นิวเคลียส (ระบบประสาท)
ในทางประสาทกายวิภาคศาสตร์ นิวเคลียส (อังกฤษ: nucleus) หมายถึงกลุ่มของเซลล์ประสาทที่อยู่กันอย่างหนาแน่นภายในสมอง ในภาพตัดกายวิภาคบริเวณนิวเคลียสจะเป็นส่วนเนื้อเทา (gray matter) ที่ถูกรายล้อมด้วยเนื้อขาว (white matter) ซึ่งเป็นส่วนใยประสาท นิวเคลียสมีลักษณะโครงสร้างซับซ้อนประกอบด้วยเซลล์ประสาทหลายชนิดเรียงตัวกันเป็นกลุ่มหรือเป็นชั้นๆ เพื่อทำหน้าที่ร่วมกัน ในสมองของสัตว์มีกระดูกสันหลังประกอบด้วยนิวเคลียสต่างๆ มากนับร้อยนิวเคลียส
คำว่านิวเคลียสในบางครั้งอาจอนุโลมหมายถึงกลุ่มของเซลล์ประสาทที่กระจายตัวเป็นบริเวณกว้างแต่สามารถระบุแยกได้ อาทิ เรติคิวลาร์นิวเคลียสของทาลามัส (reticular nucleus of the thalamus) ซึ่งเป็นชั้นบางๆ ของเซลล์ประสาทชนิดยับยั้ง (inhibitory neuron) ที่อยู่ล้อมรอบทาลามัส
ส่วนของสมองที่สำคัญบางตำแหน่งมีลักษณะเป็นกลุ่มของนิวเคลียสที่ทำงานประสาทกันระหว่างโครงสร้าง ได้แก่ ทาลามัสและไฮโปทาลามัสซึ่งประกอบด้วยโครงสร้างย่อยลงไปอีกมากมาย เมดัลลา ออบลองกาตาและพอนส์ก็ประกอบด้วยนิวเคลียสเล็กๆ จำนวนมากทำหน้าที่ทั้งรับความรู้สึก สั่งการ และการควบคุมการทำงานของร่างกาย
ในระบบประสาทนอกส่วนกลางจะเรียกกลุ่มของเซลล์ประสาทว่า ปมประสาท (ganglion) แทน
ตัวอย่างของนิวเคลียส
แก้- ก้านสมอง (brainstem) ได้แก่ เรด นิวเคลียส (red nucleus), เวสทิบิวลาร์ นิวเคลียส (vestibular nucleus), อินฟีเรียร์ โอลีฟ (inferior olive)
- ซีรีเบลลัม (cerebellum) ได้แก่ เดนเตต นิวเคลียส (dentate nucleus), เอ็มโบลิฟอร์ม นิวเคลียส (emboliform nucleus), โกลโบส นิวเคลียส (globose nucleus), แฟสทิเจียล นิวเคลียส (fastigial nucleus)
- เบซัลแกงเกลีย (basal ganglia) ได้แก่ สไตรเอตัม (striatum) (ได้แก่ คอเดต (caudate) และพิวตาเมน (putamen)), พาลลิดัม (pallidum) (โกลบัส พาลลิดัส (globus pallidus)), ซับสแตนเชีย ไนกรา (substantia nigra), ซับทาลามิก นิวเคลียส (subthalamic nucleus)
- นิวเคลียสของเส้นประสาทสมองต่างๆ