ประนอม ทาแปง
บทความนี้หรือส่วนนี้ของบทความต้องการปรับรูปแบบ ซึ่งอาจหมายถึง ต้องการจัดรูปแบบข้อความ จัดหน้า แบ่งหัวข้อ จัดลิงก์ภายใน และ/หรือการจัดระเบียบอื่น ๆ คุณสามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้โดยการกดที่ปุ่ม แก้ไข ด้านบน จากนั้นปรับปรุงหรือจัดรูปแบบอื่น ๆ ในบทความให้เหมาะสม |
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ประนอม ทาแปง ศิลปินแห่งชาติ สาขาประณีตศิลป์-ศิลปะการทอผ้า พ.ศ. 2553 และวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดงานพิธีเปิดบ้านศิลปินแห่งชาติ ครูประนอม ทาแปง นับเป็นบ้านหลังที่ 16 ของโครงการเปิดบ้านศิลปินแห่งชาติ
ประนอม ทาแปง | |
---|---|
สารนิเทศภูมิหลัง | |
เกิด | 1 สิงหาคม พ.ศ. 2497 ประนอม ทาแปง |
อาชีพ | ศิลปินแห่งชาติ ครู |
ศิลปินแห่งชาติ | พ.ศ. 2553 - สาขาประณีตศิลป์-ศิลปะการทอผ้า |
ประวัติ
แก้ประนอม ทาแปง เกิดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2497 ณ บ้านนามน ตำบลหัวทุ่ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้อง 4 คน ของนายพัน ทาแปง และนางแก้วมูล ทาแปง สมรสแล้ว มีบุตรชื่อ นายสุทธิพจน์ อดทา
การศึกษา
แก้นางประนอม ทาแปง เป็นผู้สนใจใฝ่ศึกษาตั้งแต่ยังเยาว์วัย เริ่มเรียนรู้การปั่นเส้นฝ้าย ทอผ้าไว้ใช้ในครัวเรือนโดยรับการถ่ายทอดจากครูคนแรก คือ แม่แก้วมูล ผู้เป็นมารดา ตั้งแต่นางประนอมอายุเพียง 12 ปี นอกจากนั้น ยังได้เรียนรู้การทอผ้าตีนจกโบราณเมืองลอง จากนางบุญยวง อุปถัมภ์ ผู้เป็นป้าซึ่งนางประนอม ทาแปง เคารพเป็นครูคนที่สองผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ ด้านการศึกษาระดับประถมศึกษาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนประจำหมู่บ้าน แต่ด้วยปัญหาสุขภาพและฐานะทางบ้านที่ยากจนทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเรียน จึงต้องหยุดเรียนหนังสือเมื่อเรียนจบเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แต่เมื่อมีโอกาสที่เอื้ออำนวยประนอมก็พากเพียร ใฝ่เรียนรู้ ทั้งในระบบการศึกษานอกโรงเรียน การศึกษาผู้ใหญ่และการศึกษาตามอัธยาศัย นางประนอม ทาแปง ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณรับเป็นนักเรียนศิลปาชีพในพระบรมราชินูปถัมป์ ทำให้ได้รับการศึกษาศิลปะเชิงช่างทอ ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นยังคงพากเพียรกับการเรียนการศึกษาจนกระทั่งจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษา โดยได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาพัฒนาชุมชน จากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ และจากผลงานความสำเร็จในการสร้างสรรค์ผ้าทอตีนจกที่งดงามยอดเยี่ยมในเชิงช่างศิลป์และความสำเร็จในด้านหน้าที่การงาน ทำให้นางประนอม ทาแปง ได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (คหกรรมศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหงในปี พ.ศ. 2546
การทำงาน
แก้การทอผ้า
แก้หลังจเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนบ้านไผ่ล้อม (นามนวิทยาคาร) ก็ไม่ได้เข้าเรียนต่อในชั้นสูงขึ้นอีก เนื่องจากฐานะทางบ้านขาดแคลน จึงไปทำงานหลายแห่ง และได้กลับมาช่วยพ่อแม่ทำนาทำสวน เวลาว่าง ก็ค้าขาย และฝึกทอผ้าจากป้าจนสามารถทอได้ดีและจำหน่ายได้
เมื่อคราวสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จมาพระราชทานธงประจำรุ่นแก่ลูกเสือชาวบ้าน จังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2522 นางประนอม ทาแปง ได้นำ ผ้าทอตีนจกทูลเกล้าฯ ถวาย หลังจากนั้น วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 คณะผู้แทนพระองค์ ได้เดินทางมาพบนางประนอม ทาแปง มอบทุนดำเนินการให้จำนวน 2,000 บาท ต่อมาหน่วยราชการแผนกพัฒนาชุมชนอำเภอลองและคณะกรรมการหมู่บ้าน ได้จัดตั้งกลุ่มสตรีทอผ้าซิ่นขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2532 มีสมาชิกครั้งแรก 15 คน เรียกว่า สมาชิกสตรีกลุ่มแม่บ้านนามน จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายในปัจจุบัน[1]
การสร้างสรรค์ผลงาน
แก้ประนอม ทาแปง เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้การทอผ้าตีนจกให้แก่สมาชิกของกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านนามน จนสมาชิกเพิ่มจำนวนมากขึ้นและขยายไปยังหมู่บ้านและต่างอำเภอใกล้เคียง ตั้งแต่อำเภอเด่นชัย วังชิ้น เมืองแพร่ ขณะนั้นมีจำนวนสมาชิกมากกว่า 2,000 คน นอกจากนี้ นางประนอม ทาแปง ยังได้รับเลือกให้เป็นนักเรียนศิลปาชีพและได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติม ที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ถึง 3 ครั้ง คือในปี พ.ศ. 2527 , 2529 และ 2531 ตามลำดับ จึงทำให้มีความรู้ความสามารถในการทอผ้ามากขึ้น
จากผลการสร้างสรรค์ผ้าทอตีนจกอย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป โดยเฉพาะในวงการงานศิลปหัตถกรรม ทำให้ประนอม ทาแปงและกลุ่มทอผ้าได้รับโอกาสให้นำเสนอเผยแพร่ผลงานผลิตภัณฑ์ต่อสาธารณชนทั้งในประเทศและต่างประเทศอยู่เสมอ ทั้งในรูปแบบของการออกร้าน การสาธิต การแสดงผลงานเชิงนิทรรศการ อาทิเช่น งานศิลปาชีพบางไทร ณ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา งานตรานกยูงพระราชทานสืบสานตำนานไหมไทย นิทรรศการวันนักประดิษฐ์ โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ งานแสดงสินค้าระดับชาติ เช่น งานหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ งานของขวัญของที่ระลึกกรุงเทพ (BIG&BIH) งานประชุมวิชาการของมหาวิทยาลัย กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ งานวัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน เช่น งานนิทรรศการผ้าฝ้ายแกมไหม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น
สำหรับการเผยแพร่แสดงผลงานในต่างประเทศนั้น ประนอม ทาแปง ได้รับเกียรติให้นำผลงานไปนำเสนอในรูปแบบการจัดนิทรรศการผ้าทอที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และจีน นอกจากนั้นยังได้รับเชิญให้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น เป็นต้น [2]
กิจสาธารณะ
แก้- เป็นวิทยากรฝึกสอนย้อมสีธรรมชาติแก่เครือข่ายผู้ผลิตสินค้าหัตถกรรม หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ภาคเหนือตอนบนและตอนล่างทั้ง 17 จังหวัด
- เป็นวิทยากรถ่ายทอดการทอผ้า การย้อมสีธรรมชาติที่กลุ่มทอผ้าบ้านไผ่ล้อมและต่างจังหวัด แก่หน่วยงานต่างๆ และกลุ่มเครือข่ายสิ่งทอในพื้นที่ภาคเหนือ
- เป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์และคิดค้นวิธีการเกี่ยวกับการทอผ้าตีนจกของอำเภอลอง มีการประยุกต์ใช้วัสดุในท้องถิ่นในการย้อมสี เป็นบุคคลตัวอย่างของหมู่บ้านนามน ตำบลหัวทุ่ง ผลผลิต (ผ้าตีนจก) ขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ โดยทั่วไปอย่างกว้างขวาง
- เป็นผู้ฝึกสอน วิทยากร ในเรื่องการทอผ้าตีนจกให้แก่ชุมชนต่างๆ รวมทั้งได้รับเชิญจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดแพร่ ให้เป็นผู้บรรยายพิเศษเกี่ยวกับอาชีพ ที่ทำให้ตนเองประสบผลสำเร็จจากผู้ที่มีฐานะความเป็นอยู่ยากจน จนกระทั่งมีความมั่นคงในปัจจุบัน หรือเป็นคนที่มีฐานะค่อนข้างดีมากในชุมชน
- เป็นประธานกลุ่มอาชีพทอผ้าบ้านนามน ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มสนับสนุนแก่กลุ่มต่างๆ ของหมู่บ้าน ตำบล ที่กรมการพัฒนาชุมชนได้ส่งเสริมสนับสนุนงบประมาณในด้านอาชีพสตรี ด้านการทอผ้าตีนจก
- เป็นแหล่งอ้างอิง ผู้ให้ข้อมูลและสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการศึกษาและวิจัยของนักเรียน นักศึกษาทุกระดับชั้น ของหน่วยงานสถาบันวิจัย สถาบันการศึกษาต่างๆ
- เป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมบุญจุลกฐินขึ้นในปี พ.ศ. 2551 และตั้งใจที่จะจัดงานบุญจุลกฐินต่อเนื่องไปทุกปี เพื่อให้งานบุญเป็นสื่อนำให้เยาวชน ช่างทอผ้า และประชาชนในชุมชนเกิดการเรียนรู้กระบวนการทอผ้า
ผลงาน
แก้- ผ้าซิ่นจกไหมดิ้นทองลายภูพิงค์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทผ้าไหมสุดยอดผ้าไทย พ.ศ. 2530 ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์
- ผ้าซิ่นตีนจกลายหงส์คู่ รางวัลชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทผ้าตีนจก ในการประกวดผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทย ผ้าทอมือ ประจำปี 2531 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
- ผ้าซิ่นต๋าหมู่เหลืองต่อจกเชิงดำแดง ลายสำเภาลอยน้ำ รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวดผลิตภัณฑ์ผ้าซิ่นเชิงจก งานฤดูหนาวและกาชาด จังหวัดแพร่ ประจำปี 2532
- ผ้าซิ่นจกเต็มตัวฝ้ายปั่นมือย้อมสีธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมดีเด่น งานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมไทย พ.ศ. 2533 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม
- ผ้าซิ่นจกไหมเต็มตัวลายขอผักกูด ลายงูห้อยส้าว รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ ประเภทผ้าไหมลายพื้นบ้าน งานศิลปาชีพบางไทร ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 31 มกราคม- 9 กุมภาพันธ์ 2535
- ผ้าซิ่นต๋าหมู่เหลืองต่อตีนจกเชิงดำแดง รางวัลพระราชทานดีเด่น การประกวดผ้าประเภทที่ 2 ตีนจก วันที่ 12 สิงหาคม 2536 สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
- ผ้าซิ่นตีนจกลายหน้าหมอน รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ประเภทผ้าฝ้ายลายตีนจก ขนาด 50 ซม. งานศิลปาชีพบางไทร ครั้งที่ 10 วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2537
- ผ้าซิ่นจกไหมเต็มตัวลายนกกินน้ำร่วมต้น รางวัลชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทผ้าฝ้ายลายตีนจก ขนาด 50 ซม. การประกวดผ้าผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทย งานศิลปาชีพบางไทร ครั้งที่ 10 วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537
- ผ้าซิ่นตีนจกลายคะฉิ่น รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวดผลิตภัณฑ์หัตถกรรม ผ้าฝ้ายลายพื้นบ้านพระราชทานจากสมเด็จพระราชินีนาถ ณ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร งานศิลปาชีพบางไทร ครั้งที่ 11 วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538
- ผ้าซิ่นจกเต็มตัวลายขอหักใหญ่ รางวัลชนะเลิศ ประเภทผลิตภัณฑ์จากผ้าทอลายพื้นบ้าน การประกวดผลิตภัณฑ์หัตถกรรม งานศิลปาชีพบางไทร ครั้งที่ 12 วันที่ 31 มกราคม -9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540
- ผ้าซิ่นดอกมุกเมืองลองต่อจก ลายนกแยงเงา (นกส่องกระจก) รางวัลชนะเลิศ การประกวดผลิตภัณฑ์หัตถกรรม ประเภทผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้ายทอลายพื้นบ้าน งานศิลปาชีพบางไทร ครั้งที่ 12 วันที่ 31 มกราคม - 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540
- ผ้าซิ่นตีนจกลายขอหักใหญ่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทผ้าฝ้ายทอพื้นเมือง งานศิลปาชีพบางไทร ครั้งที่ 13 วันที่ 28 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541
- ผ้าซิ่นต๋าหมู่เหลืองต่อจกเชิงดำแดงลายนกแยงเงา (นกส่องกระจก) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทผ้าซิ่นตีนจก การประกวดศิลปาชีพ งานศิลปาชีพบางไทร ครั้งที่ 15 วันที่ 6-16 เมษายน 2543
- ผ้าซิ่นปาเกอญอ รางวัลชนะเลิศ การประกวดผ้าทอลายโบราณ เนื่องในวโรกาสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงงาน ณ ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษห้วยเดื่อ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อปี พ.ศ. 2543
- ผ้าฝ้ายลายตีนจก รางวัลที่ 2 การประกวดผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทย ประเภทผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อปี พ.ศ. 2544
- ผ้าซิ่นตีนจกเต็มตัวลายแมงโบ้งเลน รางวัลชนะเลิศ ประเภทผ้าทอ จากการประกวดผลิตภัณฑ์โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) 17 จังหวัด ภาคเหนือ วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2545
- ผ้าซิ่นจกเต็มตัวลายโบราณขอครึ่ง รางวัลชนะเลิศ การประกวดผลิตภัณฑ์หัตถกรรม ประเภทผ้าฝ้าย งานศิลปาชีพบางไทร ครั้งที่ 19 ณ วันที่ 21-15 มกราคม 2547
- ผ้าฝ้ายลายตีนจก รางวัลผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมดีเด่น ประเภทผ้าพื้นเมืองและผลิตภัณฑ์จากผ้าพื้นเมือง สำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดแพร่ เมื่อปี พ.ศ. 2550
ความสำเร็จสูงสุดของชีวิตการทำงาน[3]
เกียรติคุณที่ได้รับ
แก้- พ.ศ. 2537 ได้รับเกียรติคุณในฐานะผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์ (ศิลปหัตถกรรมเครื่องถักทอ)
- พ.ศ. 2538 ได้รับการยกย่องเป็นคนดีศรีเมืองลอง ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการวัดท่าซุงให้เป็นผู้ทอผ้าทองคำลายบัวหงาย เพื่อใช้เป็นผ้าคลุมร่างหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี
- พ.ศ. 2540 ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
- พ.ศ. 2540 ได้รับคัดเลือกให้เป็นรองประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอลอง
- พ.ศ. 2542 ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 1 ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม (ทอผ้า) ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
- พ.ศ. 2542 ได้รับรางวัลผู้นำอาชีพก้าวหน้า กระทรวงมหาดไทย
- พ.ศ. 2546 ได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (คหกรรมศาสตร์)มหาวิทยาลัยรามคำแหง และได้รับรางวัลผู้นำอาชีพก้าวหน้าดีเด่นด้านวัฒนธรรม ได้รางวัลผู้หญิงเก่งระดับจังหวัด
- พ.ศ. 2547 ได้รับพระราชทานเหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 3
- พ.ศ. 2551 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ชั้นที่ 7 เหรียญเงินดิเรกคุณาภรณ์
- พ.ศ. 2553 ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ – ศิลปะผ้าทอ) พุทธศักราช 2553
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2554 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)[4]
- พ.ศ. 2547 – เหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 3 (เหรียญทองแดง)
อ้างอิง
แก้- ↑ สตรีศรีล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ↑ ประนอม ทาแปง ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2553
- ↑ ประวัติชีวิตและผลงาน นางประนอม ทาแปง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ – ศิลปะผ้าทอ)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๕๔ เก็บถาวร 2022-06-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๒๔ ข หน้า ๑๑๗, ๒ ธันวาคม ๒๕๕๔