ทางรถไฟผ่านถนนเสมอระดับ

ทางรถไฟผ่านถนนเสมอระดับ หรือทางผ่านเสมอระดับ (อังกฤษ: level crossing, railroad crossing) เป็นส่วนของทางรถไฟที่ตัดผ่านถนนในแนวเสมอระดับ ไม่ยกระดับเป็นสะพานหรือลดระดับเป็นทางลอด ทางผ่านเสมอระดับที่สมบูรณ์ ด้านถนนจะต้องมีสัญญาณเตือนหยุดการจราจรทางถนน และอาจมีคาน (หรือสายลวด) กั้นเครื่องกั้น ส่วนด้านทางรถไฟ ต้องมีสัญญาณผ่านถนนเสมอระดับหรือสัญญาณประจำที่ทำหน้าที่แจ้งพนักงานขับรถให้ทำขบวนผ่านทางผ่านนั้นได้ อย่างไรก็ตามมีทางผ่านเสมอระดับจำนวนหนึ่งที่ไม่สมบูรณ์แบบ

ทางผ่านเสมอระดับที่เมืองคิงสตัน รัฐนิวยอร์ก

ประวัติ

แก้

ในอดีตเมื่อมีการขนส่งทางรถไฟ จึงมีบ่อยครั้งที่ทางรถไฟต้องตัดผ่านถนน เพื่อป้องกันมิให้สัตว์พาหนะต้องได้รับอันตรายจากการถูกรถไฟชน จึงได้มีการสร้างประตูกั้นถนนขึ้น ซึ่งปกติจะกั้นถนนเมื่อรถไฟจะผ่าน และเวลาปกติจะกั้นทางรถไฟเพื่อมิให้มีคนหรือสัตว์เข้าไปในเขตรถไฟ[1]

แม้ในชั้นแรก จะใช้พนักงานคอยเปิดปิดประตูกั้น ต่อมาก็ได้มีการพัฒนาให้มีมอเตอร์สำหรับควบคุมเครื่องกั้น ซึ่งทำให้การกั้นทางรถไฟผ่านถนนง่ายขึ้น ในเวลาต่อมาเมื่อการใช้สัตว์พาหนะลดลง และผู้คนหันมาใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น ก็ได้มีการใช้คานกั้นแทนการใช้ประตูกั้นอย่างเดิมเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทางผ่านเสมอระดับในประเทศต่าง ๆ

แก้

ในสหรัฐอเมริกา ทางผ่านเสมอระดับต้องจัดให้มีสัญญาณเตือนห้ามการจราจรทางถนนเป็นไฟสองดวงวาบสลับกัน หรือไฟวาบบนลูกตุ้มแกว่ง (wig-wag) พร้อมระฆังสำหรับเตือนมิให้คนเดินเท้าผ่านทางรถไฟในระยะกระชั้นชิด นอกจากนี้ในทางผ่านที่การจราจรหนาแน่น ก็มักจะมีคานกั้นถนนด้วย

ในไต้หวัน ทางผ่านถนนเสมอระดับมีเป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีผู้ใช้ยวดยานจำนวนหนึ่งฝ่าฝืนกฎจราจร (ในกฎกระทรวงว่าด้วยการลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎจราจร (zh:道路交通管理處罰條例)) กล่าวคือ

  1. ไม่ปฏิบัติตามสัญญาณของพนักงานกั้นถนน หรือพยายามฝ่าเครื่องกั้นทั้งที่เครื่องกั้นแสดงสัญญาณว่ารถไฟกำลังจะผ่าน ไม่ว่าอุปกรณ์กั้นจะลงหรือไม่ก็ตาม
  2. ข้ามทางผ่านเสมอระดับไม่มีเครื่องกั้นทางโดยไม่หยุดคอยตามสมควร
  3. แซงรถ กลับรถ หยุดรถ หรือจอดรถบนทางผ่านเสมอระดับ

การกระทำความผิดดังกล่าวเป็นโทษตามกฎหมายต้องถูกปรับเป็นเงินมากถึง 12000 ดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ 13 585.114 บาท) หากเกิดอุบัติเหตุใบขับขี่ของผู้กระทำผิดต้องถูกเพิกถอนอย่างน้อยหกปี

ในไทย ตามข้อบังคับและระเบียบการเดินรถไฟ [2]ทางผ่านเสมอระดับอาจจัดให้มีเครื่องกั้นถนนหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณการจราจรทางถนนที่ผ่านทางผ่านเสมอระดับนั้น เครื่องกั้นถนนที่ใช้ในประเทศไทยมีทั้งแบบคานปิดเต็มถนน คานปิดครึ่งถนน สายลวดคนหมุน หรือแผงเข็น ทั้งนี้ อาจจัดให้มีสัญญาณผ่านถนนเสมอระดับทาง หรือพนักงานคอยให้สัญญาณอนุญาตด้วยก็ได้

เนื่องจากทางผ่านเสมอระดับมีเป็นจำนวนมาก เครื่องกั้นถนนเป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งที่มีการกล่าวถึงกันมากในด้านความปลอดภัย ในยุโรปปีหนึ่งมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่ทางผ่านเสมอระดับถึง 400 คน[3] และในอเมริกา 300 คน[4] ส่วนหนึ่งของผู้เสียชีวิตมักเป็นคนเดินถนนที่เป็นเด็กและผู้สูงอายุ นอกเหนือจากผู้ขับรถยนต์ จากการวิจัยพบว่า เครื่องกั้นถนนแบบสมบูรณ์ คือมีคานกั้นและสัญญาณเตือน จะสามารถป้องกันอุบัติเหตุได้ดีกว่าเครื่องกั้นถนนแบบไม่สมบูรณ์ คือมีแต่ป้ายเตือน[5]

เครื่องกั้นถนนมีหลักการอย่างง่าย ๆ คือ เมื่อรถไฟใกล้จะถึงทางผ่านเสมอระดับ วงจรไฟตอนที่ใกล้กับทางผ่านจะทำงาน ทำให้เครื่องกั้นส่งเสียงดังขึ้นพร้อมกับค่อย ๆ ลดคานกั้นลง เมื่อคานกั้นลงเต็มที่แล้ว เครื่องกั้นบางแห่งจะหยุดส่งเสียง แต่บางแห่งไม่หยุด พนักงานขับรถหรือช่างเครื่องบนขบวนรถ มีหน้าที่เปิดหวีดและลั่นระฆัง (ถ้ามี) ครั้นขบวนรถผ่านพ้นทางรถไฟดีแล้วเครื่องกั้นจึงจะหยุดสัญญาณเตือนและเลิกกั้น ในบางคราวหากมีสัญญาณผ่านถนนเสมอระดับทาง ก็มักให้สัญญาณอนุญาต เป็นไฟวาบ 5 ดวงเพื่อให้พนักงานขับรถสามารถเคลื่อนรถได้ด้วยความเร็วเต็มพิกัดทาง

เครื่องหมายจราจรที่ทางผ่านเสมอระดับ

แก้

ในประเทศไทย ทางผ่านเสมอระดับมักจะมีเครื่องหมายจราจรสำหรับเตือนผู้ใช้รถใช้ถนนให้ระมัดระวังถึงรถไฟที่อาจผ่านทางผ่านนั้นได้ เครื่องหมายที่ใช้เตือนเพื่อความปลอดภัยด้านถนน[6] จะใช้ป้ายเตือน ทรงสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนสีอำพัน มีรถจักรไอน้ำหรือรั้วกั้นบนป้ายนั้น นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณเตือนเป็นรูปกากบาทเขียนข้อความ "ระวังรถไฟ" เพิ่มอีกด้วย

สำหรับรถไฟ[2] ที่ทางผ่านเสมอระดับจะต้องจัดให้มีป้ายหวีดรถจักร เป็นป้ายวงกลมสีขาวมีอักษร "ว" อยู่กลาง พร้อมขีดเส้นใต้ และอาจจัดให้มีสัญญาณผ่านถนนเสมอระดับทางหรือสัญญาณประจำที่สัมพันธ์เครื่องกั้นด้วย ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างสัญญาณที่พบเห็นได้บ่อยบริเวณทางรถไฟผ่านถนนเสมอระดับ

อ้างอิง

แก้
  1. Rivanna Chapter, National Railway Historical Society (2005). "This Month in Railroad History: August". สืบค้นเมื่อ 2006-08-25.
  2. 2.0 2.1 ฝ่ายการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (2549). ข้อบังคับและระเบียบการเดินรถ พ.ศ. 2549.
  3. Cirovic, G.; Pamucar, D. (2012). "Decision support model for prioritizing railway level crossings for safety improvements: Application of the adaptive neuro-fuzzy system". Expert Systems with Applications. 40 (6): 2208–2223. doi:10.1016/j.eswa.2012.10.041.
  4. Mok, Shannon C; Savage, Ian (1 August 2005). "Why Has Safety Improved at Rail-Highway Grade Crossings?" (PDF). Risk Analysis. 25 (4): 867–881. doi:10.1111/j.1539-6924.2005.00642.x. PMID 16268935. S2CID 5744697.
  5. Federal Railroad Administration (2006). "Railroad safety statistics: 2005 annual report". Federal Railroad Administration, Washington D. C.
  6. ราชกิจจานุเบกษา. ข้อกำหนดกรมตำรวจเรื่องสัญญาณจราจร เครื่องหมายจราจร และความหมายของสัญญาณจราจร และเครื่องหมายจราจร พ.ศ. ๒๕๒๒. เล่ม 96 ตอนที่ 65

บรรณานุกรม

แก้

แหล่ข้อมูลอื่น

แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ทางรถไฟผ่านถนนเสมอระดับ