นายขนมต้ม เป็นนักมวยคาดเชือกชาวกรุงศรีอยุธยา

รูปจำลองนายขนมต้ม

ประวัติ

แก้

เรื่องราวของนายขนมต้ม ปรากฏครั้งแรกในพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน โดยกล่าวว่า

ฝ่ายพระเจ้าอังวะยังอยู่ ณะ เมืองย่างกุ้ง ทำการยกฉัตรยอดพระมหาเจดีย์เกษธาตุสำเรจ์แล้วให้มีการฉลอง จึ่งขุนนางพม่ากราบทูลว่า คนมวยเมืองไทมีฝีมือดียิ่งนัก จึ่งตรัสสั่งให้จัดหามาได้นายขนมต้มคนหนึ่ง เปนมวยดีมีฝีมือแต่ครั้งกรุงเก่า เอาตัวมาถวายพระเจ้าอังวะ พระเจ้าอังวะจึ่งให้จัดพม่าคนมวยเข้ามาเปรียบกับนายขนมต้มได้กันแล้ว ก็ให้ชกกันหน้าพระธินั่ง แลนายขนมต้มชกพม่าไม่ทันถึ่งยกก็แพ้ แล้วจัดคนอื่นเข้ามาเปรียบชกอิก นายขนมต้มชกพม่าชกมอญแพ้ถึ่งเก้าคนสิบคนสู้ไม่ได้ พระเจ้าอังวะทอดพระเนตรยกพระหัตถ์ตบพระอุระตรัสสรรเสรีญฝีมือนายขนมต้มว่า ไทมีพิศม์อยู่ทั่วตัว แต่มือเปล่าไม่มีอาวุธเลยยังสู้ได้ คนเดียวชณะถึ่งเก้าคนสิบคนฉนี้ เพราะจ้าวนายไม่ดีจึ่งเสียบ้านเมืองแก่ข้าศึก ถ้าจ้าวนายดีแล้วไหนเลยจะเสียกรุงศรีอยุทธยา แล้วพระราชทานรางวัลแก่นายขนมต้มโดยสมควร

— พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน

[1]

พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ที่ชำระในสมัยหลัง และเป็นฉบับที่มีการตีพิมพ์อย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา ก็ยังคงยึดถือเนื้อหาในพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียนเป็นต้นแบบ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับหลักฐานอื่นๆ แล้ว ไม่ปรากฏพบเรื่องราวของนายขนมต้มแต่อย่างใด

มหาราชวงศ์ ฉบับหอแก้ว มีการกล่าวเพียงแค่ พระเจ้ามังระโปรดฯ ให้บูรณะและการยกยอดฉัตรพระมหาเจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง ปิดทองพระเจดีย์เท่าน้ำหนักตัวพระองค์ และสร้างฉัตร 7 ชั้น ทำด้วยทองคำฝังอัญมณี 15,038 เม็ดสำหรับประดิษฐานบนยอดพระเจดีย์ พระเจ้ามังระเสด็จไปยกฉัตรด้วยพระองค์เอง ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือนตะเบางก์ จ.ศ. 1136 (17 มีนาคม พ.ศ. 2317)[2] สอดคล้องกับคำให้การชาวอังวะ ที่กล่าวถึงเพียงการยกฉัตรมหาเจดีย์ชเวดากองใน พ.ศ. 2317 และให้ประหารชีวิตพญาทะละ[3] ส่วนพงศาวดารมอญพม่าก็มีเนื้อหาไม่แตกต่างกัน[4] และไม่ปรากฏพบเรื่องราวของนายขนมต้มแต่อย่างใด

สิ่งสืบทอด

แก้

ได้เคยมีการจัดให้วันที่ 17 มีนาคม เป็นวันมวยไทย เพื่อเป็นเกียรติประวัติต่อนักมวยไทย[5] นอกจากนี้ ชาวพระนครศรีอยุธยาได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์นายขนมต้ม ไว้ที่บริเวณสนามกีฬากลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา[6]

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย

แก้

พ.ศ. 2529 คมทวน คันธนู กวีซีไรต์ ได้นำเรื่องราวของนายขนมต้มมาเขียนเป็นนวนิยายเรื่อง นายขนมต้ม คนกล้านอกตำนาน โดยผูกเรื่องให้นายขนมต้มเกิดที่ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรนายเกิด และนางอี่ มีพี่สาวชื่อนางเอื้อย ทั้งพ่อแม่และพี่ถูกพม่าฆ่าตายหมด ต้องไปอยู่กับหลวงตาคง วัดปีกกาตั้งแต่เล็ก และได้เรียนวิชามวยกับชายนิรนาม[7]

สมรักษ์ คำสิงห์ เคยรับบทเป็นนายขนมต้มในละครโทรทัศน์เรื่องนายขนมต้ม[8] ซึ่งออกอากาศเมื่อปี พ.ศ. 2539

อ้างอิง

แก้
  1. ศานติ ภักดีคำ. พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน. พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, 2558. 558 หน้า. หน้า (35)-(50). ISBN 978-616-92351-0-1 [จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพพระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔)].
  2. Phraison Salarak, Laung (trans). Intercourse between Burma and Siam as record in Hmannan Maha Yazawindawgyi. in Journal of the Siam Society. 11.3, 1914-15, pp. 1-48.
  3. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๔.พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เถ้าแก่ทองดี ปาณิกบุตร์ จ.จ.เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒.
  4. ประชุมพงศาวดารเล่ม 2 (ประชุมพงศาวดารภาค 1 ตอนปลาย และภาค 2). กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2506. 336 หน้า. หน้า 60-123.
  5. สมบัติ สวางควัฒน์. (2554). ย้อนตำนานแวดวงมวยไทย จากอดีตถึงปัจจุบัน. สำนักพิมพ์ ก้าวแรก. ISBN 978-616-7446-13-4. หน้า 138-139
  6. งานวันนายขนมต้ม
  7. นวนิยายนายขนมต้ม
  8. ย้อนรอยฮีโร่ - SMMSPORT.com[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้