ผีเสื้อ (แมลง)
ผีเสื้อ ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: Early Jurassic–present, 200–0Ma | |
---|---|
ผีเสื้อนกยูง (Aglais io) | |
มอดสฟิงซ์ (Adhemarius gannascus) | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
หมวด: | Rhopalocera |
ไฟลัม: | Arthropoda |
ชั้น: | Insecta |
อันดับ: | Lepidoptera Linnaeus, 1758 |
อันดับย่อย | |
ผีเสื้อ (อังกฤษ: Butterfly) เป็นแมลงทุกชนิดในอันดับเลพิดอปเทรา (Lepidoptera) มีวงชีวิตเริ่มแรกตั้งแต่ระยะไข่ ระยะหนอน ระยะดักแด้ ตราบจนระยะการเปลี่ยนสัณฐานเข้าสู่ระยะการโตเต็มวัยที่มีปีกหลากสีต้องตาผู้คน ในทางกีฏวิทยาการจัดจำแนกแมลงกลุ่มนี้จะใช้เส้นปีกในการจัดจำแนก
การตายและการกระจายพันธุ์ของผีเสื้อ
แก้นักวิทยาศาสตร์คาดว่าผีเสื้ออาจมีต้นกำเนิดแต่ยุคครีเทเชียส (Cretaceous Period) ซึ่งยุติเมื่อกว่า 65 ล้านปีก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ในตระกูลผีเสื้อมีน้อยมาก จึงทำให้การคะเนเกี่ยวกับต้นกำเนิดผีเสื้อเป็นไปได้ไม่สะดวกนัก โดยซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ดังกล่าวที่มีอายุมากที่สุดคือซากนิรนามของสัตว์สคิปเพอร์ (Skipper, Thymelicus lineola) อายุราวสมัยพาเลโอซีน (Paleocence Epoch, ประมาณ 57 ล้านปีก่อน) พบที่เมืองเฟอร์ (Fur) ราชอาณาจักรเดนมาร์ก และซากดึกดำบรรพ์ประเภทอำพันแห่งโดมินิกัน (Dominican amber) ของผีเสื้อเมทัลมาร์ก (Metalmark, Voltinia dramba) อายุยี่สิบห้าล้านปี
ปัจจุบันโดยปรกติวิสัยผีเสื้อกระจายพันธุ์ทั่วไปในภูมิประเทศหนาวเย็นและแห้งแล้ง มีการประมาณว่าขณะนี้มีผีเสื้อในมหาวงศ์ (Superfamily) พาพิลิโอโนอิเดีย (Papilionoidea) กว่า 17,500 ชนิด (species) และมหาวงศ์เลพิดอปเทรา (Lepidoptera) กว่า 180,000 ชนิด
การจำแนก
แก้ปัจจุบันมีการจำแนกผีเสื้อออกเป็นสามมหาวงศ์ (Superfamily) คือ 1. เฮดิโลอิเดีย (Hedyloidea) 2. เฮสเพอริโออิเดีย (Hesperioidea) และ 3. พาพิลิโอโนอิเดีย (Papilionoidea) และนอกจากนี้ยังมีการจำแนกซึ่งเป็นที่นิยมอยู่อีกสองแบบ ดังต่อไปนี้
แบบอนุกรมวิธานพืช
แก้การศึกษาว่าด้วยโครงสร้างและโมเลกุลทางพฤกษศาสตร์และสัตวศาสตร์ตามอนุกรมวิธาน (Taxonomic) ได้มีกำหนดมหาวงศ์เพิ่มเติมนอกจากข้างต้น เช่น ดาเนเด (Danaidae) เฮลิโคนีเด (Heliconiidae) ลิบีเทเด (Libytheidae) และ แซไทริเด (Satyridae) เป็นต้น
กลุ่มผีเสื้อกลางวันและกลุ่มผีเสื้อกลางคืน
แก้การจำแนกผีเสื้อแบบแยกสองแฉก (dichotomous classification) เป็นกลุ่มผีเสื้อกลางวัน (butterfly) และกลุ่มผีเสื้อกลางคืน (moth) เป็นอีกวิธีในการจำแนกผีเสื้อที่นิยมมากนอกเหนือจากแบบอนุกรมวิธานพืช การจำแนกประเภทเป็นกลุ่มทั้งสองดังกล่าวนั้นกระทำได้โดยการสังเกตลักษณ์จำเพาะของผีเสื้อ
โดยผีเสื้อส่วนใหญ่เป็นผีเสื้อกลางคืน ผีเสื้อกลางวันมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นของบรรดาผีเสื้อทั้งหมด (ประมาณ 20,000 ชนิด)
วงจรชีวิต
แก้การเจริญเติบโตของผีเสื้อแตกต่างจากบรรดาแมลงชนิดอื่นทั้งหลาย โดยปรากฏเป็นจตุวัฏจักร ดังนี้ คือ
- ระยะไข่ (Egg Stage)
- ระยะหนอนหรือบุ้ง (Caterpillar Stage หรือ Larva Stage)
- ระยะดักแด้ (Pupa Stage หรือ Chrysalis Stage)
- ระยะเจริญวัย (Adult Butterfly Stage หรือ Imago Stage)
อนึ่ง มีความเชื่ออย่างแพร่หลายว่าผีเสื้อมีวงจรชีวิตสั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ผีเสื้อบางพันธุ์อาจมีอายุเพียงหนึ่งสัปดาห์ ในขณะที่บางพันธุ์มีอายุยืนถึงหนึ่งปี โดยส่วนใหญ่จะมีอายุยาวนานในระยะบุ้ง ในขณะที่แมลงชนิดอื่นอาจหยุดการเจริญเติบโตได้ในระยะไข่หรือระยะดักแด้แล้วจึงดำเนินชีวิตต่อไปในฤดูหนาว
ระยะไข่
แก้ไข่ของผีเสื้อมีลักษณะของขนาด รูปร่าง สีสัน และลวดลายแตกต่างกันไป โดยขนาดของไข่นั้นจะเล็กมาก ดังนั้นจำเป็นต้องอาศัยกล้องจุลทรรศน์ในการศึกษาไข่ของผีเสื้อ เปลือกไข่ประกอบด้วยสารไคติน ที่เป็นสารชนิดเดียวกับเปลือกลำตัวของผีเสื้อและแมลงชนิดอื่นๆ และเมื่อมองผ่านกล้องจุลทรรศน์จะพบรูเปิดเล็กๆ เรียกว่า ไมโครพายล์ (micropyle) เป็นรูที่ทำให้น้ำเชื้อตัวผู้เข้าไปผสมกับไข่ของตัวเมีย
ระยะหนอน
แก้ระยะที่คนเราเรียกว่า หนอน มีหลากหลายสี หลังจากตัวหนอนฟักออกจากไข่แล้ว ตัวหนอนมีลักษณะที่แตกต่างกัน อาหารอย่างแรกที่ตัวหนอนกินคือ เปลือกไข่ของตัวเอง หลังจากนั้นตัวหนอนจึงเริ่มกินใบพืช โดยเริ่มที่ใบอ่อนก่อน ซึ่งลักษณะการกินของตัวหนอนจะเริ่มจากขอบใบเข้าหากลางใบ และจะมีการลอกคราบเพื่อขยายขนาด 4-5 ครั้ง โดยตลอดระยะเวลาที่เป็นตัวหนอนนี้ มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น นอกจากขนาดที่ใหญ่ขึ้นแล้ว บางชนิดสีสันและรูปร่างก็แตกต่างกันไปด้วย เช่น หนอนผีเสื้อหางติ่ง หนอนมะนาว ในระยะแรกๆ สีสันก็เหมือนมูลนก แต่เมื่อตัวหนอนโตขึ้นสีสันจะเปลี่ยนไป เป็นสีเขียวมีลวดลายคล้ายตาที่ส่วนอกด้วย เป็นต้น แต่ทั้งหมดมีสิ่งหนึ่งซึ่งทำให้สามารถจำแนกว่าเป็นตัวหนอนผีเสื้อได้คือ ตัวหนอนมีขาจริง 3 คู่ที่ส่วนอก และขาเทียม 4-5 คู่ที่ส่วนท้อง ตัวหนอนทั่วไปมักหากินเดี่ยวๆ แต่ก็มีบางชนิดทีระยะแรกๆ หากินกันเป็นกลุ่ม ในระยะนี้ใช้เวลาทั้งสิ้น 15 วัน แมลงที่ลงทำลายพืชผลทางการเกษตรก็จะเป็นวัยนี้เกือบทั้งสิ้น
ระยะดักแด้
แก้เมื่อตัวหนอนโตเต็มที่จะต้องมองหาสิ่งที่ที่จะลอกคราบเพื่อเข้าดักแด้ ซึ่งจะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้แต่ภายในเปลือกดักแด้ การพัฒนาต่างๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา เป็นระยะที่มีการสะสมอาหารไว้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นที่ดึงดูดบรรดาตัวเบียนต่างๆ ตัวหนอนของผีเสื้อแต่ละชนิดจะเลือกที่เข้าดักแด้ต่างกันไป ระยะดักแด้ใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน
ระยะเจริญวัย
แก้ระยะเจริญวัยคือผีเสื้อที่มีสีสันสวยงาม เริ่มต้นนับตั้งแต่ออกจากดักแด้ โดยผีเสื้อใช่ขาดันเปลือกดักแด้ให้ปริแตกออก และผีเสื้อที่มีปีกยับยู่ยี่จะออกมา ในลักษณะห้อยหัวลงพร้อมถ่ายของเสียที่เป็นสีชมพูออกมา ในระยะแรกปีกของผีเสื้อยังไม่สามารถแผ่ได้ จำเป็นต้องมีการปั้มของเหลวเรียกว่า ฮีโมลิมพ์ เข้าไปในเส้นปีก และต้องใช้เวลา 1 ชั่วโมงในการทำให้ปีกแข็งพอที่จะใช้ในการบิน ผีเสื้อสามารถอยู่ได้ 2-3 วัน บางชนิดอยู่ได้ 1-2 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับชนิดและแต่ละช่วงอายุขัย
ผีเสื้อในวัฒนธรรม
แก้มนุษย์มีความผูกพันกับผีเสื้อมาเป็นระยะเวลาช้านาน ในวัฒนธรรมของหลายชนชาติ ผีเสื้อถูกเชื่อและอ้างอิงถึงต่าง ๆ เช่น ชาวจีนและชาวญี่ปุ่นเชื่อว่า ผีเสื้อ คือ วิญญาณของผู้ตาย ที่มาสื่อสารบางอย่างแก่ผู้ที่ยังผูกพัน เช่น คนรัก หรือคนในครอบครัว มีบทกวีไฮกุบทหนึ่งที่กล่าวว่า "ข้าพเจ้าเห็นดอกไม้ลอยกลับเข้าหาต้น แท้ที่จริงแล้วเป็นผีเสื้อตัวหนึ่ง" นอกจากนี้แล้วยังมีนิทานพื้นบ้านของจีน ที่กล่าวถึง ชายหนุ่มผู้หนึ่งที่มีนางไม้คู่แฝดมาหลงรักเขา โดยนางทั้งสองจะแวะเวียนมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับผีเสื้อให้ฟังอยู่เสมอ ๆ [1]
ในอดีต มนุษย์ไม่เคยทราบมาก่อนด้วยซ้ำว่าผีเสื้อมีที่มาจากหนอน โดยเชื่อว่าหนอนมาจากน้ำค้างที่เกาะอยู่ตามใบไม้ โดยความจริงแล้วหยดน้ำค้างนั้นคือไข่ของผีเสื้อนั่นเอง
นอกจากนี้แล้วในวัฒนธรรมร่วมสมัย ผีเสื้อยังมักถูกใช้เป็นรอยสักตามร่างกายส่วนต่าง ๆ ของมนุษย์[2] ในดนตรีร็อกแนวเฮฟวี่เมทัลของไทย ของวงไฮ-ร็อก มีเพลง เมืองผีเสื้อ ที่กล่าวถึง มวลผีเสื้อที่อารักขาดอกไม้สร้างความสวยงามให้แก่เมือง แต่แล้วถึงวันหนึ่งก็ต้องล่มลายลง และการกระพือปีกของผีเสื้อ ยังถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ที่นำไปสู่การตั้งทฤษฎีผีเสื้อกระพือปีก หรือทฤษฎีเคออสอีกด้วย[3]
ชนิดของผีเสื้อในประเทศไทย
แก้ประเทศไทยยังไม่สามารถระบุจำนวนชนิดของผีเสื้อได้อย่างแน่นอน แต่คาดว่ามีไม่น้อยกว่า 1,300 ชนิด โดยแบ่งออกได้เป็น 5 วงศ์
- วงศ์ผีเสื้อหางติ่ง (Papilionidae) พบไม่น้อยกว่า 64 ชนิด แบ่งออกได้เป็น 2 วงศ์ย่อย
- วงศ์ผีเสื้อหนอนกะหล่ำ (Pieridae) พบไม่น้อยกว่า 58 ชนิด แบ่งออกได้เป็น 2 วงศ์ย่อย
- วงศ์ผีเสื้อขาหน้าคู่ (Nymphalidae) พบไม่น้อยกว่า 367 ชนิด แบ่งออกได้เป็น 11 วงศ์ย่อย
- วงศ์ผีเสื้อสีน้ำเงิน (Lycaenidae) พบไม่น้อยกว่า 369 ชนิด แบ่งออกได้เป็น 8 วงศ์ย่อย
- วงศ์ผีเสื้อบินเร็ว (Hesperiidae) พบไม่น้อยกว่า 273 ชนิด แบ่งออกได้เป็น 3 วงศ์ย่อย
รูปภาพ
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ แล็ฟคาดิโอ เฮิร์น, ผีเสื้อ เรื่องผีผี แปลโดย ปาริฉัตร เสมอแข, ผุสดี นาวาวิจิต, สำนักพิมพ์ผีเสือ (กรุงเทพมหานคร, พ.ศ. 2543) ISBN 974-14-0143-4
- ↑ โลกของผีเสื้อ, รายการท่องโลกกว้าง ทางไทยพีบีเอส: วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554
- ↑ ""เอ็ดวาร์ด ลอเรนซ์" ผู้ให้กำเนิดทฤษฎี "ผีเสื้อกระพือปีก" เสียชีวิตแล้ว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-12-24. สืบค้นเมื่อ 2012-01-17.