การประกันภัย
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
การประกันภัย คือ การบริหารความเสี่ยงภัยวิธีหนึ่ง ซึ่งจะโอนความเสี่ยงภัยของผู้เอาประกันภัยไปสู่บริษัทประกันภัย เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่ได้รับความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องเสียเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันภัยตามที่ได้ตกลงกันไว้
การประกัน (Insurance) คือการบริหารจัดการความเสี่ยงรูปแบบหนึ่ง โดยมีองค์ประกอบสามส่วน
- ผู้รับประกัน (Insurer)
- ผู้เอาประกัน (Insured) หรือผู้ถือกรมธรรม์ (Policy Holder)
- ผู้รับผลประโยชน์ (Beneficiary)
การประกันจักต้องผ่านกระบวนการพิจารณารับประกัน (Underwriting) เพื่อผู้รับประกันจักประเมินความเสี่ยงล่วงหน้าของ บุคคล, กลุ่มบุคคล หรือ ทรัพย์สิน นั้นๆ พร้อมกำหนด รายละเอียดความคุ้มครอง และค่าเบี้ยประกัน ผู้รับประกันอาจรับประกัน โดยแบ่งความเสี่ยงมาส่วนหนึ่ง หรือ ปฏิเสธ หากความเสี่ยงนั้นไม่อาจรับได้ หรือ ผู้รับประกันอาจรับประกันโดยเพิ่มอัตราเบี้ยพิเศษ เพื่อให้สามารถครอบคลุมความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
การทำประกัน เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยคู่สัญญาต่างมีหน้าที่ ที่ต้องรับผิดชอบต่อกัน ผู้รับประกันจักต้องคุ้มครองผู้เอาประกันตามรายละเอียดในสัญญาเมื่อมีความสูญเสีย เสียหายเกิดขึ้น โดยชดเชยตามรายละเอียดความคุ้มครอง ผู้เอาประกันก็มีหน้าที่ชำระเบี้ยประกันตามที่ระบุในสัญญาเพื่อให้ความคุ้มครองเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
การทำประกันจุดประสงค์แท้จริงเพื่อแบ่งเบาความเสี่ยง จากบุคคล, กลุ่มบุคคล หรือ ทรัพย์สินนั้น ๆ ออกเป็นส่วนโดยร่วมกันชดเชยเมื่อมีความสูญเสีย เสียหายเกิดขึ้น โดยยึดหลักสุจริตเป็นสำคัญ และการทำประกันมิใช่สัญญาเพื่อค้ากำไร
ความเป็นมาของการประกันภัย
แก้มีเรื่องปรากฏในพระคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับโจเซฟและความอดอยากในประเทศอียิปต์ ซึ่งถือว่าเป็นโครงการประกันภัยอันแรกเท่าที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เล่ากันว่า คืนวันหนึ่ง ฟาโรห์ทรงพระสุบินว่า มีวัวอ้วนเจ็ดตัวกำลังถูกวัวผอมเจ็ดตัวกัดกิน โจเซฟทำนายฝันว่าประเทศอียิปต์จะมีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์เป็นเวลาเจ็ดปี และต่อจากนั้นจะเกิดความแห้งแล้ง ประชาชนจะอดอยากปากแห้งเป็นเวลาเจ็ดปี ดังนั้น จึงทูลเสนอต่อกษัตริย์ฟาโรห์ให้สะสมธัญญาหารในปีที่สมบูรณ์ไว้สำหรับเลี้ยงประชาชนในปีที่ข้าวยากหมากแพง วิธีนี้เรียกได้ว่าเป็นหลักประกันภัยพื้นฐาน กล่าวคือ เก็บออมตั้งแต่วันนี้เพื่อไว้ใช้ในอนาคตซึ่งหาความแน่นอนไม่ได้
ในประเทศจีน ประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล พ่อค้าชาวจีนได้พัฒนาวิธีการประกันภัยขึ้นสำหรับการขนส่งสินค้าตามลำน้ำแยงซี ซึ่งมีสายน้ำที่เชี่ยวกราก และเรื่อบรรทุกสินค้ามักอับปางลงอยู่เสมอ เนื่องจากมีหินใต้น้ำและเกาะแก่งที่คดเคี้นว ซึ่งเป็นอันตรายตาอการเดินเรือ มีปรากฏอยู่เสมอว่าพ่อค้าบางคนต้องสิ้นเนื้อประดาตัว เพราะสินค้าได้รับความเสียหายหมด ดังนั้น ด้วยความกลัว พ่อค้าเหล่านั้นจึงหาวิธีการกระจายความเสี่ยงภัยออกไป โดยนำสินค้าของตนบรรทุกไว้ในเรือลำอื่นหลายลำ เฉลี่ยกันไปจนครบหีบห่อสินค้า ซึ่งถ้าเรือลำใดลำหนึ่งจมลง ก็หมายความว่า สินค้าของพ่อค้าแต่ละคนสูญเสียเพียงคนละ 1 หีบห่อเท่านั้น ซึ่งวิธีการเช่นนี้เป็นที่มาของการประกันภัยในปัจจุบัน ราวก่อนศตวรรษที่ 13 และปรากฏว่ามีการประกันภัยทางทะเลกันอย่างแพร่หลายตามเมืองต่าง ๆ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนี่ยน สัญญาการประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเลฉบับแรกของโลกเท่าที่มีปรากฎเป็นหลักฐานจนถึงปัจจุบันนี้ คือ แบบลงวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1347 ออกให้ ณ เมืองเจนัว ประเทศอิตาลี
ส่วนสัญญาประกันภัยฉบับแรกของอังกฤษ เท่าที่ปรากฏตามหลักฐานซึ่งยังคงเก็บรักษาไว้ถึงปัจจุบัน คือ "Broke Sea Insurance Policy" ปี ค.ศ. 1547 วิธีทำประกันภัยสมัยนั้นคือเจ้าของเรือ หรือพ่อค้าที่ต้องการซื้อประกันภัย จะทำบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินต่าง ๆ ที่จะบรรทุกลงเรือ ใต้รายการเหล่านี้ นายธนาคารหรือบุคคลอื่น ๆ ที่ประสงค์จะรับประกันภัยจะลงชื่อพร้อมกับระบุจำนวนเงินที่ตนจะรับเสี่ยงแล้วลงลายมือชื่อไว้ (และนี่คือที่มาของคำว่า Underwriter) และเพื่อเป็นค่าตอบแทนในการเข้ารับเสี่ยงภัย ผู้ลงนามข้างใต้ (Underwriter) แต่ละคนจะได้รับค่าตอบแทน เรียกว่า เบี้ยประกันภัย
ในช่วงเวลานั้น สัญญาประกันภัยส่วนมากเป็น สัญญาประกันภัยทางทะเล ต่อมาก็ขยายออกไปคุ้มครองถึงการเสียชีวิตของนายเรือและลูกเรือ รวมทั้งพ่อค้าที่คุมสินค้าไปกับเรือ ตลอดจนคุ้มครองจำนวนเงินที่จะเป็นค่าไถ่ตัวเมื่อถูกโจรสลัดจับตัวด้วย
ส่วนกรมธรรม์ ประกันชีวิตดังที่เรารู้จักกันในขณะนี้ มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1583
จุดเริ่มต้นของบริษัทประกันภัย
แก้บริษัทที่รับประกันอัคคีภัยในรูปแบบสมัยใหม่ มีจุดกำเนิดจากการเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในนครลอนดอนในราวเดือนกันยายน ค.ศ. 1666 เพลิงไหม้ครั้งนั้นทำให้อาคารบ้านเรือนเกือบสามในสี่ของนครลอนดอนต้องพินาศลง
จากเหตุไฟไหม้ข้างต้น ในปีถัดมา ดร.นิโคลาส บาร์บอน รับหุ้นส่วนเพิ่มขึ้นเพื่อเข้าเฉลี่ยความเสี่ยง ซึ่งแต่เดิมตนเป็นผู้รับภาระอยู่คนเดียว สามปีต่อมาคู่แข่งขันเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งชื่อ "The Friendly" ทั้งสองแห่งนี้ออกกรมธรรม์รับประกันอัคคีภัย และจัดพนักงานดับเพลิงไว้สำหรับผจญเพลิงที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้
สำนักงานที่รับประกันอัคคีภัยในสมัยนั้น ไม่อาจเรียกว่าเป็น "บริษัท" ในความหมายของบริษัทรับประกันภัยในปัจจุบัน ซึ่งมีขนาดใหญ่โตและมีผู้ถือหุ้นจำนวนมากได้ เพราะในสมัยนั้นสำนักงานที่รับประกันภัยเป็นธุรกิจของรายบุคคลหรือหุ้นส่วนกลุ่มน้อย ซึ่งจำกัดการรับประกันภัยเฉพาะอาคารที่อยู่อาศัยเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ในปี ค.ศ. 1710 มีการจัดตั้งบริษัทรับประกันอัคคีภัยขึ้นเป็นครั้งแรก คือ The Sun Insurance Office of London ซึ่งยังคงดำเนินกิจการอยู่ในปัจจุบันในชื่อของ Royal & Sun Insurance Plc.
ในเวลาเดียวกันการประกันภัยทางทะเลและการประกันชีวิตก็เข้าสู้ระยะของการเติบโตอย่างรวดเร็วก่อนปี ค.ศ. 1699 ธุรกิจประกันภัยส่วนใหญ่มักใช้ร้านกาแฟในนครลอนดอนเป็นที่ติดต่อธุรกิจกัน ร้านกาแฟกลายเป็นสถานทีที่คนนิยมไปพบปะกันเพื่อกระจายหรือรับข่าวสารประจำวัน
หนึ่งในจำนวนร้านกาแฟเหล่านี้ เป็นของ Mr. Edward Lloyd ตั้งอยู่บนถนนลอมบาร์ค ที่ร้านนี้เป็น สถานที่ที่พ่อค้า นักธุรกิจและนายเรือ ตลอดจนผู้สนใจในการประกันภัยมักจะมาพบปะพูดคุยรับฟังข่าวสารต่าง ๆ เช่นเรื่องเรือที่มาเทียบท่า เรือ ที่กำลังเดินทางมาใกล้ถึงที่หมาย เรือที่อับปาง รวมทั้งเป็นที่ตกลงทำสัญญาประกันภัยกันด้วย ในที่สุดก็กลายเป็นที่มาของสมาคมผู้รับประกันภัยแห่งลอยด์ หรือลอยด์แห่งลอนดอน (Lloyds of London) ซึ่งเป็นสถาบันประกันภัยที่มีความสำคัญระดับนานาชาติจวบจนทุกวันนี้
ในปี ค.ศ. 1720 บริษัทอังกฤษสองแห่ง ได้ซื้อรอยัลชาร์เตอร์ด้วยเงินจำนวนมาก เพื่อประกอบธุรกิจประกันภัยทางทะเล ซึ่งต่อมามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ในนามบริษัท ลอนดอน แอนด์ รอยัลเอกซ์เชนจ์ (London & Royal Exchange) และนับเป็นจุดเริ่มต้นของยุคแห่งการประกอบธุรกิจการประกันภัยขนาดใหญ่ในปัจจุบัน ในปีถัดมาบริษัทนี้ได้รับอนุญาตให้รับประกันชีวิตด้วย
การปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ทำให้เกิดความต้องการในด้านการรับประกันอุบัติเหตุ และทำให้มีการก่อตั้งบริษัทรับประกันใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เครื่องจักรใหม่ ๆ ที่นำมาติดตั้งกับโรงงาน และหัวรถจักรสมัยใหม่ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินและชีวิตของบุคคลเพิ่มขึ้นอย่างมาก การประกันภัยนอกจากจะช่วยให้การคุ้มครองอุบัติเหตุเหล่านี้ในด้านการเงินแล้ว ยังงมีบทบาทอย่างสำคัญในการส่งเสริมให้มีการประดิษฐ์อุปกรณ์ด้านความปลอดภัยและมีส่วนช่วยในการกำหนดกฎระเบียบในการรักษาความปลอดภัยด้วย
ก่อนปี ค.ศ. 1880 เมื่อลูกจ้างได้รับบาดเจ็บในขณะปฏิบัติงาน นายจ้างมักมีข้อต่อสู้ทางกฎหมายทำให้พ้นผิด ไม่ต้องรับผิดชอบต่อลูกจ้าง แต่ครั้นเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติความรับผิดของนายจ้างในปี ค.ศ. 1880 (Employer's Liability Act 1880) บรรดาข้อต่อสู้ทางกฎหมายเหล่านั้น ก็ถูกลบล้างออกไปโดยกฎหมายฉบับนี้ ยังผลให้เกิดความต้องการประกันภัย "ความรับผิดชอบของนายจ้าง" ขึ้น และในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ลูกจ้างก็ยิ่งได้รับการคุ้มครองเพิ่มขึ้น เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเงินทดแทนแรงงาน (Workers' Compensation Act)
รูปแบบการประกันภัย
แก้แบบประกันมาตรฐาน แบ่งออกเป็นสองสายหลัก
- การประกันชีวิต (Life Insurance)
- การประกันชีวิต หมายรวมถึง การประกันต่อความสูญเสีย เสียหายอันจะเกิดแก่บุคคล หรือ กลุ่มบุคคล โดยสัญญาจักชดเชยเมื่อมีการเสียชีวิต และอาจมีความคุ้มครองอื่น ๆ เพิ่มเติมเช่น การประกันอุบัติเหตุและสูญเสียอวัยวะ (Accident and dismemberment), การประกันกรณีทุพพลภาพ (Total Disability) , หรือ การประกันสุขภาพ (Health Insurance) โดยการประกันชีวิตนั้นจะอยู่ภายใต้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)[1] ประกันชีวิต พ.ศ. 2535
- การประกันวินาศภัย (Non-Life Insurance)
- การประกันวินาศภัยแบ่งออกเป็นสี่ประเภท คือการประกันอัคคีภัย (Fire Insurance), การประกันภัยรถยนต์ (Motor Insurance), การประกันภัยทางทะเล (Marine Insurance), และ การประกันเบ็ดเตล็ด (Miscellaneous/Casualty Insurance) สำหรับการประกันวินาศภัยนั้นจะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535
ประเภทของการประกันภัย
แก้หลักวิชาของการประกันภัย ถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท[2] โดยมุ่งเน้นไปในเรื่องของการประกันบุคคล ทรัพย์สิน และ การรับผิดตามกฎหมาย
1 การประกันภัยบุคคล (Insurance of the person)
แก้คือการประกันจากภัยต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับตัวบุคคล ถูกแบ่งออกเป็นประกันชีวิต อุบัติเหตุ และ ประกันสุขภาพ
1.1 การประกันชีวิต
แก้- ประเภทสามัญ (Ordinary Life Insurance) สำหรับการประกันชีวิตแบบรายบุคคล เพื่อลดความเสี่ยงและคุ้มครองในการสูญเสียรายได้อันเนื่องมาจากการเสียชีวิตรวมถึงเป็นการออมทรัพย์ โดยมีการกำหนดเบี้ยประกันแบบยืดหยุ่นรายเดือน รายครึ่งปี ราย 3 เดือน หรือ รายปี และประกันลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพ
- ประเภทอุตสาหกรรม (Industrial Life Insurance) แตกต่างจากประเภทสามัญในเรื่องของจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ต่ำกว่า เหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำหรือปานกลาง และมีการชำระค่าเบี้ยประกันเป็นรายเดือนเพื่อแบ่งเบาภาระให้กับผู้เอาประกัน การประกันรูปแบบนี้ อาจมีเงื่อนไขกำหนดระยะเวลารอคอย (Waiting Period) มาตรฐานที่ 180 วัน ซึ่งหากผู้เอาประกันเสียชีวิตในระยะเวลาดังกล่าว บริษัทประกันสามารถปฏิเสธการจ่ายค่าชดเชยได้
- ประเภทกลุ่ม (Group Life Insurance) เรียกอีกอย่างว่าการประกันชีวิตประเภทหมู่ เป็นการรวมบุคคลหลายคนเข้าอยู่ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียว โดยที่เบี้ยประกันจะถูกเฉลี่ยตามจำนวนผู้เอาประกันภัย มักพบมากในการทำประกันในรูปแบบพนักงานบริษัท องค์กร โดยมีจุดประสงค์ในการคุ้มครองความเสี่ยงจากค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ อันเนื่องมาจากการทำงานหรือไม่ก็ตาม
1.2 การประกันอุบัติเหตุ
แก้- ส่วนบุคคล (Personal Accident) ใช้คำย่อว่า PA คือการทำประกันภัยอุบัติเหตุเฉพาะสำหรับบุคคลเท่านั้น ซึ่งอาจรวมถึงบุคคลในครอบครัวได้
- แบบกลุ่ม คล้ายกันกับการประกันชีวิต ซึ่งเป็นการทำประกันอุบัติเหตุแบบกลุ่ม สำหรับการให้สวัสดิการแก่พนักงานในองค์กร
- สำหรับนักเรียน เป็นประกันอุบัติเหตุสำหรับสถานศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือองค์กรการศึกษา เพื่อให้ความคุ้มครองกับนักเรียน
1.3 การประกันสุขภาพ
แก้การประกันสุขภาพคือการที่บริษัทประกันภัย สามารถชดเชยค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลให้แก่ผู้เอาประกันตามกรมธรรม์ ซึ่งการชดเชยนั้นสามารถเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยจากโรค หรือแม้แต่การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุได้
ความคุ้มครองของการประกันสุขภาพถูกแบ่งออกเป็น สำหรับผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก รวมถึงผลประโยชน์อื่นๆตามเอกสารแนบท้าย ยกตัวอย่างเช่น การคลอดบุตร การรักษาสุขภาพฟัน การดูแลโดยพยาบาลแบบพิเศษ และการรักษาการบาดเจ็บ หรือการเจ็บป่วยที่มีค่าใช้จ่ายสูง โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
- การประกันภัยสุขภาพส่วนบุคคล (การประกันภัยสุขภาพเฉพาะบุคคลเดียว)
- การประกันภัยสุขภาพกลุ่ม (สำหรับกลุ่มบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป)
2 การประกันทรัพย์สิน (Property Insurance)
แก้เป็นการประกันภัยต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับทรัพย์สิน ซึ่งทางบริษัทประกันจะชดเชยค่าสินไหมให้กับผู้เอาประกันภัย โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่ได้ทำประกันไว้ โดยประกันในหมวดนี้มีเกี่ยวเนื่องกับ 4 หมวดด้วยกัน
2.1 ประกันอัคคีภัย (Fire Insurance)
แก้หนึ่งในการประกันวินาศภัย โดยให้ความคุ้มครองที่ต้อง ระบุภัย (Named Peril[3]) โดยทรัพย์สินที่สามารถเอาประกันได้เช่น บ้านที่อยู่อาศัย อาคาร ร้านค้า โรงแรม โรงเรียน รวมถึงทรัพย์สินที่อยู่ภายในอาคารเช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องจักร สต็อกสินค้า
2.2 ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง (Marine Insurance)
แก้การประกันภัยที่คุ้มครองความสูญเสีย และ/หรือ ความเสียหายต่อยานพาหนะประเภทเรือ และ สิ่งของที่อยู่บนเรือ โดยจะรับประกันระหว่างการขนส่ง ไม่ใช่แค่เพียงการขนส่งสินค้าทางเรือเท่านั้น ประกันภัยทางทะเลและขนส่งรวมถึง การขนส่งสินค้าทางอากาศ ทางบก และทางรถไฟ สามารถแยกออกได้เป็น 2 ลักษณะ
- การประกันภัยตัวเรือ (Hull Insurance) ซึ่งรวมถึงตัวเรือ และ เครื่องจักรในเรือ
- การประกันภัยขนส่งสินค้า (Cargo Insurance) ทั้งแบบภายในประเทศ และ การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
สำหรับความคุ้มครองของการประกันภัยทางทะเลและขนส่งนั้นรวมถึง ภัยทางทะเลตามธรรมชาติ อัคคีภัย การทิ้งทะเล โจรกรรม การกระทำโดยทุจริตของคนบนเรือ และ ภัยอื่นๆ
อีกหนึ่งในประกันวินาศภัย โดยคุ้มครองตัวผู้เอาประกันภัยและผู้ได้รับผลกระทบจากรถยนต์ เมื่อเกิดความเสียหาย หรือ สูญเสียชีวิต รวมถึงอาการบาดเจ็บ โดยประกันประเภทนี้ประกอบด้วย
- ความเสียหายที่เกิดกับตัวรถยนต์
- ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก รวมถึงบุคคลที่โดยสารอยู่ในรถยนต์นั้น อันเนื่องมาจากรถยนต์
ประเภทของการประกันรถยนต์
แก้- ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (Compulsory Motor Insurance) อีกชื่อหนึ่งคือ ประกันภัย พ.ร.บ. ประกันภัยประเภทนี้ถูกบังคับโดย พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535[4] โดยที่รถยนต์ทุกประเภทต้องมีประกันภัยลักษณะนี้
- ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (Voluntary Motor Insurance) เป็นประกันภัยที่ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่าง บริษัทประกันภัย และ ผู้ซื้อ หรือเจ้าของรถยนต์ โดยไม่ใช่ภาคบังคับ ซึ่งบริษัทประกันภัยจะรับผิดชอบความเสียหายส่วนที่เกินจากความรับผิดชอบจาก ประกันภัย พ.ร.บ.
2.4 ประกันภัยเบ็ดเตล็ด (Miscellaneous Insurance)
แก้หนึ่งในประกันวินาศภัย โดยให้ความคุ้มครองต่อความสูญเสีย และความเสียหาย ที่มาจากภัยอื่นๆ นอกเหนือจากการทำประกันรูปแบบอื่น โดยขอบเขตของประกันภัยประเภทนี้ค่อนข้างกว้างขวาง ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 หมวด
- ความคุ้มครองเกี่ยวกับตัวบุคคล เช่น ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (Personal Accident Insurance)
- ความคุ้มครองเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น ประกันภัยเครื่องใช้ไฟฟ้าและโทรศัพท์มือถือ
- ความคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก
- ความคุ้มครองเกี่ยวกับภัยอื่นๆ เช่น ประกันภัยพืชผล ปศุสัตว์ อิสรภาพ
3. การประกันภัยเกี่ยวกับความรับผิดตามกฎหมาย (Liability Insurance)
แก้เป็นการประกันภัยที่เกี่ยวเนื่องด้วยการกระทำของบุคคล ของผู้เอาประกันภัย โดยอาจเป็นผลจากความประมาท ของบุคคลรอบข้าง ลูกจ้าง ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือ ทรัพย์สินเสียหาย โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ
- การประกันภัยความรับผิดต่อสาธารณะ (Public Liability Insurance)
- การประกันภัยความรับผิดจากผลิตภัณฑ์ (Product Liability Insurance)
- การประกันภัยความรับผิดจากวิชาชีพ (Professional Liability Insurance)
ดูเพิ่ม
แก้- ↑ "พ.ร.บ. รถยนต์ คุ้มครองอะไรบ้าง หากหมดอายุ ต่ออายุต้องทำอย่างไร". เพื่อนแท้เงินด่วน. 2023-05-17.
- ↑ "ประเภทของการประกันภัย". สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย.
- ↑ TGIA. "การประกันอัคคีภัยและทรัพย์สินคืออะไร?". www.tgia.org (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "ระบบสืบค้นกฎหมายประกันภัย E-Law Library : สมาคมประกันวินาศภัย". www2.tgia.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-21. สืบค้นเมื่อ 2021-03-03.