้านทั่วไปจากขุนนางในราชสำนักแต่ขุนนางฝ่ายซาริมคนหนึ่งชื่อโจกวางโจ (조광조, 趙光祖) ได้ออกมาปกป้องฎีกานี้โดยกล่าวว่ากษัตริย์ควรจะฟังการถวายคำแนะนำของขุนนางหลาย ๆ ฝ่าย แม้พระเจ้าชุงจงไม่คืนตำแหน่งแก่พระมเหสีชิน (อภิเษกใหม่กับพระมเหสีตระกูลยุนในค.ศ. 1517 ภายหลังคือพระนางมุนจ็อง (문정왕후, 文定王后)) แต่พระเจ้าชุงจงก็ประทับใจในความซื่อสัตย์ของโจกวางโจ

พระเจ้าชุงจงไว้วางพระทัยโจกวางโจอย่างมาก ไม่ว่าโจกวางโจจะพูดอะไรพระเจ้าชุงจงก็เชื่อไปเสียหมด ในค.ศ. 1518 พระเจ้าชุงจงทรงล้มเลิกแผนการปราบชาวนูร์เชน (บรรพบุรุษของชาวแมนจู) ที่วางแผนมานานจากคำประท้วงของโจกวางโจ ทำให้ขุนนางกลุ่มอำนาจเก่าไม่พอใจ โจกวางโจเมื่อมีอำนาจก็ได้นำขุนนางฝ่ายซาริมคนอื่นๆเข้ามาดำรงตำแหน่งระดับสูงแทนที่ขุนนางกลุ่มเก่า ในค.ศ. 1519 โจกวางโจได้เสนอระบบการสอบจอหงวนแบบใหม่ เรียกว่า การสอบเพื่อวัดคุณงามความดี (현량과, 賢良科) เป็นการสอบโดยอาศัยการแนะนำจากขุนนางผู้ใหญ่เพียงอย่างเดียว เพราะโจกวางโจเชื่อว่าการสอบข้อเขียนนั้นไม่อาจวัดความดีของคนได้[2] และที่ร้ายแรงที่สุดคือโจกวางโจได้เสนอให้พระเจ้าชุงจงยกเลิกการปูนบำเหน็จผู้มีความดีความชอบต่อความสงบของอาณาจักรไปเสีย

ขุนนางกลุ่มเก่าจึงไม่อาจอยู่เฉยได้อีกต่อไป ฮงคยองจู นัมกอน (남곤, 南袞) และชิมจอง (심정, 沈貞) จึงวางแผนขับโจกวางโจออกจากอำนาจโดยการให้พระสนมคยองบิน ตระกูลพัค (경빈 박씨, 敬嬪 朴氏 ธิดาบุญธรรมของพัควอนจง) และพระสนมซุกอี ตระกูลฮง (ธิดาของฮงคยองจู) ปล่อยข่าวในวังว่าราษฎรพากันสนับสนุนโจกวางโจให้เป็นกษัตริย์[3] และขุนนางทั้งสองคนจึงไปกราบทูลยุยงพระเจ้าชุงจงว่าโจกวางโจนั้นเป็นกบฏ พระเจ้าชุงจงก็เชื่อเพราะสิ่งที่พระองค์เกรงกลัวที่สุดคือการเป็นเพียงกษัตริย์หุ่นเชิดของขุนนางที่มีอำนาจ จึงให้เนรเทศโจกวางโจและพรรคพวกไปที่เมืองนึงจูและประหารชีวิต ขุนนางฝ่ายซาริมทั้งหลายถูกขับออกจากราชสำนักและถูกลงโทษกันต่างๆนานา เรียกว่า เหตุการณ์สังหารหมู่ปราชญ์ปีคีมโย (기묘사화, 己卯士禍)

ตระกูลยุนเรืองอำนาจ

แก้

คิมอันโร (김안로, 金安老) ถูกนัมกอนและชิมจองกล่าวหาว่าทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงและถูกเนรเทศไปในปีค.ศ. 1524 ใน ค.ศ. 1527 นัมกอนเสียชีวิต ชิมจองได้ขึ้นเป็นอัครมหาเสนาบดีแทน แต่คิมอันโรจัดฉากการสาปแช่งรัชทายาทด้วยหนู (작서의변, 灼鼠의變) และใส่ร้ายพระสนมคยองบินตระกูลพัคและชิมจองว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ในการวางแผนยกเจ้าชายพกซ็อง (복성군, 福城君) พระโอรสของพระสนมคยองบินเป็นรัชทายาทแทน ชิมจองจึงถูกประหารชีวิตและพระสนมคยองบินกับพระโอรสถูกปลดจากตำแหน่งและเนรเทศ ในค.ศ. 1531 คิมอันโรได้รับพระราชทานอภัยโทษเพราะการเปิดโปงการสาปแช่งรัชทายาทที่ตนเองจัดฉากขึ้น และได้ยุยงให้พระเจ้าชุงจงสำเร็จโทษอดีตพระสนมและเจ้าชายพงซ็องไปเสียในค.ศ. 1533 แต่คิมอันโรก็ถูกพระนางมุนจ็องเปิดโปงคิมอันโรได้และคิมอันโรก็ถูกเนรเทศและประหารชีวิตในค.ศ. 1537

ในปลายรัชสมัยของพระเจ้าชุงจงตระกูลยุนแห่งพาพย็อง (파평윤씨, 坡平尹氏) เรืองอำนาจด้วยสายสัมพันธ์กับพระราชวงศ์และได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าชุงจงถึงสองพระองค์ ในค.ศ. 1534 พระนางมุนจ็องประสูติพระราชโอรสอีกพระองค์ให้แก่พระเจ้าชุงจง คือเจ้าชายคย็องว็อน (경원대군, 慶原大君) ทำให้ตระกูลยุนแห่งพาพยองก็แบ่งเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายยุนใหญ่ (대윤, 大尹) นำโดยยุนอิม (윤임, 尹任) พระเชษฐาของพระนางชังกย็องและพระปิตุลาของรัชทายาท สนับสนุนรัชทายาทให้ได้เป็นกษัตริย์องค์ต่อไป และฝ่ายยุนเล็ก (소윤, 小尹) นำโดยพระนางมุนจอง และพระเชษฐาอีกสองคนคือ ยุนวอนโน และยุนวอนฮย็อง (윤원형, 尹元衡) สนับสนุนเจ้าชายคย็องว็อน

พระเจ้าชุงจงสวรรคตในปีค.ศ. 1544 รัชทายาทที่เป็นพระโอรสของพระนางชังกย็องจึงได้ขึ้นครองราชย์ต่อเป็นพระเจ้าอินจง (인종, 仁宗) ทำให้ขุนนางฝ่ายยุนใหญ่ขึ้นมามีอำนาจ แต่ก็เป็นเพียงช่วงเวลาอันสั้น พระเจ้าอินจงก็อยู่ในราชสมบัติได้ไม่นานก็สวรรคต พระเจ้าชุงจงมีสุสานหลวงชื่อว่า จองนึง (정릉, 靖陵)

พระนามเต็ม

แก้

พระเจ้าชุงจง คงฮี ฮวีมุน โซมู ฮุมอิน ซองฮโย แห่งเกาหลี

พระบรมวงศานุวงศ์

แก้

พระมเหสี

  1. พระนางทันกย็อง ตระกูลชิน แห่งซ็องอึน (단경왕후 신씨)
  2. พระนางชังกย็อง ตระกูลยุน แห่งพาพย็อง (장경왕후 윤씨)
  3. พระนางมุนจ็อง ตระกูลยุน แห่งพาพย็อง (문정왕후 윤씨)

พระสนม

  1. พระสนมคย็องบิน ตระกูลปาร์ค (경빈 박씨)
  2. พระสนมฮีบิน ตระกูลฮง แห่งนัมยาง (희빈 홍씨)
  3. พระสนมชางบิน ตระกูลอา แห่งอันซาน (창빈 안씨)
  4. พระสนมควีอิน ตระกูลฮัน แห่งชองจู (귀인 한씨)
  5. พระสนมซุกอึย ตระกูลฮง แห่งนัมยาง (숙의 홍씨)
  6. พระสนมซุกอึย ตระกูลลี แห่งคยองจู (숙의 이씨)
  7. พระสนมซุกอึย ตระกูลนา แห่งนาจู (숙의 나씨)
  8. พระสนมซุกอึย ตระกูลฮง แห่งนัมยาง (숙의 홍씨)
  9. พระสนมซุกอึย ตระกูลคิม (숙의 김씨)
  10. พระสนมซุกวอน ตระกูลลี (숙원 이씨)
  11. พระสนมซุกวอน ตระกูลคิม (숙원 김씨)

พระโอรส

  • พระเจ้าอินจงแห่งโชซ็อน, อี โฮ (이호왕세자, 1515 - 1545) พระราชโอรสประสูติแต่พระนางชังกย็อง ตระกูลยุน แห่งพาพยอง
  • พระเจ้ามย็องจงแห่งโชซ็อน, อี ฮวัน (경원대군 ,慶原大君 ,1534 - 1567) พระราชโอรสของพระนางมุนจ็อง ตระกูลยุน แห่งพาพยอง
  • เจ้าชายพกซ็อง, อี มี (복성군 미 ,福城君 ,1509 - 1533) พระราชโอรสของพระสนมคยองบิน ตระกูลปาร์ค
  • เจ้าชายกึมวอน, อี ยอง (금원군 ,錦原君 ,1513 - 1562) พระราชโอรสของพระสนมฮีบิน ตระกูลฮง
  • เจ้าชายพงซอง, อี วาน (봉성군 ,鳳城君 ,1528 - 1547) พระราชโอรสของพระสนมฮีบิน ตระกูลฮง
  • เจ้าชายยองยาง, อี กอ (영양군 ,永陽君 ,1521 - 1561) พระราชโอรสของพระสนมชางบิน ตระกูลอัน แห่งอันซาน
  • เจ้าชายท็อกฮึง, อี โช (덕흥군 ,德興君 ,1530 - 1559) พระราชโอรสของพระสนมชางบิน ตระกูลอัน แห่งอันซาน
  • เจ้าชายไม่ปรากฏพระนาม (왕자 ,王子) พระราชโอรสของพระสนมควีอิน ตระกูลฮัน แห่งชองจู
  • เจ้าชายแฮอัน, อี ฮึย (해안군 ,海安君 ,1511 - 1573) พระราชโอรสของพระสนมซุกอึย ตระกูลฮง
  • เจ้าชายท็อกยาง, อี กี (덕양군 ,德陽君 ,1524 - 1581) พระราชโอรสของพระสนมซุกอึย ตระกูลลี

พระธิดา

  • เจ้าหญิงฮโยฮเย, อี อ๊คฮา (효혜공주 ,孝惠公主 ,1511 - 1531) พระราชธิดาของพระนางชังกย็อง ตระกูลยุน แห่งพาพยอง
  • เจ้าหญิงอึยฮเย, อี อ๊คฮเย (의혜공주 ,懿惠公主 ,1521 - 1564) พระราชธิดาของพระนางมุนจ็อง ตระกูลยุน แห่งพาพยอง
  • เจ้าหญิงฮโยซุน, อี อ๊ครยอน (효순공주 ,孝順公主 ,1522 - 1538) พระราชธิดาของพระนางมุนจ็อง ตระกูลยุน แห่งพาพยอง
  • เจ้าหญิงคยองฮยอน, อี อ๊คฮยอน (경현공주 ,敬顯公主 ,1530 - 1584) พระราชธิดาของพระนางมุนจ็อง ตระกูลยุน แห่งพาพยอง
  • เจ้าหญิงอินซุน (인순공주 ,仁順公主) พระราชธิดาของพระนางมุนจ็อง ตระกูลยุน แห่งพาพยอง
  • เจ้าหญิงฮเยซุน, อี ชอลฮวาน (혜순옹주 ,惠順翁主 ,1512 - 1583) พระราชธิดาของพระสนมคยองบิน ตระกูลปาร์ค
  • เจ้าหญิงฮเยจอง, อี ซ๊อกฮวาน (혜정옹주 ,惠靜翁主 ,1514 - 1580) พระราชธิดาของพระสนมคยองบิน ตระกูลปาร์ค
  • เจ้าหญิงจองซิน, อี ฮาคา (정신옹주 ,貞愼翁主 ,1526 - 1552) พระราชธิดาของพระสนมชางบิน ตระกูลอัน แห่งอันซาน
  • เจ้าหญิงซุกจอง, อี ซูฮวาน (숙정옹주 ,淑靜翁主) พระราชธิดาของพระสนมซุกอึย ตระกูลคิม
  • เจ้าหญิงจองซุน, อี จองฮวาน (정순옹주 ,貞順翁主 ,1517 - ?) พระราชธิดาของพระสนมซุกวอน ตระกูลลี
  • เจ้าหญิงฮโยจอง, อี ซุนฮวาน (효정옹주 ,孝靜翁主 ,1520 - 1544) พระราชธิดาของพระสนมซุกวอน ตระกูลลี

พงศาวลี

แก้

ดูเพิ่ม

แก้
ก่อนหน้า พระเจ้าชุงจง ถัดไป
เจ้าชายย็อนซัน   กษัตริย์แห่งโชซอน
(พ.ศ. 2049 - พ.ศ. 2087)
  พระเจ้าอินจงแห่งโชซอน

อ้างอิง

แก้
  1. http://www.koreanhistoryproject.org/Ket/C10/E1004.htm
  2. Jae Un-Kang, Jae Eun-Kang. The land of scholars: two thousand years of Korean Confucianism.
  3. http://www.koreanhistoryproject.org/Ket/C10/E1005.htm