นางสาวบุญเหลือ หรือ ย่าเหลือ บุคคลในประวัติศาสตร์ไทย ในฐานะวีรสตรี ที่มีส่วนสำคัญในการกอบกู้เมืองนครราชสีมาร่วมกับท้าวสุรนารี จากการเข้ายึดตีเมือง ของกองทัพเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ ปี พ.ศ. 2369 ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

ประติมากรรมลอยตัวรูปนางสาวบุญเหลือ ณ อนุสรณ์สถานนางสาวบุญเหลือ ภายในบริเวณโรงเรียนบุญเหลือวิทยานุสรณ์ ตำบลโคกสูง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา

ประวัติ และวีรกรรมของนางสาวบุญเหลือ

แก้

นางสาวบุญเหลือ เป็นสาวเวียงจันทน์​ อพยพ​มากับย่าโม, มีความใกล้ชิดสนิทสนม และเคารพนับถือ พระยาปลัดเมืองนครราชสีมา และคุณหญิงโม เป็นอันมาก อีกทั้งพระยาปลัดเมือง และคุณหญิงโม ไม่มีบุตร และธิดา จึงได้รัก และเอ็นดูนางสาวบุญเหลือ ดุจว่าเป็นลูกหลานแท้ ๆ [1]

เมื่อ ปี พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ ได้ยกกองทัพมุ่งสู่สยาม​เพื่อหวัง​จะ​กอบกู้​เอกราช​จนถึงเมืองนครราชสีมา โดยอ้างว่า มีพระราชโองการให้ยกทัพไปกรุงเทพ เพื่อช่วยรบกับอังกฤษ และเนื่องจากในขณะนั้น เจ้าเมืองนครราชสีมา และพระยาปลัดเมืองไม่อยู่ ไปราชการเมืองขุขันธ์ เจ้าอนุวงศ์จึงยกทัพ เข้ายึดเมืองนคราชสีมาได้โดยง่าย แล้วกวาดต้อนผู้คนชาวนครราชสีมาเป็นเชลยขึ้นไปยังเวียงจันทน์ ในจำนวนเชลยเหล่านั้น มีคุณหญิงโม และนางสาวบุญเหลือรวมอยู่ด้วย

ระหว่างที่กองทัพเจ้าอนุวงศ์ และทหารลาว หยุดพักค้างแรมระหว่างเดินทางไปเวียงจันทน์ ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ แขวงเมืองนครราชสีมา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2369 [2] คุณหญิงโม ร่วมกับ นางสาวบุญเหลือ และหลวงณรงค์สงคราม หัวหน้าชาวเมือง ได้ใช้กลอุบาย โดยให้ชาวเมืองเลี้ยงสุราอาหารแก่ทหารลาวที่ควบคุมตัวมา เมื่อทหารเจ้าอนุวงศ์หลงกลกินเหล้าเมายาจนขาดสติเกือบหมดกองทัพ เมื่อได้โอกาสอันเหมาะสมแล้ว กำลังชาวโคราชที่ทุ่งสัมฤทธิ์ทั้งชาย และหญิง ก็แย่งอาวุธโจมตีเข่นฆ่าทหารลาวจนล้มตายเป็นจำนวนมาก ทำให้แผนกอบกู้อิสรภาพของนครราชสีมาสำเร็จ

และในเหตุการณ์ครั้งนั้น นางสาวบุญเหลือได้เสียสละพลีชีพด้วยการนำไม้ฟืนจากกองไฟ วิ่งหลอกล่อทหาร ตรงไปยังกองเกวียน กระสุนดินประสิวของกองทัพทหารลาว จนเกิดการระเบิด แสงเพลิงแดงฉานไปทั่วท้องทุ่งสัมฤทธิ์ ด้วยการตัดสินใจด้วยปฏิภาณอันห้าวหาญ เด็ดเดี่ยวในวีรกรรมครั้งนี้ ของนางสาวบุญเหลือ ยังคงประทับแน่นอยู่ในความทรงจำ ของลูกหลานชาวนครราชสีมาตลอดไม่รู้ลืม

และต่อมาทางราชการ ได้ถือเอาวันที่ 4 มีนาคมของทุกปี เป็น วันไทยอาสาป้องกันชาติ[3]

อนุสรณ์สถานนางสาวบุญเหลือ

แก้

อนุสรณ์สถานนางสาวบุญเหลือ ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนบุญเหลือวิทยานุสรณ์ ตำบลโคกสูง อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมา 12.5 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 205( ถนนสุรนารายณ์)สายนครราชสีมา - ชัยภูมิ ชาวนครราชสีมาได้ร่วมสร้างขึ้น และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของนางสาวบุญเหลือ และเหล่าบรรพบุรุษของชาวนครราชสีมา ที่ได้พลีชีพเพื่อปกป้องชาติ เมื่อครั้งวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ ในปีพ.ศ. 2369 นับเป็นอนุสรณ์สถานอีกแห่งหนึ่ง ที่ชาวนครราชสีมา ให้ความเคารพสักการะเป็นอย่างสูง

จังหวัดนครราชสีมา และประชาชนชาวนครราชสีมาพร้อมใจกันสร้าง และทำพิธีเปิดอนุสรณ์สถานนางสาวบุญเหลือ ขึ้นที่โรงเรียนบุญเหลือวิทยานุสรณ์ เมื่อ วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 โดย ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เป็นประธาน และได้มีการกำหนด ให้ทุกวันที่ 4 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสดุดี วีรกรรมของนางสาวบุญเหลือ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชน ได้ร่วมกันสดุดี พร้อมทั้งเปลี่ยนผ้าตะเบงมาน ตามสีแห่งปี มอบพวงมาลัย และวางพวงมาลา ณ อนุสรณ์สถานนางสาวบุญเหลือ

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "เกียรติประวัติ และวีรกรรมแม่บุญเหลือ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-28. สืบค้นเมื่อ 2008-09-29.
  2. เหตุการณ์ที่8 วีรกรรมท้าวสุรนารี[ลิงก์เสีย]
  3. ประวัติวันไทยอาสาป้องกันชาติ