บาร์เรล
บาร์เรล (อังกฤษ: barrel ย่อว่า bbl) เป็นหน่วยวัดปริมาตรอย่างหนึ่ง เทียบเท่ากับประมาณ 100-200 ลิตร (30-50 แกลลอนอเมริกา) ขึ้นอยู่กับระบบและสิ่งที่นำมาวัด มีที่มาจากถังไม้ที่บรรจุเบียร์และไวน์
ปริมาตรของแห้ง
แก้ของแห้งบางชนิดเทียบหน่วยบาร์เรลกับหน่วยน้ำหนัก
- ของแห้งทั่วไป 1 บาร์เรลอเมริกา = 7,056 ลูกบาศก์นิ้ว (~3.28 บุชเชิล (bushel) / 115.6 ลิตร)[1]
- แครนเบอรี่ 1 บาร์เรลอเมริกา = 5,826 ลูกบาศก์นิ้ว (~2.71 บุชเชิล / 95.47 ลิตร)[1][2]
- ข้าวโพดป่น (cornmeal) 1 บาร์เรล = 200 ปอนด์ (90.7 กิโลกรัม)
- ซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ (Portland cement) 1 บาร์เรล = 4 ลูกบาศก์ฟุต (113 ลิตร) หรือ 376 ปอนด์ (88.9 กิโลกรัม)[3]
- น้ำตาล 1 บาร์เรล = 5 ลูกบาศก์ฟุต (141 ลิตร)
- แป้งข้าวสาลีหรือข้าวไรย์ 1 บาร์เรล = 3 บุชเชิล หรือ 196 ปอนด์ (88.9 กิโลกรัม)
- ปูนขาว 1 บาร์เรล = 280 ปอนด์ (127 กิโลกรัม) สำหรับบาร์เรลใหญ่ หรือ 180 ปอนด์ (81.6 กิโลกรัม) สำหรับบาร์เรลเล็ก[4]
ปริมาตรของเหลว
แก้ต่อไปนี้เป็นปริมาตรของของเหลวที่นอกเหนือจากน้ำมัน ซึ่งน้ำมันจะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไป
- เบียร์และเอล 1 บาร์เรลอังกฤษ = 36 แกลลอนอังกฤษ (163.7 ลิตร)
- ไวน์ 1 บาร์เรลอังกฤษ = 26.25 แกลลอนอังกฤษ (119.3 ลิตร)
- เบียร์ 1 บาร์เรลอเมริกา = 31 แกลลอนอเมริกา (117.3 ลิตร) ตามนิยามของกฎหมายภาษี
- ของเหลวอื่นที่ไม่ใช่เบียร์ 1 บาร์เรลอเมริกา = 31.5 แกลลอนอเมริกา (119.2 ลิตร) หรือครึ่งหนึ่งของฮอกส์เฮด (hogshead)
- น้ำ 1 บาร์เรลโซมาลี = 200 ลิตร มีใช้กันมากใน Horn of Africa เพื่อใช้วัดปริมาตรน้ำและน้ำมันดีเซล
ปริมาตรน้ำมัน
แก้หน่วยบาร์เรลมาตรฐานของน้ำมันอยู่ที่ 42 แกลลอนอเมริกา หรือ 34.9723 แกลลอนอังกฤษ หรือ 158.9873 ลิตร[5] ใช้ในสหรัฐอเมริกาสำหรับวัดปริมาตรของน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอื่นๆ บริษัทนานาชาติที่มีรายชื่อในตลาดหลักทรัพย์ของอเมริกาตั้งใจที่จะแปลงหน่วยปริมาตรของตนให้เป็นบาร์เรลสำหรับการรายงานผล ในประเทศอื่นมักใช้หน่วยลูกบาศก์เมตรหรือตันแทน โดยเฉพาะหน่วยตันนี้มีใช้กันมากในแถบยุโรป บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ยุโรปก็ตั้งใจที่จะแปลงหน่วยเป็นตันเช่นกัน
ถังไม้บรรจุน้ำมันในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 มีปริมาตรต่างจากถังเหล็ก 55 แกลลอน (drum) ในปัจจุบัน (หรือรู้จักในชื่อถังเหล็ก 44 แกลลอนในสหราชอาณาจักร หรือ 200 ลิตรในออสเตรเลีย) ซึ่งถังไม้ดังกล่าวมีความจุ 42 แกลลอน สามารถใช้เป็นหน่วยวัดได้อย่างหนึ่ง แต่ไม่มีการใช้แล้วสำหรับการขนส่งน้ำมันดิบ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมส่วนใหญ่สามารถขนส่งมาทางท่อหรือโดยเรือบรรทุกน้ำมัน
บาร์เรลขนาด 42 แกลลอนนี้เป็นหน่วยที่จำกัดการใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากบาร์เรลขนาดอื่นก็มีใช้ในอุตสาหกรรมประเภทอื่น และประเทศอื่นก็แทบจะเปลี่ยนไปใช้ระบบเมตริกกันหมดแล้ว ประเทศผลิตน้ำมันหลายประเทศที่ไม่มีความรู้ทางด้านเทคนิคที่จะพัฒนามาตรฐานอุตสาหกรรมน้ำมันของตน ใช้หน่วยบาร์เรลของอเมริกาเพราะอุตสาหกรรมเหล่านั้นก่อตั้งโดยบริษัทในสหรัฐอเมริกา
การวัดปริมาตรของน้ำมันเริ่มเกิดขึ้นที่แหล่งน้ำมันในรัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1860 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เริ่มมีการผลิตน้ำมันเป็นอุตสาหกรรม ขณะนั้นยังไม่มีมาตรฐานสำหรับภาชนะบรรจุน้ำมัน ดังนั้นน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจึงถูกเก็บไว้ในถังขนาดและรูปทรงที่แตกต่างกัน แต่ถังไม้บรรจุวิสกี้ 40 แกลลอนอเมริกา (151.4 ลิตร) ก็เป็นขนาดที่ใช้กันมากที่สุด เนื่องจากมีการผลิตไว้พร้อมแล้วในช่วงนั้น[6]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 "15 USC 234". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-01-25. สืบค้นเมื่อ 2008-08-28.
- ↑ cranberry barrel
- ↑ "U.S. Traditional and Commercial Barrel Sizes". 2000 Sizes, Inc. สืบค้นเมื่อ 2007-04-26.
- ↑ "15 USC 237". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-01-25. สืบค้นเมื่อ 2008-08-28.
- ↑ B. N. Taylor. "B.8 Factors for Units Listed Alphabetically - Section B". Guide for the Use of SI units. NIST. สืบค้นเมื่อ 2007-10-18.
- ↑ Judith O. Etzel (2008). "The 42 Gallon Barrel (History)". The 150th Anniversary of Oil. Oil Region Alliance of Business, Industry and Tourism. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-16. สืบค้นเมื่อ 2008-04-11.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- การแปลงหน่วยน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์จากน้ำมัน เก็บถาวร 2008-06-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- การแปลงหน่วยในอุตสาหกรรมน้ำมัน เก็บถาวร 2008-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน