พยาธิปากขอ (อังกฤษ: hookworm) เป็นพยาธิในลำไส้ กินเลือดเป็นอาหาร เป็นหนอนตัวกลมที่ทำให้เกิดการติดเชื้อชนิดที่เรียกว่า helminthiasis ซึ่งเป็นการติดเชื้อที่พบได้บ่อยในสถานที่ที่มีระบบประปาไม่สะอาด การสุขาภิบาลและสุขอนามัยไม่เพียงพอ[1] ในมนุษย์ โรคติดเชื้อจากพยาธิปากขอเกิดจากพยาธิตัวกลมสองชนิดหลักซึ่งอยู่ในสกุล Ancylostoma และ Necator ในสัตว์อื่น ๆ สปีชีส์ที่เป็นปรสิตอยู่ในสกุล Ancylostoma

พยาธิปากขอในสุนัข Ancylostoma caninum

ชนิด

แก้
 
ระยะลาร์วาของ N. Americanus ซึ่งสามารถก่อโรคได้

พยาธิปากขอที่ก่อโรคในมนุษย์ที่พบบ่อยสุดคือ Ancylostoma duodenale และ Necator americanus

พยาธิปากขอชนิดพบได้บ่อยในแมวบ้าน ได้แก่ Ancylostoma braziliense และ Ancylostoma tubaeforme สำหรับในแมวป่าคือ Ancylostoma pluridentatum

สุนัขมักติดเชื้อจาก Ancylostoma caninum

ลักษณะเฉพาะ

แก้

พยาธิปากขอสองชนิดที่ก่อโรคในมนุษย์มีสัณฐานที่คล้ายคลึงกัน A. duodenale มีสีเทาซีดหรือไปทางชมพู ส่วนหัวงอเล็กน้อยเมื่อเทียบกับส่วนที่เหลือของลำตัว ทำให้มีรูปร่างคล้ายตะขอ ส่วนหัวมีปากที่พัฒนามาเป็นอย่างดีและมีฟันสองคู่ ตัวผู้มีขนาดตั้งแต่ประมาณ 1 เซนติเมตรถึง 0.5 มิลลิเมตร ส่วนตัวเมียมักจะยาวและหนากว่า ตัวผู้ยังมี copulatory bursa ที่โดดเด่นทางส่วนท้ายของลำตัว[2]

N. Americanus โดยทั่วไปมีขนาดเล็กกว่า A. duodenale โดยตัวผู้ยาว 5 ถึง 9 มม. และตัวเมียยาวประมาณ 1 ซม. ปากของ N. Americanus มีวิวัฒนาการสูงกว่าและมีแผ่นตัดหนึ่งคู่ใน buccal capsule แทนที่จะเป็นฟันสองคู่เช่นใน A. duodenale[2]

วงจรชีวิต

แก้
 
วงจรชีวิตของพยาธิปากขอ

โฮสต์ติดเชื้อจากตัวอ่อนทางผิวหนัง ตัวอ่อนของพยาธิปากขอต้องการดินที่อบอุ่น (สูงกว่า 18 ° C ในการฟักตัว) และมีความชื้น พยาธิปากขอตายได้ถ้าโดนแสงแดดโดยตรงหรือตัวแห้ง ตัวอ่อนของ Necator สามารถอยู่รอดได้ในอุณหภูมิที่สูงกว่าตัวอ่อนของ Ancylostoma

ตัวอ่อนระยะแรก (First stage larvae, L1) ไม่สามารถก่อโรคได้ เมื่อฟักเป็นตัวจากในอุจจาระที่ถูกขับออกจะกินจุลินทรีย์ในดินจนกว่าจะลอกคราบเป็นตัวอ่อนระยะที่สอง (L2)[3] ตัวอ่อนระยะแรกและระยะที่สองจัดอยู่ในระยะ rhabditiform หลังจากอยู่ในระยะที่สองประมาณ 7 วันจะลอกคราบเป็นตัวอ่อนระยะที่สาม (L3) เรียกว่าระยะฟิลาริฟอร์ม (filariform stage) ซึ่งเป็นระยะติดต่อ (infective stage) ที่พยาธิจะไม่กินอาหาร ตัวอ่อนระยะฟิลาริฟอร์มสามารถอยู่รอดได้นานถึงสองสัปดาห์ มีการเคลื่อนไหวดีมากและจะย้ายไปอยู่บนที่สูง (เช่นใบหญ้า) เพื่อเพิ่มโอกาสในการหาโฮสต์ ตัวอ่อนของ N. Americanus สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางผิวหนังเท่านั้น แต่ A. duodenale สามารถเข้าสู่ร่างกายทางปากได้ เส้นทาง (route) ทั่วไปที่ตัวอ่อนเข้าสู่ร่างกายคือผิวหนังของผู้ที่เดินเท้าเปล่า เมื่อตัวอ่อนเข้าสู่โฮสต์แล้วจะเดินทางจาก ระบบไหลเวียนไปยังปอดที่ซึ่งพยาธิจะออกจากเวนูลและเข้าสู่อัลวิโอไล จากนั้นจึงเดินทางไปที่หลอดลม เมื่อเกิดการไอ พยาธิจะเดินทางผ่านสู่หลอดอาหารและเข้าสู่ลำไส้เล็ก ที่ซึ่งตัวอ่อนลอกคราบเข้าสู่ระยะที่สี่ (L4) ใช้เวลาประมาณห้าถึงเก้าสัปดาห์นับตั้งแต่เข้าสู่ร่างกาย[4][5]

Necator americanus สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อยาวนาน (prolonged infection) ตั้งแต่หนึ่งถึงห้าปี โดยหนอนจำนวนมากตายตั้งแต่ปีแรกหรือปีที่สอง มีบันทึกว่าหนอนบางตัวมีชีวิตอยู่เป็นเวลาสิบห้าปีหรือมากกว่า Ancyclostoma duodenale มีอายุขัยประมาณหกเดือน อย่างไรก็ตามตัวอ่อนสามารถอยู่ในระยะพักตัวในเนื้อเยื่อและมีการฟื้นฟูตัวเองตลอดช่วงหลายปีเพื่อทดแทนพยาธิที่ตายไป

พยาธิปากขอผสมพันธุ์ภายในโฮสต์และตัวเมียจะวางไข่เพื่อส่งออกไปในอุจจาระของโฮสต์ซึ่งจะถูกขับออกสู่สิ่งแวดล้อมเพื่อเริ่มวงจรชีวิตอีกครั้ง N. Americanus สามารถวางไข่ได้ระหว่างเก้าพันถึงหนึ่งหมื่นฟองต่อวัน และ A. duodenale ระหว่างสองหมื่นห้าพันถึงสามหมื่นฟองต่อวัน ไข่ของทั้งสองสปีชีส์มีลักษณะคล้ายกันมากจนไม่สามารถจำแนกได้

พยาธิปากขอใช้เวลาห้าถึงเจ็ดสัปดาห์ในการเจริญเติบโต อาการของการติดเชื้อจึงปรากฏ จากนั้นจะพบไข่ของพยาธิในอุจจาระ ระยะเวลาและอาการที่ค่อย ๆ ปรากฏทำให้วินิจฉัยการติดเชื้อพยาธิปากขอได้ยาก

อ้างอิง

แก้
  1. Loukas, A.; Hotez, P.J.; Diemert, D.; Yazdanbakhsh, M.; McCarthy, J. S. (December 2016). "Hookworm infection". Nat Rev Dis Primers. 2: 10688. doi:10.1038/nrdp.2016.88. PMID 27929101.
  2. 2.0 2.1 Markell, Edward K.; John, David C.; Petri, William H. (2006). Markell and Voge's medical parasitology (9th ed.). St. Louis, Mo: Elsevier Saunders. ISBN 978-0-7216-4793-7.
  3. "Ancylostoma duodenale". Animal Diversity Web (ภาษาอังกฤษ).
  4. Hotez, PJ; Bethony, J; Bottazzi, ME; Brooker, S; Buss, P (March 2005). "Hookworm: "the great infection of mankind"". PLoS Medicine. 2 (3): e67. doi:10.1371/journal.pmed.0020067. PMC 1069663. PMID 15783256.
  5. "CDC Factsheet: Hookworm" เก็บถาวร 2010-09-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน