ประยูร อุลุชาฎะ

(เปลี่ยนทางจาก น. ณ ปากน้ำ)

ประยูร อุลุชาฎะ (21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 –29 ธันวาคม พ.ศ. 2543) หรือรู้จักในนามปากกาชื่อ น. ณ ปากน้ำ เป็นจิตรกร นักเขียน ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) เมื่อ พ.ศ. 2535 ผลงานชิ้นสำคัญ ได้แก่ ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา, เที่ยวเมืองศิลปอู่ทอง, ความเป็นมาของสถูปเจดีย์ในสยามประเทศ, ศิลปบนใบเสมา, ศิลปของพระพุทธรูป รวมถึง ความงามของศิลปไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน

ประยูร อุลุชาฎะ
เกิด21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471
ตำบลบางเมือง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ
เสียชีวิต29 ธันวาคม พ.ศ. 2543
อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
นามปากกาน. ณ ปากน้ำ
อาชีพนักเขียน จิตรกร

ประวัติ

แก้

ประยูรเกิดที่ชุมชนคลองมหาวงษ์ ตำบลบางเมือง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ[1] เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัดกลาง เมื่อ พ.ศ. 2486 ประยูรเริ่มเรียนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง แผนกฝึกหัดครูช่าง เมื่อ พ.ศ. 2488 เข้าศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร จบการศึกษาระดับอนุปริญญาศิลปบัณฑิต สาขาจิตรกรรม จากนั้นได้รับการมอบหมายจากศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีร่างหลักสูตร เขียนตำราเรียน และดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ใหญ่ โรงเรียนศิลปศึกษา หรือโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้งยังทำการสอนที่คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ควบคู่กันไป จน พ.ศ. 2500 ได้ลาออกจากราชการและเริ่มเขียนบทความวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ โบราณคดี และโหราศาสตร์ โดยใช้นามปากกาแตกต่างกันไปตามประเภทของหนังสือที่เขียน เช่น น. ณ ปากน้ำ ใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับศิลปะ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี หลังจากนั้นได้สำรวจโบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นเวลา 5 เดือน

ด้านงานจิตรกรรม ประยูรมีผลงานทั้งจิตรกรรมไทยประเพณีและศิลปะสมัยใหม่ ผลงานส่วนใหญ่มีรูปแบบของศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสม์ ผลงานที่ชื่อ "จันทบุรี" ได้สร้างชื่อให้กับประยูรเป็นอย่างมาก โดยได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง สาขาจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 6 (พ.ศ. 2498)[2] ประยูรได้ได้รับปริญญาศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาประยุกตศิลปศึกษา) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2526 ประยูร อุลุชาฎะ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2543 ที่บ้านพักริมทะเล อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี[3] ด้วยโรคหัวใจวาย สิริอายุ 72 ปี

ลักษณะงานเขียน

แก้

จุดเด่นงานเขียนของ น. ณ ปากน้ำ คือ การค้นคว้าโดยอาศัยข้อความจากตำนานและพงศาวดาร การให้ความสำคัญต่อสุนทรียภาพ และการให้ความสำคัญกับกระบวนแบบ (style) และกลวิธีการก่อสร้าง[4]

อ้างอิง

แก้
  1. "น. ณ ปากน้า (ประยูร อุลุชาฏะ)". สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี.
  2. "ประยูร อุลุชาฎะ : 'น. ณ ปากน้ำ' ผู้ทำให้คนไทย เห็นความงามของศิลปะไทย". ยอดมนุษย์คนธรรมดา.
  3. "ประยูร อุลุชาฎะ น. ณ ปากน้ำ และพลูหลวง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี ๒๕๓๕". วารสารวัฒนธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-25. สืบค้นเมื่อ 2023-01-09.
  4. กำพล จำปาพันธ์, สายชล สัตยานุรักษ์. "น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฏะ):"ศิลปินแห่งชาติ" กับ "ศิลปะไทย" ในพื้นที่ประวัติศาสตร์ของรัฐชาติ". วารสารศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 3 (1).