ยอห์นผู้ให้บัพติศมา (การาวัจโจ)
ยอห์นผู้ให้บัพติศมา (อังกฤษ: John the Baptist) หรือ ยอห์นในถิ่นทุรกันดาร (อังกฤษ: John in the Wilderness) เป็นหัวข้อที่เขียนอย่างน้อยแปดครั้งโดยการาวัจโจ[1] ผู้เป็นจิตรกรสมัยบาโรกคนสำคัญชาวอิตาลี ระหว่างปี ค.ศ. 1571 ถึงปี ค.ศ. 1610
เรื่องราวของยอห์นผู้ให้บัพติศมา[2] กล่าวถึงในพระวรสาร นักบุญยอห์นเป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระเยซูและเป็นผู้ได้รับเรียกจากพระเจ้าให้มาปูทางให้แก่เมสไซยาห์ผู้ที่จะมาถึง นักบุญยอห์นอาศัยเร่ร่อนอยู่ในในบริเวณจูดิอาห์ระหว่างเยรูซาเลมและทะเลเดดซี “นุ่งผ้าขนอูฐและคาดเข็มขัดบนสะโพก; กินตั๊กแตนและน้ำผึ้งเป็นอาหาร” นักบุญยอห์นกระทำพิธีศีลจุ่มให้แก่พระเยซูในแม่น้ำจอร์แดน และต่อมาถูกสั่งตัดหัวโดยแฮรอด อันทิปาสเพราะนักบุญยอห์นพยายามขอให้พระองค์ปฏิรูปสิ่งที่ชั่วร้ายต่างที่ทรงทำ
ภาพนักบุญยอห์นเป็นภาพที่นิยมวาดกันมากที่สุดภาพหนึ่งที่มักจะประกอบด้วยสัญลักษณ์ประจำตัวต่างๆ ที่รวมทั้งอ่างสำหรับทำพิธีศีลจุ่ม, กางเขนที่ทำจากกิ่งไม้ และเครื่องนุ่งห่มที่ทำด้วยขนแกะหรือขนอูฐ ศิลปะที่นิยมสร้างกันก่อนการปฏิรูปศาสนาของนิกายโรมันคาทอลิกมักจะเป็นภาพนักบุญยอห์นกระทำพิธีศีลจุ่มให้แก่พระเยซู หรือภาพนักบุญยอห์นและพระเยซูเมื่อยังทรงพระเยาว์กับพระแม่มารี และบางครั้งก็จะมีนักบุญเอลิซาเบธแม่ของนักบุญยอห์นประกอบด้วย การวาดแต่นักบุญยอห์นเพียงผู้เดียวไม่ว่าเมื่อจะยังเด็กหรือเป็นผู้ใหญ่แล้วไม่เป็นที่นิยมกันเท่าใดนัก
ภาพที่การาวัจโจเขียนมาจากคำบรรยายในพระวรสารนักบุญลูคที่ว่า “เด็กผู้นี้เติบโตขึ้นและมีพลังใจที่แข็งแกร่งขึ้น และอาศัยอยู่ในทะเลทรายจนกระทั่งถึงวันกำเนิดของอิสราเอล” คำบรรยายนี้เป็นคำบรรยายที่การาวัจโจใช้ในการวาดภาพนักบุญยอห์น ซึ่งตัวแบบบางตัวก็มิได้มีลักษณะของความเป็นนักบุญเท่าใดนัก นอกจากภาพที่เป็นนักบุญยอห์นคนเดียวที่มาจากสมัยแรกของการเขียนแล้วการาวัจโจก็ยังเขียนภาพอีกสามภาพที่มีเนื้อหาในฉากการตายของนักบุญยอห์นในภาพ “การตัดหัวยอห์นผู้ให้บัพติศมา” ที่เขียนที่มอลตา และอีกสองภาพหลังจากที่ถูกฆ่าแล้ว “ซาโลเมและหัวของยอห์นผู้ให้บัพติศมา (ลอนดอน)” และ“ซาโลเมและหัวของยอห์นผู้ให้บัพติศมา (มาดริด)”
ยอห์นผู้ให้บัพติศมา - โทเลโด
แก้ยอห์นผู้ให้บัพติศมา | |
---|---|
ศิลปิน | การาวัจโจ (ยังไม่เป็นที่ตกลงกัน) |
ปี | ราว ค.ศ. 1598 |
ประเภท | จิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ |
สถานที่ | พิพิธภัณฑ์เตโซโร คาเทดราลลิชิโอ, สเปน |
การบ่งว่าภาพนี้เขียนโดยการาวัจโจยังเป็นข้อที่ตกลงกันไม่ได้ จิตรกรอีกผู้หนึ่งที่อาจจะเป็นผู้เขียนก็คือบาร์โทโลเมโอ คาวารอซซิ ผู้ติดตามงานของการาวัจโจในระยะแรก ปัจจุบันภาพนี้ตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เตโซโร คาเทดราลลิชิโอที่โทเลโดในประเทศสเปน ยอห์น แกชตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นภาพเขียนภาพหนึ่งที่เขียนให้กับนักบวชที่โรงพยาบาลคอนโซชันที่นักเขียนชีวประวัติของการาวัจโจจุยเลียโน มันชินิกล่าวถึง มันชินิกล่าวว่าหลังจากนั้นนักบวชก็ “นำติดตัวกลับบ้านเมือง” แต่ “บ้านเมือง” ที่มันชินิกล่าวถึงเป็นเซวิลล์และอีกที่หนึ่งกล่าวว่าเป็นซิซิลี ในปี ค.ศ. 1593 โรงพยาบาลคอนโซชันมีนักบวชชาวสเปนประจำอยู่คนหนึ่งและอาจจะไม่ได้ออกจากโรงพยาบาลจนกระทั่งเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1595 แกชอ้างความเห็นของนักวิชาการ เอ.อี. เปเรซ ซานเชซที่กล่าวว่าแม้ว่าลักษณะการเขียนนักบุญยอห์นจะคล้ายกับลักษณะการเขียนของคาวารอซซิแต่ส่วนอื่นของภาพไม่ใช่ “และคุณภาพการเขียนขององค์ประกอบในภาพเป็นฝีมือที่เยี่ยม โดยเฉพาะความงามของการเขียนเถาองุ่น...ที่เป็นลักษณะการเขียนของการาวัจโจ” นอกจากนั้นแกชก็ยังชี้ให้เห็นการใช้ค่าต่างแสงหรือแสงเงาที่ตัดกันที่ทำได้อย่างนุ่มนวล เช่นเดียวการเขียนโค้งเว้าของร่างของนักบุญซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับงานเขียนในสมัยแรกๆ ของการาวัจโจเช่นในภาพ “นักดนตรี” and “นักบุญฟรานซิสปลื้ม” ถ้าภาพเขียนนี้และภาพเขียนอื่นของการาวัจโจถูกนำไปเซวิลล์จริงตามที่กล่าวแล้วก็อาจจะเป็นได้ว่าเป็นภาพที่สร้างความประทับใจให้แก่เดียโก เบลัซเกซที่แสดงให้เห็นในงานเขียนในระยะแรก แต่เหตุผลสนับสนุนว่าเป็นภาพที่เขียนโดยคาวารอซซิก็เป็นเหตุผลที่หนักแน่นและเป็นที่ทราบกันว่าคาวารอซซิมีโอกาสเดินทางไปสเปนราวระหว่างปี ค.ศ. 1617 ถึงปี ค.ศ. 1619[3]
ปีเตอร์ รอบบ์เชื่อว่าเป็นภาพที่เขียนโดยการาวัจโจที่เขียนราวปี ค.ศ. 1598 เมื่อการาวัจโจพำนักอยู่กับผู้อุปถัมภ์คนสำคัญคนแรกคาร์ดินัลฟรานเชสโค มาเรีย เดล มอนเต รอบบ์ชี้ให้เห็นว่าผู้เป็นแบบสำหรับนักบุญเป็นคนคนเดียวกับผู้เป็นแบบสำหรับไอแซ็คในภาพ “เอบราฮัมสังเวยไอแซ็ค” ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่าเป็นภาพที่เขียนในระยะเวลาเดียวกัน แต่ภาพ “สังเวยไอแซ็ค” เองก็มีปัญหาในเรื่องใครเป็นผู้เขียนแน่เช่นกัน
ฉากหลังของภาพเป็นเถาองุ่นเขียวที่มีหนาม ด้านหน้าภาพนักบุญยอห์นนั่งอยู่บนเสื้อคลุมสีแดงสดถือกางเขนใบหญ้า (reed) มองลงมายังลูกแกะที่นอนอยู่ที่เท้า เสื้อคลุมสีแดงหรือผืนผ้าสีแดงมักจะปรากฏในงานเขียนของการาวัจโจ ซึ่งมาจากงานเขียนที่ทำกันมาก่อนหน้านั้น[4]
“ยอห์นผู้ให้บัพติศมา” มีลักษณะต่างๆ ที่เป็นจุดสนใจในการศึกษาเช่นเดียวกับภาพอื่นที่เขียนจากสมัยเดียวกัน การเขียนใบไม้ข้างหลังตัวแบบ, พรรณไม้ต่างๆ และดินรอบๆ เท้าของนักบุญเป็นไปอย่างบรรจงและอย่างละเอียด ที่มีลักษณะเหมือนภาพถ่ายหรือการเขียนจิตรกรรมภาพนิ่ง ที่เขียนในภาพ “กระจาดผลไม้” ขณะที่ท่าทางสงบซึมของนักบุญเป็นการสร้างบรรยากาศของความครุ่นคิด เถาองุ่นเป็นสัญลักษณ์ขององุ่นที่นำมาทำเป็นไวน์สำหรับพระกระยาหารมื้อสุดท้าย ขณะที่หนามบนเถาทำให้นึกถึงมงกุฎหนามที่พระเยซูทรงก่อนที่จะถูกตรึงกางเขน ส่วนลูกแกะก็เป็นสัญลักษณ์ของความเสียสละของพระองค์
การตัดสินใจของการาวัจโจในการเขียนภาพยอห์นผู้ให้บัพติศมาเมื่อยังหนุ่มเป็นหัวข้อที่ไม่ค่อยมีการเขียนกันนัก ส่วนใหญ่ที่มักจะเขียนกันก็เมื่อยังเป็นเด็กพร้อมกับพระเยซูหรือเป็นผู้ใหญ่เมื่อทำพิธีศีลจุ่มให้พระเยซูไปเลย แต่ก็มิได้หมายความว่าเป็นคนแรกที่เขียน ก่อนหน้านั้นเลโอนาร์โด ดา วินชี ก็ได้เขียนมาแล้วในภาพ “ยอห์นผู้ให้บัพติศมา (เลโอนาร์โด)” ของชายหนุ่มที่ยิ้มน้อยๆ อย่างมีเสน่ห์ลึกลับ (enigmatic) โดยมีมือหนึ่งชี้ขึ้นไปบนสวรรค์ (?) หรือในงานเขียนของอันเดรอา เดล ซาร์โตที่แทบจะเป็นแบบของภาพที่การาวัจโจเขียนต่อมา ทั้งดา วินชิและเดล ซาร์โตต่างก็สร้างภาพยอห์นผู้ให้บัพติศมาที่ดูเหมือนจะมีความหมายพิเศษสำหรับตนเองที่ไม่ใช่การเขียนภาพเพื่อผู้ชม ซึ่งการาวัจโจนำมาใช้ในการเขียนภาพหลายภาพในหลายหัวข้อที่ดูจะมีความหมายเป็นการส่วนตัว
ยอห์นผู้ให้บัพติศมา - โรม (คาปิโตลิเน และ ดอเรียแปมฟิลจ์)
แก้ยอห์นผู้ให้บัพติศมา หรือ ชายหนุ่มกับลูกแพะ | |
---|---|
ศิลปิน | การาวัจโจ |
ปี | ค.ศ. 1602 |
ประเภท | จิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ |
สถานที่ | พิพิธภัณฑ์คาปิโตลิเน |
ภาพนี้รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “ชายหนุ่มกับลูกแพะ” มีด้วยกันสองภาพที่เกือบจะเหมือนกันทุกอย่าง และเชื่อกันว่าทั้งสองภาพเขียนโดยการาวัจโจ ภาพหนึ่งตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์คาปิโตลิเนในกรุงโรม และอีกภาพหนึ่งที่หอศิลป์ดอเรียแปมฟิลจ์ (Galleria Doria Pamphilj)
ในปี ค.ศ. 1602 ภาพเขียนคิวปิดของการาวัจโจหรือที่รู้จักกันว่า “ชัยชนะของความรัก” (Amor Vincit Omnia) ที่เขียนให้นายธนาคารและผู้อุปถัมภ์วินเชนโซ จุสตินิอานิสร้างความร่ำลือในบรรดาคอนักสะสมศิลปะผู้ร่ำรวยในกรุงโรม ในปีเดียวกันนั้นซิริอาโค มัตเตอิผู้เป็นนายธนาคารเช่นกันผู้ที่พี่ชายเป็นเพื่อนกับการาวัจโจก่อนที่จะมีชื่อเสียงก็ว่าจ้างให้เขียนภาพยอห์นผู้ให้บัพติศมา อาจจะเป็นได้ว่ามัตเตอิมิได้เป็นผู้ว่าจ้าง แต่เรื่องราวฟังแล้วอาจจะเป็นไปได้แต่ไม่หลักฐานสนับสนุน ในการเขียนภาพ “ยอห์นผู้ให้บัพติศมา” การาวัจโจใช้ผู้เป็นแบบคนเดียวกันกับภาพ “ความรัก”
เสน่ห์อันไม่สิ้นสุดของภาพ “ยอห์นผู้ให้บัพติศมา” อยู่ตรงความอ่อนโยนของแสงที่เลียผิวผ้า, เนื้อ และพรรณไม้ในภาพ บุคคลในภาพบอกได้ว่าเป็นนักบุญยอห์นจากสัญลักษณ์ที่ปรากฏในภาพที่ได้แก่ ลูกแกะ (ผู้เสียสละ) และใบองุ่นที่เป็นพรรณไม้ที่นำผลมาทำน้ำองุ่นที่ละม้ายพระโลหิตของพระเยซู หรือเป็นสัญลักษณ์ของการกำเนิดของชีวิต นอกไปจากนั้นก็ไม่มีสิ่งอื่นใดนอกไปจากการเป็นภาพของชายหนุ่มเปลือยที่มีสีหน้าเหมือนจะเยาะ (ironic) หรืออาจจะเป็นนัยยะ (allusive) ก็เป็นได้
ความกำกวมของภาพสร้างความฉงนให้แก่ผู้ดูมาเป็นเวลาหลายชั่วคน ราวปี ค.ศ. 1620 กล่าวกันว่าเป็นภาพเด็กเลี้ยงแกะชาวฟริเจีย ในปี ค.ศ. 1624 ภาพนี้ก็ตกไปเป็นของผู้อุปถัมภ์คนสำคัญคนแรกคาร์ดินัลฟรานเชสโค มาเรีย เดล มอนเต รายการสำรวจทรัพย์สินที่ทำหลังจากเดล มอนเตเสียชีวิตไปแล้วระบุว่าเป็น ภาพ “โคริดอน” (Corydon) ซึ่งเป็นเด็กเลี้ยงแกะในตำนานโบราณ และแม้ในปัจจุบันก็ยังมีการพยายามที่จะตีความหมายว่าเป็น “ไอแซ็คหัวเราะ” - ไอแซ็คเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับลูกแกะ จากการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดก็พบว่าเด็กหนุ่มในภาพนั่งอยู่บนกองขอนไม้ซึ่งเป็นอีกข้อหนึ่งที่ทำให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับไอแซ็คและไม่ใช่ยอห์นผู้ให้บัพติศมา
ภาพนี้เป็นภาพที่ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากภาพ “อิญูดิ” (Ignudi) บนเพดานชาเปลซิสตินโดยไมเคิล แอนเจโล ขณะที่รูปของแอนเจโลเป็นรูปที่เป็นนามธรรมและเป็นภาพแบบอุดมคติโดยใช้แสงที่เย็นและความยืดหยุ่น (plasticism) ตามทฤษฎี รูปของการาวัจโจเป็นภาพที่ผู้เขียนแสดงความมีเลือดเนื้อที่ทำให้ได้ภาพที่สมบูรณ์ตามธรรมชาติ
ผู้เป็นแบบของ “ชัยชนะของความรัก” เป็นเด็กรับใช้ของการาวัจโจหรืออาจจะเป็นลูกศิษย์ชื่อ “เช็คโค” ซึ่งอาจจะเป็นคนคนเดียวกับจิตรกรเช็คโค เดล การาวัจโจผู้ทำงานอยู่ในโรมราวระหว่างปี ค.ศ. 1610 ถึงปี ค.ศ. 1625 สิ่งที่น่าสนใจในการเป็นแบบในภาพ “ความรัก” คือผู้เป็นแบบมีความลุกลนและมีความสุขในการเป็นแบบอย่างเห็นได้ชัดที่ทำให้ภาพเขียนกลายเป็นภาพเหมือนของ “เช็คโค” แทนที่จะเป็นภาพของเทพ ความรู้สึกเช่นเดียวกันนั้นก็เกิดในภาพ “ยอห์นผู้ให้บัพติศมา” ที่ทำให้รู้สึกว่าผู้เป็นแบบมีชีวิตจิตใจอย่างออกนอกหน้า
ในภาพนี้นักบุญยอห์นนั่งเอนตัวโดยมีแขนข้างหนึ่งโอบรอบคอแพะ หันหน้ามาทางผู้ชมด้วยใบหน้าที่มีรอยยิ้มอย่างเจ้าเล่ห์ ภาพนี้แทบจะไม่มีสิ่งใดที่เป็นสัญลักษณ์ของนักบุญที่ใช้ชีวิตในทะเลทราย - ไม่มีกางเขน, ไม่มีขนอูฐ, ไม่มีเข็มขัด จะมีก็แต่เพียงเศษขนอูฐในรอยพับบนผืนผ้าชิ้นใหญ่และลูกแพะ และลูกแพะในภาพก็มิใช่ลูกแกะเช่นที่เขียนกันมา ที่เป็นสัญลักษณ์ของ “แกะของพระเจ้า” (Lamb of God) ที่เป็นสัญลักษณ์ของพระเยซูผู้ทรงมาเป็นผู้ไถ่บาปให้แก่มวลมนุษย์ ตามธรรมเนียมแล้วแพะเป็นสัญลักษณ์ของความไคร่พอกับการเป็นสัญลักษณ์ของความเสียสละ แต่ชายหนุ่มที่ยิ้มเยาะในภาพมิได้แสดงความรู้สึกว่าเป็นการบาปแต่อย่างใด นักเขียนชีวประวัติบางคนพยายามสร้างภาพพจน์ของการาวัจโจว่าเป็นผู้มีความเคร่งครัดทางศาสนาของยุคการปฏิรูปศาสนาของนิกายโรมันคาทอลิก แต่เช็คโคแบ็พทิสต์ในรูปนี้เท่านั้นก็ดูเหมือนจะเป็นเพียงผู้นอกศาสนาในรูปของคิวปิดเกิดใหม่เท่านั้น
“ยอห์นผู้ให้บัพติศมา” ของมัตเตอิกลายเป็นที่ร่ำลือและนิยมกันมาก - เท่าที่ทราบมีด้วยกันสิบเอ็ดก็อปปีรวมทั้งภาพหนึ่งที่เขียนโดยการาวัจโจเอง ที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่หอศิลป์ดอเรียแปมฟิลจ์ในกรุงโรม[1] ผู้ที่สั่งงานเขียนนี้ก็คงทราบว่าเป็นภาพเขียนที่มีอิทธิพลจากงานเขียนของไมเคิล แอนเจโลในชาเปลซิสติน แต่จุดประสงค์ของการเขียนไมเคิล แอนเจโลของรูปชายเปลือยขนาดใหญ่นี้ก็ยังคลุมเครือ บางคนก็กล่าวว่าเป็นภาพของเทวดา บ้างก็กล่าวว่าเป็นสัญลักษณ์ของความงามของมนุษย์ แต่สำหรับการาวัจโจแล้วการวางท่าเช่นที่ว่าของผู้ช่วยเหมือนเป็นการชวนขันของผู้ที่เป็นที่น่านับถือเช่นไมเคิล แอนเจโล
ระหว่างปี ค.ศ. 1601 ถึงปี ค.ศ. 1602 การาวัจโจเขียนภาพอยู่ในวังของมัตเตอิและได้รับงานจ้างมากมายจากผู้มีฐานะดีหลังจากได้รับความสำเร็จจากการเขียนภาพ “การพลีชีพของนักบุญแม็ทธิว” และภาพ “พระเยซูเรียกนักบุญแม็ทธิว” สำหรับชาเปลคอนทราเรลลิ ช่วงนี้เป็นช่วงที่การาวัจโจได้รับงานจ้างมากที่สุด มัตเตอิบันทึกค่าจ้างที่ได้รับสองครั้งสำหรับการาวัจโจในเดือนกรกฎาคมและเดือนธันวาคมที่แสดงเวลาเริ่มเขียนและเวลาเขียนเสร็จของภาพ “ยอห์นผู้ให้บัพติศมา” ดั้งเดิม ค่าจ้างที่ได้รับเป็นจำนวนที่ไม่มากนักเพราะเป็นรูปคนคนเดียวในภาพ ในเดือนมกราคมในปีเดียวกันการาวัจโจก็ได้รับค่าจ้างจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบสคูดิสำหรับ “พระกระยาหารค่ำที่เอ็มมัส” ต่อมาก็เป็นภาพ “ความกังขาของนักบุญทอมัส” ของวินเชนโซ จุสตินิอานิ และในเดือนมกราคม ค.ศ. 1603 มัตเตอิก็จ่ายเงินอีกหนึ่งร้อยยี่สิบห้าสคูดิสำหรับ “พระเยซูถูกจับ” ภาพเขียนแต่ละภาพก็ยิ่งเพิ่มความมีชื่อเสียงให้แก่การาวัจโจในบรรดานักสะสม ภาพ “พระกระยาหารค่ำ” ยังคงเหลืออยู่กว่ายี่สิบก็อปปีให้เห็น และ “พระเยซูถูกจับ” ก็ยิ่งมากกว่านั้น
แม้ว่าจะได้รับความสำเร็จและมีชื่อเสียงอย่างกว้างขวงแต่การาวัจโจก็ยังไม่ได้รับงานจ้างจากสถาบันศาสนาหรือลัทธินิกายใดใด งานเขียนภายในชาเปลคอนทราเรลลิเป็นงานจ้างส่วนบุคคลแม้ว่าผู้รับงานจะเป็นนักบวชของวัดก็ตาม ปัญหาของการาวัจโจอยู่ที่ความเป็นอนุรักษนิยมของสถาบันที่แม้ว่าจะเป็นสถาบันของการปฏิรูปก็ตาม ถึงกับจะมีขบวนการในการสร้างดัชนีรายการรูปต้องห้าม คาร์ดินัลผู้มีตำแหน่งหน้าที่สูงบางคนก็พิมพ์คู่มือสำหรับการพิจารณาจิตรกรรม โดยเฉพาะสำหรับนักบวชผู้มีหน้าที่รับงานศิลปะเพื่อใช้เป็นแนวทางในการรับหรือปฏิเสธงาน ฉะนั้นงานกึ่งนอกศาสนาของการาวัจโจเช่น “ยอห์นผู้ให้บัพติศมา” และเกี่ยวโยงกับงานแบบมนุษยนิยมและเรอเนสซองซ์ที่เลิกนิยมกันไปแล้วก็เป็นที่แน่นอนว่าเป็นงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในวงการของสถาบันศาสนา
ยอห์นผู้ให้บัพติศมา - แคนซัสซิตี
แก้ยอห์นผู้ให้บัพติศมา | |
---|---|
ศิลปิน | การาวัจโจ |
ปี | ราว ค.ศ. 1604 |
ประเภท | จิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ |
สถานที่ | พิพิธภัณฑ์เนลสัน-แอ็ทคินส์, แคนซัสซิตี |
นักบุญยอห์นในภาพ “พระแม่มารีและพระบุตรและยอห์นผู้ให้บัพติศมา และนักบุญ” ของเจ็นทิเล เบลลินีเป็นภาพที่วาดตามแบบที่วาดกันมาที่เมื่อเห็นก็จะทราบได้ทันทีว่าเป็นนักบุญยอห์น แต่งานเขียนของการาวัจโจเป็นนักบุญยอห์นที่เป็นเขียนอย่างเป็นการส่วนตัวที่สร้างความฉงนให้แก่ผู้ชม
ในปี ค.ศ. 1604 การาวัจโจได้รับจ้างให้วาดภาพนี้โดยนายธนาคารของพระสันตะปาปาและผู้อุปถัมภ์ศิลปะอ็อตตาวิโอ คอสตาผู้เป็นเจ้าของภาพ “จูดิธตัดหัวโฮโลเฟิร์นเนส” และภาพ “มาร์ธาและแมรี แม็กดาเลน” ของการาวัจโจอยู่แล้ว คอสตาตั้งใจจะส่งภาพนี้ไปใช้เป็นฉากแท่นบูชาสำหรับชาเปลเล็กๆ ในแคว้นคอนเซ็นเต (Conscente) ซึ่งเป็นแคว้นเล็กของตนเอง แต่เมื่อเสร็จคอสตาก็ชอบภาพนี้มากจนเก็บเอาไว้ดูเองและส่งก็อปปีไปให้แคว้นแทนที่ ในปัจจุบันภาพเขียนนี้เป็นของพิพิธภัณฑ์เนลสัน-แอ็ทคินส์ที่แคนซัสซิตีในสหรัฐอเมริกา
“ความตัดกันอย่างแรงของแสงและความมืดทำให้มีความรู้สึกว่านักบุญยอห์นเอนตัวจากเงามืดลึกของฉากหลังมายังบริเวณที่สว่างที่เป็นบริเวณของผู้ชมภาพ... อารมณ์หมกมุ่นครุ่นคิดของนักบุญยอห์นเนลสัน-แอ็ทคินส์เป็นที่ทำให้นักเป็นที่ต้องตาของผู้มีความเห็นเกือบทุกคน ดูเหมือนกับว่าการาวัจโจจะถ่ายทอดอย่างเป็นนัยยะถึงความรู้สึกรันทดในการเผยแพร่ศาสนา และความตายอันไม่สมควรที่จะเกิดขึ้นและอันไม่ควรแก่กาลเวลาที่จะเกิดขึ้น นัยยะของภาพอาจจะเป็นการถ่ายทอดความรู้สึกของสภาวะทางจิตใจของการาวัจโจเองในขณะนั้นก็เป็นได้ นอกจากนั้นอารมณ์ของภาพก็อาจจะเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการใช้สอยของภาพ เพราะเป็นภาพที่ใช้ในสถานที่สำหรับการพบปะของคณะภราดร (confraternity) ผู้มีหน้าที่ดูแลคนเจ็บป่วยและผู้ที่ใกล้ตาย และมีหน้าที่ฝังศพของผู้ที่ตายด้วยโรคระบาด”[2] เก็บถาวร 2006-05-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
นักเขียนชีวประวัติปีเตอร์ รอบบ์ชี้ให้เห็นว่าภาพนักบุญยอห์นภาพที่สี่นี้ดูเหมือนเป็นเงาสะท้อนทางจิตใจของภาพแรก ซึ่งสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏในภาพทั้งสองกลับด้านกันหมด แสงสว่างตอนเช้าที่อาบภาพแรกกลายมาเป็นแสงจัดและตัดกันราวกับแสงจันทร์ในภาพที่สอง หรือสีเขียวจัดของใบไม้กลายมาเป็นใบไม้แห้งสีน้ำตาล นอกจากนั้นในภาพหลังนี้ก็เกือบไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ ที่บ่งให้เห็นว่าเป็นภาพเขียนเกี่ยวกับศาสนา—ไม่มีรัศมี, ไม่มีแกะ, ไม่มีขนอูฐหรือขนแกะ, ไม่มีเข็มขัด มีก็แต่เพียงอย่างเดียวคือกางเขนใบหญ้า (ที่บรรยายโดยพระเยซูว่าเป็น “ใบหญ้าที่ไหวด้วยสายลม”) ภาพเขียนแสดงให้เห็นสิ่งที่รอบบ์บรรยายว่าเป็น “ความรู้สึกเป็นนาฏกรรมของมนุษย์” ของการาวัจโจ ชายหนุ่มในภาพที่เกือบจะเป็นผู้ใหญ่ดูเหมือนจะหมกมุ่นอยู่กับความคิดที่พระเจ้าเท่านั้นที่จะทราบ การวางภาพของการาวัจโจที่เป็นเพียงตัวนักบุญนั่งโดดเดี่ยวโดยปราศจากสิ่งประกอบอื่นๆ ที่เป็นการบรรยายภาพที่ทำให้เกิดคำถามต่างๆ เช่น จะทราบได้อย่างไรว่านี่คือนักบุญยอห์น หรือเกิดอะไรขึ้นในภาพ เป็นการวางภาพที่ใหม่ที่ไม่เคยทำกันมาก่อน จิตรกรตั้งแต่จอตโต ดี บอนโดเนมาจนถึงเจ็นทิเล เบลลินีและหลังจากนั้นวาดภาพที่ดูแล้วเข้าใจง่ายที่ประกอบด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับนักบุญยอห์นที่เข้าใจกันโดยทั่วไป การวางภาพที่แสดงอารมณ์ที่อยู่ในโลกของตนเองแทนที่จะแสดงสัญลักษณ์ทางศาสนาที่เป็นที่ยอมรับของสังคมจึงเป็นความคิดที่ใหม่ที่นอกแนว
ยอห์นผู้ให้บัพติศมา - โรม (หอศิลป์โบราณแห่งชาติ)
แก้ยอห์นผู้ให้บัพติศมา | |
---|---|
ศิลปิน | การาวัจโจ |
ปี | ราว ค.ศ. 1604 |
ประเภท | จิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ |
สถานที่ | หอศิลป์โบราณแห่งชาติ, โรม |
ภาพนี้เป็นหนึ่งในสองภาพของ “ยอห์นผู้ให้บัพติศมา” ที่การาวัจโจเขียนในปีหรือราวปี ค.ศ. 1604 (หรืออาจจะเป็นปี ค.ศ. 1605) เป็นภาพที่เป็นส่วนหนึ่งของงานสะสมของวังคอร์ซินิ (Palazzo Corsini) ของหอศิลป์โบราณแห่งชาติ[3] ภาพนี้ก็เช่นเดียวกับภาพที่เขียนให้กับอ็อตตาวิโอ คอสตา สัญลักษณ์ต่างๆ ถูกถอดออกหมดไม่เหลือแม้แต่ “เศษขนอูฐ” และแม้แต่กางเขนใบหญ้าตรงมุมซ้ายของภาพก็เป็นเพียงนัยยะเท่านั้น ฉากหลังและสิ่งแวดล้อมรอบตัวยิ่งมืดกว่าภาพก่อนหน้านั้น และเช่นเดียวกับภาพก่อนหน้านั้นไม่มีสิ่งประกอบที่เป็นการบรรยายเรื่องราวของภาพ
การาวัจโจไม่ใช่จิตรกรคนแรกที่เขียนนักบุญยอห์นเป็นชายเปลือย - ก่อนหน้านั้นก็มีงานเขียนของเลโอนาร์โด ดา วินชี, ราฟาเอล, อันเดรอา เดล ซาร์โต และผู้อื่น - แต่การาวัจโจเสนอสิ่งใหม่คือความเป็นธรรมชาติและความเป็นนาฏกรรม นักบุญยอห์น นักบุญยอห์นของการาวัจโจเป็นนักบุญที่สำบุกสำบัน มือที่คล้ำแดดและคอที่เหมือนผู้ที่ต้องทำงานหนักตัดกับลำตัวส่วนบนที่ขาวโพลนทำให้ผู้ดูทราบว่าเป็นนายแบบจริงที่เพิ่งจะมาเปลื้องเสื้อให้จิตรกรเขียน ซึ่งต่างจากนักบุญยอห์นของราฟาเอลซึ่งเป็นนักบุญยอห์นแบบอุดมคติและไม่มีบุคลิกที่เป็นเอกลักษณ์เช่นเดียวกับการเขียนยุวเทพของราฟาเอล
ยอห์นผู้ให้บัพติศมา - วาลเล็ตตา
แก้ยอห์นผู้ให้บัพติศมา | |
---|---|
ศิลปิน | การาวัจโจ (ยังไม่ตกลงกัน) |
ปี | ราว ค.ศ. 1608 |
ประเภท | จิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ |
สถานที่ | งานสะสมโบเนลลิ, วาลเล็ตตา |
“ยอห์นผู้ให้บัพติศมาที่น้ำพุ” เป็นงานเขียนของผู้สะสมส่วนบุคคลที่มอลตา ซึ่งทำให้ยากต่อการศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ ยอห์น แกชกล่าวว่าเป็นงานเขียนของการาวัจโจเพราะวิธีการเขียนผิวหนังของภาพนี้คล้ายกันกับภาพ “คิวปิดหลับ” ที่เชื่อกันว่าเขียนโดยการาวัจโจและเป็นภาพที่เขียนระหว่างที่อยู่ในมอลตา ภาพเขียนได้รับความเสียหายอย่างหนักโดยเฉพาะส่วนที่เป็นทิวทัศน์
ภาพเขียนที่เป็นนักบุญยอห์นกำลังจะดื่มน้ำจากน้าพุมาจากพระวรสารที่กล่าวว่านักบุญยอห์นดื่มแต่น้ำระหว่างที่เร่ร่อน ลักษณะของภาพเขียนเป็นลักษณะที่แท้จริงของการใช้ค่าต่างแสงของการาวัจโจ ยอห์น แกชกล่าวว่าการาวัจโจ “แสดงความกระหายแสดงได้อย่างงดงามโดยใช้การวางท่าของร่างกายและใบหน้า”
ถ้าภาพนี้เขียนโดยการาวัจโจจริงก็คงเป็นภาพที่เขียนราวระหว่างปี ค.ศ. 1607 ถึงปี ค.ศ.1608 เมื่ออยู่ที่มอลตา งานที่เขียนในช่วงเดียวกันนี้ก็ได้แก่ “ภาพเหมือนของอลอฟ เด วิยาคอร์ตและเด็กรับใช้” และ “การตัดหัวยอห์นผู้ให้บัพติศมา” ภาพหลังอยู่ที่โอราทอรีของมหาวิหารร่วมเซนต์ยอห์นและเป็นงานเขียนชิ้นเดียวที่ลงชื่อ
ในมอลตาการาวัจโจได้รับการยอมรับไห้เป็นสมาชิกของอัศวินแห่งมอลตาและกลายเป็นจิตรกรประจำสำนักของอัศวิน แต่การพำนักอยู่ที่มอลตาก็มายุติลงเมื่อการาวัจโจถูกขับออกจากลัทธิ แต่เหตุผลที่ถูกขับก็ยังไม่เป็นที่ทราบ นักเขียนสมัยใหม่เชื่อว่ามีสาเหตุมาจากอาชญากรรม นักเขียนชีวประวัติร่วมสมัยจิโอวานนิ บากลิโอเนกล่าวว่าการาวัจโจขัดแย้งกับอัศวินแห่งความยุติธรรม (อัศวินจากขุนนางยุโรป) เมื่อจิโอวานนิ เปียโตร เบลโลริไปดูภาพ “การตัดหัวยอห์นผู้ให้บัพติศมา” ห้าสิบปีต่อมาก็บันทึกว่าการาวัจโจไปมีเรื่องกับอัศวินขุนนางซึ่งทำให้ไม่เป็นที่พอใจของแกรนด์มาสเตอร์จึงทำให้ต้องหนีออกจากเกาะ อาจจะเป็นได้ว่าความขัดแย้งทำให้เกิดการดวลซึ่งเป็นอาชญากรรมที่รุนแรง แต่โทษสำหรับการดวลคือการจับเข้าคุกไม่ใช่ประหารชีวิต โทษประหารชีวิตใช้สำหรับฆาตกร และถ้ามีผู้เสียชีวิตจากการดวลก็เท่ากับเป็นการฆาตกรรม ซึ่งจากบันทึกของบากลิโอเนและเบลโลริทำให้สันนิษฐานกันว่าผู้ที่ดวลรอดมาได้ ปีเตอร์ รอบบ์ในหนังสือ “M” เสนอว่าเป็นเกี่ยวกับเพศแต่ก็เป็นเพียงการสันนิษฐานเท่านั้น
ยอห์นผู้ให้บัพติศมา - โรม (หอศิลป์บอร์เกเซ)
แก้ยอห์นผู้ให้บัพติศมา | |
---|---|
ศิลปิน | การาวัจโจ |
ปี | ราว ค.ศ. 1610 |
ประเภท | จิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ |
สถานที่ | หอศิลป์บอร์เกเซ, โรม |
ปีที่เขียนของภาพ “ยอห์นผู้ให้บัพติศมา” ของหอศิลป์บอร์เกเซยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกัน แต่เชื่อกันมาเป็นเวลานานว่าเป็นภาพที่ซื้อโดยคาร์ดินัลสคิปิโอเน บอร์เกเซราวระหว่างที่มาถึงโรมในปี ค.ศ. 1605 ถึงปีที่การาวัจโจหนีออกจากโรมในปี ค.ศ. 1606 แต่โรเบอร์โต ลองกีห์กล่าวว่าเป็นภาพที่เขียนเมื่อการาวัจโจพำนักอยู่ที่ซิซิลี (หลังปี ค.ศ. 1608) จากเหตุผลที่ว่าการใช้สีคล้ายคลึงกับภาพที่เขียนในช่วงเดียวกันนั้น ความเห็นของลองกีห์เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นและเมื่อไม่นานมานี้ก็มีความเห็นโดยทั่วไปที่ว่าเป็นภาพที่เขียนในปี ค.ศ. 1610
ภาพนี้เป็นภาพเด็กชายนั่งห่อตัวเล็กน้อยบนฉากหลังที่มืดและแกะที่กำลังและเล็มใบองุ่นแห้งสีน้ำตาล นักบุญยอห์นดูเหมือนจะนั่งอยู่ในห้วงนึกหรืออาจจะคำนึงถึงความคิดอันหมองหม่นถึงการเสียสละของพระเยซูที่จะเกิดขึ้น หรืออาจจะเป็นเพียงความรู้สึกเบื่อของตัวแบบที่นั่งให้เขียนมาเป็นเวลาหลายชั่วโมง งานนี้ก็เช่นเดียวกับงานอื่นๆ ของการาวัจโจความรู้สึกที่สื่อออกมาจากภาพมองได้ทั้งสองทาง เสื้อคลุมแดงผืนใหญ่ห่อตัวเด็กชายที่ผอมเล็กเช่นเดียวกับเพลิงในความมืดและเป็นสิ่งเดียวที่มีสีสันนอกไปจากร่างที่ซีดขาวของนักบุญ ยอห์น แกชกล่าวว่า “เมื่อเทียบกับนักบุญยอห์นคาปิโตลิเนและแคนซัสซิตี...นักบุญยอห์นฉบับบอร์เกเซก็เป็นภาพที่ใช้สีที่ลึกกว่า (richly colouristic) ที่เป็นการแสดงออกของสีแดง, ขาว และน้ำตาลทอง และเป็นภาพที่มีความเป็นอุดมคติน้อยกว่า และเป็นการเขียนแบบที่เร้าอารมณ์ทางเพศ (sensuous approach) ในการเขียนภาพชายเปลือย ซึ่งเป็นภาพที่มาก่อนหน้าของภาพที่ชายที่มีแขนขาที่ออกจะอวบในงานเขียนบางภาพที่เนเปิลส์ เช่นภาพ “พระเยซูถูกเฆี่ยน” หรือ “การตัดหัวยอห์นผู้ให้บัพติศมา””
บอร์เกเซเป็นนักสะสมที่ช่างเลือกและมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้ที่หางานสะสมของงานที่ต้องตาด้วยวิธีที่รวมทั้งการขโมยเอา บอร์เกเซหรืออันที่จริงลุงสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 5 เพิ่งจับจูเซปเป เซซารีเข้าคุกด้วยข้อหาเท็จเพื่อที่จะยึดงานสะสมกว่าร้อยภาพของเซซารีที่รวมทั้งงานของการาวัจโจที่ตั้งแสดงอยู่ในหอศิลป์บอร์เกเซในปัจจุบัน (“เด็กชายปอกผลไม้”, “บาคคัสไม่สบาย” และ“เด็กชายกับตะกร้าผลไม้”) และมารวมกับงานอื่นของการาวัจโจที่บอร์เกเซมีอยู่แล้วที่รวมทั้ง “นักบุญเจอโรม” และ “พระแม่มารีและพระบุตรกับนักบุญแอนน์”
เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1610 ชีวิตของการาวัจโจก็เริ่มจะยุ่งเหยิง การวิจารณ์งานของจิตรกรจากชีวิตส่วนตัวเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายในการทำแต่ในกรณีของการาวัจโจเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอดได้และนักเขียนทุกคนก็ดูเหมือนจะยอมยกเว้นในข้อนี้กับงานเขียนของการาวัจโจ ในปี ค.ศ. 1606 การาวัจโจหนีออกจากโรมหลังจากที่ฆ่าคนระหว่างที่ทะเลาะกันกลางถนน; ในปี ค.ศ. 1608 การาวัจโจก็ถูกจำคุกในมอลตาแต่ก็หลบหนีได้ and again escaped; ในปี ค.ศ. 1609 การาวัจโจก็ถูกไล่ตามไปทั่วซิซิลีจนในที่สุดก็ต้องหนีไปเนเปิลส์เมื่อไปถูกทำร้ายกลางถนนเพียงไม่กี่วันหลังจากไปถึงที่นั่น ในระหว่างนั้นก็อยู่ในการพิทักษ์ของตระกูลโคโลนนาและพยายามของอภัยโทษจากพระสันตะปาปาเพื่อที่จะได้กลับไปโรมได้ อำนาจในการให้อภัยโทษอยู่ในมือของคาร์ดินัลบอร์เกเซผู้หวังจะได้รับการตอบแทนในรูปของภาพเขียน ข่าวที่ว่าการอภัยโทษที่เกือบจะได้รับมาถึงเนเปิลส์กลางปีนั้นและการาวัจโจก็ออกเดินทางพร้อมกับภาพเขียนสามภาพ ข่าวต่อมาคือการาวัจโจเสียชีวิตด้วย “ไข้” ที่พอร์โตแอร์โคเล เมืองท่าที่เป็นของสเปนเหนือกรุงโรม
ยอห์นผู้ให้บัพติศมา - มิวนิก
แก้ยอห์นผู้ให้บัพติศมา | |
---|---|
ศิลปิน | การาวัจโจ |
ปี | ราว ค.ศ. 1610 |
ประเภท | จิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ |
สถานที่ | งานสะสมส่วนบุคคล, มิวนิก |
กำลังแก้ไข ยอห์นแบปติสต์ (การาวัจโจ) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันโดย Michelangelo Merisi ดาจิโอที่สร้างขึ้นใน 1610 และจะถูกเก็บไว้ในขณะนี้ในคอลเลกชันส่วนตัวในโมนาโกบาวาเรีย ภาพนี้เป็นหนึ่งในเจ็ดรุ่นของจิตรกรลอมบาร์ดได้ทุ่มเทกับรูปแบบของ "นักบุญยอห์น" ที่ยอห์นแบ๊บติสเป็นเด็กหรือเป็นแนววัยรุ่น
อ้างอิง
แก้- ↑ New Advent Catholic Encyclopedia, Michaelangelo Morigi (Caravaggio)
- ↑ New Advent Catholic Encyclopedia, St. John the Baptist
- ↑ Gash, Caravaggio, p.44.
- ↑ Robb, M.
ดูเพิ่ม
แก้