โยคาจาร
นิกายโยคาจาร ตั้งขึ้นโดยเมตตรัยนาคซึ่งเกิดหลังนาคารชุนราว 100 ปี ชื่ออื่น ๆ ของนิกายนี้คือ นิกายวิญญาณวาท หรือนิกายวิชญาณวาท สานุศิษย์ที่สืบต่อนิกายนี้คือ อสังคะ และวสุพันธุ ทินนาคะ และธรรมปาละ เป็นต้น
คัมภีร์
แก้คัมภีร์ที่สำคัญของนิกายนี้มี 5 คัมภีร์ คือ อวตังสกสูตร สันธินิรโมจนสูตร ลังกาวตารสูตร คันธวยูหสูตร และอภิธรรมสูตร นอกจากนี้ยังมีปกรณ์สำคัญเช่นโยคาจารภูมิศาสตร์ และคัมภีร์ปการณารวาจาศาสตร์
คัมภีร์ปการณารวาจาศาสตร์ (Prakaranaryavaca-sastra หรือ 顯揚聖敎論) แปลว่าการประกาศอันสอนคือปกรณ์แห่งพุทธศาสนา รจนาขึ้นโดยพระโพธิสัตว์อสังคะ เป็นตำราคำสอนสำคัญของนิกายโยคาจาร หรือนิกายธรรมลักษณ์ ขยายความคัมภีร์โยคาจารภูมิศาสตร์ อันเป็นตำราสำคัญของนิกายนี้ [1] คัมภีร์ปการณารวาจาศาสตร์มีจำนวนทั้งสิ้น 20 ผูก แปลจากสันสกฤตเป็นภาษาจีนโดยพระเสวียนจั้ง หรือพระถังซำจั๋ง สมัยราชวงศ์ถัง
หนึ่งในคำสอนสำคัญของตำรานี้คือ การกล่าวว่า อาลัยวิญญาณเป็นภาวะเดียวกับตถาคตครรภ์ เมื่อเข้าใจอาลัยวิญญาณจะเข้าใจตถาคตครรภ์ [2]
อาลัยวิญญาณ หรือมูลวิญญาณ เป็นที่เก็บ พีชะ (เมล็ดพันธุ์แห่งการนำไปให้เกิด) อันเป็นมูลให้เกิดนามและรูป คือร่างกายและจิตใจสรรพชีวิตทั้งหลาย [3]
หลักธรรม
แก้นิกายนี้ถือว่าเฉพาะจิตเท่านั้นที่เป็นจริง ทุกอย่างคือจิตหรือมาจากจิต สิ่งอื่นนอกจากจิตไม่เป็นจริง เป็นแต่มายาของจิต มีอยู่ เป็นอยู่เพราะการคิดของจิต ทั้งสังขตธรรมและอสังขตธรรมเกิดมาจากจิต จิตเรียกอีกอย่างว่าอาลยวิญญาณ หรือธาตุรู้ ซึ่งเป็นบ่อเกิดและมูลฐานของทุกสรรพสิ่ง มีหน้าที่ 3 ประการคือ
- รู้เก็บ หมายถึงรวบรวมพลังต่าง ๆ ของกรรมไว้ในอาลยวิญญาณ สิ่งที่ถูกเก็บไว้เรียกว่าพีชะ ซึ่งมี 3 อย่างคือ กุศลพีชะ อกุศลพีชะ และ อัพยากตพีชะ
- รู้ก่อ หมายถึงการสร้างอารมณ์ต่าง ๆ ของจิต หรือการกำหนดอารมณ์อื่น ๆ ที่จิตรับรู้
- รู้ปรุง หมายถึง การปรุงอารมณ์ที่ก่อขึ้นให้วิจิตรพิสดารไป
วิญญาณนี้มีพีชะอาศัยอยู่ อาลยวิญญาณจะเก็บพีชะไว้ แล้วนำมาก่อและปรุงแต่งจนกลายเป็นวิบากของพีชะ พีชะจะเกิดดับอยู่ตลอดเวลาเป็นสันตติ นิกายนี้ถือว่ามีความจริงตามธรรมชาติอยู่ 3 อย่างคือ ปริกัลปิตลักษณะ ความจริงที่ไม่มีอยู่เลย เช่น หนวดเต่า เขากระต่าย ปรตันตสภาวะ คือความจริงแบบสมติสัจจะ และปริณิษปันนสภาวะคือความจริงแท้หรือปรมุตถสัจจะ วิปัสสนาญาณเป็นวิธีเดียวที่จะเข้าถึงปรมัตถสัจจะได้ เหตุผลทางตรรกศาสตร์ไม่อาจเข้าถึงมหายานได้ นิกายนี้แบ่งบุคคลตามพีชะที่ฝังอยู่ในอาลยวิญญาณได้ 5 ระดับ เรียกว่าปัญจโคตร คือ
- พุทธพีชบุคคล คือผู้สร้างบารมีสู่พุทธภูมิ
- ปัจเจกโพธิพีชบุคคล คือผู้สร้างบารมีเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
- สาวกพีชบุคคล คือผู้สร้างบารมีเป็นพระอรหันต์
- อนิยตพีชบุคคล ผู้มีคติไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับการอบรม
- กิจฉันติกพีชบุคคล คือผู้ที่โปรดไม่ได้ในชาตินี้ แต่อาจบรรลุได้ หากปรับปรุงตัวในชาติต่อ ๆ ไป
นิกายนี้ได้ติเตียนนิกายมาธยมิกหรือฝ่ายศูนยวาทินอย่างรุนแรงว่าเป็นมิจฉาทิฐิ เป็นอุจเฉทวาทะ และนัตถิกวาทะ ส่วนฝ่ายศูนยวาทินโจมตีนิกายนี้ว่าเป็นสัสสตทิฐิคือเห็นว่าเที่ยง[4]
นิกายโยคาจารในจีน
แก้นิกายโยคาจารในจีนมีชื่อเรียกว่านิกายฝ่าเซียงหรือนิกายเว่ยซื่อ พระถังซัมจั๋งหรือสฉวนจั้ง เป็นผู้นำมาสู่ประเทศจีน ศิษย์คนสำคัญของท่านคือ ข่วยชิเป็นผู้สืบทอดต่อมา คัมภีร์สำคัญคือ มหายานสังคหะ
นิกายโยคาจารในญี่ปุ่น
แก้นิกายโยคาจารในญี่ปุ่นเรียกว่านิกายฮอสโส ท่านโคโซเป็นคนนำนิกายนี้จากจีนมาเผยแพร่ในญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 1192
อ้างอิง
แก้- ↑ Hsing Yun หน้า80
- ↑ Tamaki หน้า380 - 381
- ↑ ดูEight Consciousnesses
- ↑ ฟื้น ดอกบัว.ปวงปรัชญาอินเดีย. กทม. ศยาม. 2555 หน้า 389 - 399
- ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์. ศาสนาและปรัชญาในจีน ทิเบต และญี่ปุ่น. กทม. สุขภาพใจ. 2545
- ประยงค์ แสนบุราณ. พระพุทธศาสนามหายาน. กทม.โอเดียนสโตร์. 2548
- Hsing Yun, (2009). Infinite Compassion, Endless Wisdom: The Practice of the Bodhisattva Path. Buddha's Light Publshing, U.S.A
- Koshiro Tamaki, The Development of the Thought of Tathagatagarbha from India to China. in Journal of Indian and Buddhist Studies Volume 9 (1961) Issue 1 Pages 386-378
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- "Early Yogaacaara and Its Relationship with the Madhyamaka School", Richard King, Philosophy East & West, vol. 44 no. 4, October 1994, pp. 659-683
- "Vijnaptimatrata and the Abhidharma context of early Yogacara", Richard King, Asian Philosophy, vol. 8 no. 1, March 1998, pp. 5-18
- "The mind-only teaching of Ching-ying Hui-Yuan" (subtitle) "An early interpretation of Yogaacaara thought in China", Ming-Wood Liu, Philosophy East & West, vol. 35 no. 4, October 1985, pp. 351-375
- Yogacara Buddhism Research Association; articles, bibliographies, and links to other relevant sites.