ทีโอ วอลคอตต์

(เปลี่ยนทางจาก ธีโอ วัลคอตต์)

ทีโอ เจมส์ วอลคอตต์ (อังกฤษ: Theo James Walcott; เกิด 16 มีนาคม ค.ศ. 1989) เป็นอดีตนักฟุตบอลชาวอังกฤษ ที่เล่นในตำแหน่งปีกขวาและกองหน้าเป็นหลัก และเขาเป็นอดีตผู้เล่นของอาร์เซนอลและทีมชาติอังกฤษอีกด้วย

ทีโอ วอลคอตต์
วอลคอตต์ขณะเล่นให้กับอาร์เซนอลในปี 2013
ข้อมูลส่วนตัว
ชื่อเต็ม ทีโอ เจมส์ วอลคอตต์[1]
วันเกิด (1989-03-16) 16 มีนาคม ค.ศ. 1989 (35 ปี)[2]
สถานที่เกิด สแตนมอร์ อังกฤษ
ส่วนสูง 1.76 เมตร (5 ฟุต 9 นิ้ว)[3]
ตำแหน่ง ปีก / กองหน้า
สโมสรเยาวชน
1999–2000 นิวบรี
2000 สวินดันทาวน์
2000–2005 เซาแทมป์ตัน
สโมสรอาชีพ*
ปี ทีม ลงเล่น (ประตู)
2005–2006 เซาแทมป์ตัน 21 (4)
2006–2018 อาร์เซนอล 270 (65)
2018–2021 เอฟเวอร์ตัน 77 (10)
2020–2021เซาแทมป์ตัน (ยืม) 20 (3)
2021–2023 เซาแทมป์ตัน 29 (2)
รวม 418 (84)
ทีมชาติ
2004–2005 อังกฤษ อายุไม่เกิน 16 ปี 4 (0)
2005–2006 อังกฤษ อายุไม่เกิน 17 ปี 14 (5)
2006 อังกฤษ อายุไม่เกิน 19 ปี 1 (1)
2006–2010 อังกฤษ อายุไม่เกิน 21 ปี 21 (6)
2006 อังกฤษ บี 1 (0)
2006–2016 อังกฤษ 47 (8)
*นัดที่ลงเล่นและประตูที่ยิงให้แก่สโมสรเฉพาะลีกในประเทศเท่านั้น

สโมสร

แก้

เซาแทมป์ตัน

แก้

ทีโอ วอลคอตต์เริ่มเล่นฟุตบอลในทีมเยาวชนของเซาแทมป์ตันเมื่อฤดูกาล 2004-05 ที่สามารถทะลุเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศฟุตบอลเยาวชนเอฟเอคัพไปเจอกับอิปสวิชทาวน์ได้ นอกจากนั้น เขายังเป็นนักเตะที่อายุน้อยที่สุดที่ได้ลงเล่นให้กับสโมสรฟุตบอลเซาแทมป์ตันทีมสำรอง เมื่ออายุเพียง 15 ปีกับอีก 175 วันเท่านั้น โดยถูกส่งลงมาจากม้านั่งสำรองในการเจอกับวัตฟอร์ตเมื่อเดือนกันยายน ปี 2004[4] อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่เคยเล่นในพรีเมียร์ลีกกับเซาแทมป์ตันเลย เนื่องจากเซาแทมป์ตันตกชั้นมาเล่นในลีกแชมเปียนชิพเมื่อสิ้นฤดูกาล 2004-05[5]

ก่อนเริ่มต้นฤดูกาล 2005-06 นั้น วอลคอตต์ตกเป็นข่าวว่าจะได้ไปเล่นในทีมชุดใหญ่ทั่วสก็อตแลนด์หลังจากออกจากโรงเรียนได้เพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น ศูนย์หน้ารายนี้กลายเป็นนักเตะที่อายุน้อยที่สุดที่เคยมีมาที่ได้เล่นฟุตบอลให้กับทีมชุดใหญ่ของเซาแทมป์ตันด้วยอายุเพียง 16 ปีกับ 143 วัน โดยถูกส่งลงสนามจากม้านั่งสำรองในเกมที่เซาแทมป์ตันเสมอกับวูล์ฟแฮมตันวันเดอเรอร์สในบ้าน ในศึกแชมเปียนชิพอังกฤษ

วอลคอตต์ได้ลงเล่นในทีมชุดใหญ่ในฐานะตัวจริงครั้งแรกในนัดที่ไปเยือนลีดส์ยูไนเต็ด เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ปี 2005 และสามาระยิงประตูในทีมชุดใหญ่ได้เป็นประตูแรกในเกมเดียวกันนี้เอง เขายิงประตูได้อีกครั้งในเกมกับมิลล์วอลล์ในอีก 4 วันถัดมา และอีกลูกหนึ่งในเกมที่ได้เล่นเต็มเกมที่เจอกับสโตคซิตีในบ้านในวันเสาร์ถัดมา จากนั้นเขาก็มีชื่อเสียงขึ้นมาทันทีทันใด และยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลดาวรุ่งยอดเยี่ยมของสำนักข่าวบีบีซีจนถึงรอบ 3 คนสุดท้ายอีกด้วย โดยรางวัลนี้มีการมอบขึ้นในวันที่ 11 ธันวาคม ปี 2005

ก่อนจะก้าวขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ของเซาแทมป์ตันนั้น วอลคอตต์ยังเคยโชว์ฝีเท้ามาในแมตช์ประจำปี 2005 อีกด้วย ฟอร์มการเล่นของเขานั้นสร้างความตกตะลึงให้กับบรรดาผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษมาก ซึ่งหลายคนก็บอกว่าเขาคือนักเตะที่น่าจะรุ่งที่สุดคนหนึ่งในบรรดานักเตะเยาวชนที่มีพรสวรรค์ของอังกฤษในตอนนั้ จากนั้นก็มีข่าวลืออกมาว่าวอลคอตต์อาจจะย้ายไปเล่นในพรีเมียร์ชิพและสื่อก็รายงานว่าเขาตกเป็นข่าวกับทีมชั้นนำของเกาะอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็น อาร์เซนอล, เชลซี, แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด และ ทอตแนมฮ็อตสเปอร์ นอกจากนั้นก็ยังมีข่าวกับสโมสรยักษ์ใหญ่ทั่วยุโรปไม่ว่าจะเป็นเรอัลมาดริด, ยูเวนตุส, เอซีมิลาน และ บาร์เซโลนาอีกด้วย

อาร์เซนอล

แก้

ในที่สุด วอลคอตต์ก็ตกลงเซ็นสัญญากับอาร์เซนอล เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2005 ด้วยค่าตัวเริ่มต้น 5 ล้านปอนด์ และอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 12 ล้านปอนด์[6]ขึ้นอยู่กับจำนวนนัดที่ลงเล่นให้กับสโมสรและทีมชาติ ทำให้วอลคอตต์กลายเป็นนักเตะที่มีค่าตัวแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลสหราชอาณาจักรเมื่อเทียบกับบรรดานักเตะวัย 16 ปีด้วยกัน[7] แต่ต่อมา ในเดือนเมษายน 2008 สโมสรเซาแทมป์ตันที่โดนแรงกดดันจากปัญหาด้านการเงินมานานก็ตัดสินใจยอมลดค่าตัวของวอลคอตต์ให้เหลือเพียง 9.1 ล้านปอนด์เท่านั้น ข้อเสนอใหม่นี้หมายความว่าอาร์เซนอลต้องจ่ายเงินให้กับเซาแทมป์ตันทันที 1.6 ล้านปอนด์ และอีก 500,000 ปอนด์ในปีต่อมา ซึ่งเงินก้อนนี้ก็จะนำไปรวมกับเงิน 7 ล้านปอนด์ที่อาร์เซนอลจ่ายไปก่อนหน้านี้แล้ว ก็จะรวมเป็น 9.1 ล้านปอนด์พอดี[8]

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2006 วอลคอตต์ได้ลงเล่นให้กับทีมสำรองของอาร์เซนอลในนัดที่เจอกับทีมสำรองของพอร์ทสมัธที่ฮาวาน เขาทำประตูได้ในนัดนี้แต่อาร์เซนอลก็แพ้ไป 3-2 นอกจากนั้น วอลคอตต์ยังมีชื่ออยู่ในม้านั่งสำรองในเกมยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกรอบสองนัดแรกที่เจอกับเรอัลมาดริดที่สนามซานเตียโก เบร์นาเบวเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2006

วันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ. 2006 วอลคอตต์ได้ลงเล่นในฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเป็นครั้งแรกในสีเสื้อของอาร์เซนอล เขาถูกส่งลงมาจากม้านั่งสำรองในนาทีที่ 73 ในเกมกับแอสตันวิลลาซึ่งเป็นนัดเปิดสนามฤดูกาล 2006-07 และเป็นนัดแรกของสนามเอมิเรตส์สเตเดียมที่ได้ใช้ในการทำศึกพรีเมียร์ลีกอีกด้วย นอกจากนั้น วอลคอตต์ยังเปิดบอลให้กับกิลแบร์โต ซิลวาวอลเล่ย์ตีเสมอได้สำเร็จอีกด้วย

และวอลคอตต์ก็ได้ลงเล่นในศึกแชมเปียนส์ลีกเป็นครั้งแรกในเกมที่อาร์เซนอลแข่งขันรอบคัดเลือกรอบที่ 3 กับดินาโม ซาเกร็บนัดที่ 2 ทำให้เขาเป็นนักเตะที่อายุน้อยที่สุดของอาร์เซนอลที่ได้ลงเล่นในรายการยุโรป ซึ่งเจ้าของสถิติเก่าคือเชสก์ ฟาเบรกัสนั่นเอง และวอลคอตต์ก็ได้ลงเป็นตัวจริงให้กับอาร์เซนอลครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 2006 ในเกมที่พบกับวัตฟอร์ตในบ้าน

ผลงานของวอลคอตต์กับอาร์เซนอลและกับทีมชาติอังกฤษนั้นทำให้เขาได้รับรางวัลนักเตะดาวรุ่งยอดเยี่ยมแห่งปีของสำนักข่าวบีบีซี ในปี 2006 อีกด้วย[9]

วอลคอตต์ทำประตูแรกให้กับอาร์เซนอลได้ในเกมคาร์ลิงคัพรอบชิงชนะเลิศที่พบกับเชลซีที่สนามมิลเลนเนียมสเตเดียม คาร์ดิฟฟ์ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 และได้เป็นเจ้าของสถิตินักเตะอายุน้อยที่สุดอันดับ 2 ที่สามารถทำประตูได้ในฟุตบอลลีกคัพรอบชิงชนะเลิศ

วันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 2007 วอลคอตต์ก็ทำประตูแรกที่เอมิเรตส์สเตเดียมได้ในรายการยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกในเกมที่พบกับสลาเวีย ปราก โดยในนัดนั้นอาร์เซนอลถล่มคู่แข่งไปถึง 7-0 และวอลคอตต์ก็ทำได้ 2 ประตู โดยลูกยิงลูกที่สองของเขานั้นมักจะถูกนำไปเปรียบเทียบลูกยิงที่เธียร์รี่ อองรี ดาวยิงตำนานของทีมยิงให้กับอาร์เซนอลได้บ่อยๆ[10] วอลคอตต์ได้ขอยกประตูนี้ให้กับ ลัค พี่เขยของเขาที่เสียชีวิตไปเมื่อเดือนที่แล้ว

วันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 2008 วอลคอตต์ก็สามารถทำประตูในรายการคาร์ลิงคัพในนัดที่พบกับทอตแนมฮ็อตสเปอร์ โดยเป็นการยิงตีเสมอในนาทีที่ 79 (แต่สุดท้าย ทอตแนมฮ็อตสเปอร์ก็ผ่านเข้ารอบด้วยประตูรวมทั้งสองนัด 6-2) วอลคอตต์ทำประตูในพรีเมียร์ลีกได้สำเร็จในนักที่พบกับเบอร์มิงแฮมซิตีที่เซนต์แอนดรูว์เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2008 โดยยิงได้ 2 ประตูในเกมที่อาร์เซนอลเสมอกันไป 2-2

ในพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2013-14 วอลคอตต์ยิงประตูให้อาร์เซนอลเอาชนะคาร์ดิฟฟ์ซิตีไป 2-0 ในนาทีที่ 79 เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2014 จากนั้นในวันที่ 5 พฤษภาคม ปีเดียวกัน วอลคอตต์ได้รับบาดเจ็บในรายการเอฟเอคัพรอบสาม ที่อาร์เซนอลเอาชนะทอตนัมฮอตสเปอร์ คู่ปรับตลอดกาลไปได้ 2-0 วอลคอตต์ต้องถูกหามลงเปลสนามออกไป แต่ก็ยังทำท่าทางเย้ยหยันแฟนทอตนัมฮอตสเปอร์ด้วยการชูนิ้ว 2 นิ้วให้[11] วอลคอตต์ต้องพักรักษาตัวนานร่วม 1 ปี ทำให้พลาดการเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิล ก่อนที่จะหายกลับมาลงสนามได้อีกครั้งในต้นปี ค.ศ. 2015 และยิงประตูแรกในรอบ 1 ปีได้ ในเอฟเอคัพรอบสี่ ที่อาร์เซนอลบุกเอาชนะไบรตัน & โฮฟอัลเบียนไปได้ 2-3 โดยวอลคอตต์ยิงได้ตั้งแต่ 90 วินาทีแรก [12] และยิงได้เป็นครั้งแรกในพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ ในนัดที่ 23 ที่อาร์เซนอลเป็นฝ่ายเอาชนะแอสตันวิลลาไปได้ถึง 5-0 ที่สนามเอมิเรตส์สเตเดียม โดยวอลคอตต์ยิงได้ในนาทีที่ 63 นับเป็นประตูที่ 3 ในการแข่งขันนัดนี้ [13] และในนัดสุดท้ายของฤดูกาลนี้ อาร์เซนอล พบกับ เวสต์บรอมมิชอัลเบียน ที่สนามเอมิเรตส์สเตเดียม วอลคอตต์สามารถทำแฮตทริกได้ ในนาทีที่ 4, 15 และ 37 ทำให้อาร์เซนอลจบฤดูกาลลงด้วยอันดับที่ 3 นับเป็นอันดับที่ดีที่สุดในรอบหลายปี [14] และในเอฟเอคัพ ซึ่งอาร์เซนอลเป็นแชมป์เก่า และเข้าชิงชนะเลิศเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน วอลคอตต์สามารถยิงประตูให้ได้ในนาทีที่ 40 นับเป็นประตูแรก ซึ่งเมื่อจบการแข่งขัน อาร์เซนอลเอาชนะ แอสตันวิลลา ไปได้มากถึง 4-0 ทำสถิติเป็นทีมที่เป็นแชมป์รายการนี้มากที่สุด คือ 12 ครั้ง และเข้าชิงมากที่สุดอีกด้วย คือ 19 ครั้ง[15]

วอลคอตต์ยิงประตูที่ 100 ของตัวเองให้กับการเล่นให้กับทุกสโมสรรวมถึงระดับทีมชาติด้วย ด้วยการยิงให้กับอาร์เซนอล ในนัดที่ 5 ของพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2016–17 ที่พบกับฮัลล์ซิตี ที่สนามเคซีสเตเดียม ในนาทีที่ 55 นับเป็นประตูที่ 2 ของการแข่งขัน ทำให้อาร์เซนอลเอาชนะไปได้ 1–4[16]

ในต้นปี ค.ศ. 2017 ในการแข่งขันเอฟเอคัพรอบ 3 ที่อาร์เซนอลเป็นฝ่ายไปเยือนเซาแทมป์ตัน ที่สนามเซนต์แมรีส์ วอลคอตต์สามารถทำแฮตทริกได้ โดยยิงได้ในนาทีที่ 35, 69 และ 84 ผลการแข่งขันอาร์เซนอลชนะไปอย่างท่วมท้น 0–5[17]

เอฟเวอร์ตัน

แก้

ในต้นปี ค.ศ. 2018 หลังจากไม่ได้ลงเล่นเป็นตัวจริงในอาร์เซนอล วอลคอตต์ได้ย้ายไปสู่เอฟเวอร์ตันด้วยค่าตัวที่คาดว่าประมาณ 20 ล้านปอนด์ (900 ล้านบาท) สัญญา 3 ปีครึ่ง รวมระยะเวลาทั้งหมดที่อยู่กับอาร์เซนอลทั้งหมด 12 ปี [18]

เซาแทมป์ตัน

แก้

ในฤดูกาล 2020–21 วอลคอตต์ก็ได้กลับมาเซาแทมป์ตันแบบยืมตัว ซึ่งด้วยอาการบาดเจ็บของเขา ทำให้เขาไม่ค่อยทำผลงานดีสักเท่าไหร่ พอถึงฤดูกาล 2021–22 วอลคอตต์ตัดสินใจมาอยู่เซาแทมป์ตันอย่างถาวร แต่ผลงานของเขาค่อนข้างแย่ แล้วถึงอาการบาดเจ็บของเขา ทำผลงานไม่ค่อยดี และในฤดูกาล 2022–23 ทำให้เซาแทมป์ตันตกชั้นไปอยู่อีเอฟแอลแชมเปียนชิปพอจบฤดูกาล เขาก็หมดสัญญากับเซาแทมป์ตันด้วย

อำลาวงการฟุตบอล

แก้

หลังจากหมดสัญญากับเซาแทมป์ตัน วอลคอตต์ก็ได้เป็นนักฟุตบอลไร้สังกัตในขณะนั้น และในวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 2023 วอลคอตต์ตัดสินใจประกาศอำลาวงการฟุตบอลด้วยวัย 34 ปี

การติดทีมชาติ

แก้

วอลคอตต์ได้ลงเล่นให้กับทีมชาติอังกฤษชุดบี นัดที่พบกับเบลารุสเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 2006 ต่อมา วันที่ 30 พฤษภาคม ปีเดียวกัน วอลคอตต์ก็สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นนักเตะอังกฤษที่อายุน้อยที่สุดที่ติดทีมชาติชุดใหญ่เต็มตัวในนัดที่อังกฤษอุ่นเครื่องกับฮังการีที่โอลด์แทรฟฟอร์ด ด้วยอายุเพียง 17 ปีกับอีก 75 วันเท่านั้น โดยในนัดนั้น อังกฤษเอาชนะไป 3-1

อ้างอิง

แก้
  1. Hugman, Barry J., บ.ก. (2010). The PFA Footballers' Who's Who 2010–11. Edinburgh: Mainstream Publishing. p. 426. ISBN 978-1-84596-601-0.
  2. "T. Walcott". Soccerway. Perform Group. สืบค้นเมื่อ 18 December 2017.
  3. "Theo Walcott: Overview". Premier League. สืบค้นเมื่อ 5 September 2020.
  4. "Record Breaker!". saintsfc.co.uk. 2006-12-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-14. สืบค้นเมื่อ 2006-12-08.
  5. "Walcott spoilt for choice as Saints do their sums". The Guardian. 2006-01-10. สืบค้นเมื่อ 2006-07-07.
  6. "Walcott Goes". saintsfc.co.uk. 2006-01-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-26. สืบค้นเมื่อ 2006-07-07.
  7. "Arsenal complete Walcott transfer". BBC Sport. 2006-01-20. สืบค้นเมื่อ 2006-07-07.
  8. "Southampton lose £2.9m over Theo Walcott". Telegraph. 2008-04-01. สืบค้นเมื่อ 2008-04-01.
  9. "Walcott wins Young Sports award". CBBC Newsround. 2006-12-10. สืบค้นเมื่อ 2006-12-10.
  10. "Arsenal 7-0 Slavia Prague". BBC. 2007-10-03. สืบค้นเมื่อ 2008-03-07.
  11. ""เวนเกอร์" ป้อง "วัลคอตต์" ไม่ผิดชูนิ้วเย้ยแฟนไก่". ผู้จัดการออนไลน์. 2014-01-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2014-01-05.
  12. ""ปืนโต" เชือดหวิว 3-2 "วัลคอตต์-โอซิล" คัมแบ็กซัด". ผู้จัดการออนไลน์. 2014-01-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2014-01-26.
  13. หน้า 17 ต่อ 19 กีฬา, ปืนใหญ่ยิงสลุตวิลลายับ 5-0. "ปืนใหญ่รัวฆ่าสิงห์ผงาด". เดลินิวส์ฉบับที่ 23,853: วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 ปีมะเมีย
  14. "Final Whistle! Arsenal 4 – 1 WBA". facebook.com/Arsenal.in.th. 2015-05-24. สืบค้นเมื่อ 2015-05-25.
  15. ""ปืน" ถล่มวิลลา 4-0 ซิวเอฟเอสูงสุด 12 สมัย". ผู้จัดการออนไลน์. 2015-05-31. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-06-01. สืบค้นเมื่อ 2015-05-31.
  16. "คลิปไฮไลท์พรีเมียร์ลีก ฮัลล์ ซิตี้ 1-4 อาร์เซนอล Hull City 1-4 Arsenal". football-fun. September 17, 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-09-21. สืบค้นเมื่อ September 18, 2016.
  17. ""วัลคอตต์" แฮตทริกฆ่านักบุญ 5-0 ปืนลิ่วเอฟเอ". ผู้จัดการออนไลน์. 2017-01-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2017-01-29.
  18. "ทอฟฟีปิดจ๊อบซิว "วัลคอตต์" เสริมแนวรุก 20 ล้านป". ผู้จัดการออนไลน์. 2018-01-17. สืบค้นเมื่อ 2018-01-18.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้