นกชาปีไหน
นกชาปีไหน หรือ นกกะดง[2] (อังกฤษ: Nicobar pigeon, Nicobar dove; ชื่อวิทยาศาสตร์: Caloenas nicobarica) เป็นนกชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์นกพิราบและนกเขา (Columbidae) นับเป็นนกเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่ยังคงดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ในสกุล Caloenas ในขณะที่ชนิดอื่น ๆ สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว[3] โดยมีความใกล้ชิดกับนกโดโดที่สูญพันธุ์ไปแล้วด้วย
นกชาปีไหน | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Aves |
อันดับ: | Columbiformes |
วงศ์: | Columbidae |
สกุล: | Caloenas |
สปีชีส์: | C. nicobarica |
ชื่อทวินาม | |
Caloenas nicobarica (Linnaeus, 1758) | |
ชนิดย่อย | |
|
นกชาปีไหน มีขนาดลำตัวเท่า ๆ กับไก่แจ้ มีขนาดเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 40-41 เซนติเมตร มีลำตัวขนาดใหญ่ แต่มีหัวขนาดเล็กและมีเนื้อนูนเป็นตุ่มบริเวณจมูก ขนตามลำตัวเป็นสีเขียวเหลือบเทา ขนหางสีขาว แต่จะมีขนบริเวณคอห้อยยาวออกมาเหมือนสร้อยคอ ซึ่งขนนี้จะยาวขึ้นเมื่อนกมีอายุมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีขาขนาดใหญ่แข็งแรง เพราะเป็นนกที่ชอบเดินหากินตามพื้น สีของมันน่าจะมีไว้เพื่อดึงดูดตัวเมีย
นกชาปีไหน แม้จะเป็นนกที่หากินบนพื้นดินเป็นหลัก แต่ก็เป็นนกที่สามารถบินได้ มีรายงานว่าสามารถบินข้ามไปมาระหว่างเกาะต่าง ๆ ได้ เป็นนกที่หากตกใจจะบินหรือกระโดดขึ้นบนต้นไม้ และไม่ค่อยส่งเสียงร้องนัก นานครั้งจึงจะได้ยินเสียงร้องทีหนึ่ง แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดย่อย (ดูในตาราง)[4]
พบกระจายพันธุ์เฉพาะหมู่เกาะต่าง ๆ บริเวณทะเลอันดามันและอินโด-แปซิฟิก เช่น หมู่เกาะนิโคบาร์, หมู่เกาะอันดามัน, หมู่เกาะโซโลมอนและปาเลา ในประเทศไทยจัดเป็นนกที่หาได้ยากมากชนิดหนึ่ง โดยจะอาศัยอยู่ในป่าดิบหรือป่าชายหาดของหมู่เกาะสิมิลัน, หมู่เกาะสุรินทร์ หรือหมู่เกาะอ่างทอง รวมถึงอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี เท่านั้น[5]
เป็นนกที่ถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักรราช 2535 แต่ปัจจุบันมีการเพาะขยายพันธุ์ได้แล้วโดยทางการของไทย เมื่อปี พ.ศ. 2538 พบว่านกชาปีไหนสามารถวางไข่ได้ตลอดทั้งปี โดยสร้างรังแบบหยาบ ๆ รูปร่างคล้ายจาน โดยใช้กิ่งไม้และใบไม้แห้งวางไข่ ครั้งละเพียง 1 ฟอง มีขนาด 31.64x45.0 มิลลิเมตร น้ำหนัก 25.05 กรัม พ่อและแม่นกช่วยกันฟักไข่ มีระยะฟัก 25-29 วัน แม่นกสามารถจะวางไข่ชุดใหม่ต่อไปได้หลังจากลูกนกมีอายุได้ประมาณ 40 วัน ลูกนกออกจากไข่ไม่มีขนปกคลุมตัว จัดอยู่ในพวกอัลติเชียล (นกที่บินไม่ได้) พ่อและแม่นกช่วยกันเลี้ยงดูลูกนกจนมีอายุได้ 34-36 วัน ลูกนกจึงจะทิ้งรังและกินอาหารเองได้ ขนชุดแรกขึ้นปกคลุมตัวสมบูรณ์หมด เมื่อลูกนกมีอายุได้ 3 เดือน และเมื่อมีอายุ 7 เดือน มีการผลัดขนปีกชุดแรก และมีขนชุดใหม่งอกขึ้นมาแทนที่[6] [7] [8]
อ้างอิง
แก้- ↑ BirdLife International (2012). "Caloenas nicobarica". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2013.2. สืบค้นเมื่อ 26 November 2013.
- ↑ "ชาปีไหน". พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542.
- ↑ Steadman, David William (2006). Extinction and Biogeography of Tropical Pacific Birds. University of Chicago Press. ISBN 0-226-77142-3.
- ↑ "Caloenas nicobarica". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
- ↑ "ตัวเดียวในกระบี่! 'นกชาปีไหน' โผล่โชว์ตัวเกาะห้อง หลังเคยพบ 3 ปีก่อน". ไทยรัฐ.
- ↑ การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์นกชาปีไหน[ลิงก์เสีย]
- ↑ "นกชาปีไหน". ทะเลไทย.
- ↑ "นกชาปีไหน". มายเฟิร์สเบรน.[ลิงก์เสีย]
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Caloenas nicobarica ที่วิกิสปีชีส์