ถนนฉางอาน

ถนนในปักกิ่ง ประเทศจีน

ถนนฉางอาน (จีนตัวย่อ: 长安街; จีนตัวเต็ม: 長安街; พินอิน: Cháng'ān Jiē) แปลตรงตัวว่า "ถนนสันติภาพนิรันดร์" เป็นถนนสายหลักที่สำคัญของกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน

ถนนฉางอานและพระราชวังวัฒนธรรมแห่งชาติ
ถนนฉางอาน
การจราจรบนถนนฉางอานในตอนเช้า
ถนนฉางอานถูกใช้เป็นเส้นทางในการจัดการสวนสนามทางทหาร ภาพที่ปรากฏคือขบวนรถหุ้มเกราะที่เคลื่อนออกจากจัตุรัสเทียนอันเหมินในงานฉลองวันชาติเมื่อปี ค.ศ. 1999

ฉางอาน (จีนตัวย่อ: 长安; จีนตัวเต็ม: 長安; พินอิน: Cháng'ān) นั้นเป็นชื่อเดิมของเมืองซีอาน ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ราชวงศ์ถัง และในช่วงเวลาอื่น ๆ ถนนสายนี้ยังมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ฉือหลี่ฉางเจีย (จีนตัวย่อ: 十里长街; จีนตัวเต็ม: 十里長街; พินอิน: Shílǐ Chǎngjiē), ซึ่งหมายถึง ถนนยาวสิบลี้ ถนนหมายเลข 1 ของจีน และถนนหมายเลข 1 ของแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์[1][2] ถนนฉางอานมักถูกใช้เป็นสัมพจนัยของรัฐบาลจีนในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเปรียบได้กับการใช้คำว่า "เดอะเบลต์เวย์" เพื่ออ้างถึงรัฐบาลกลางสหรัฐ[3]

ถนนฉางอานเริ่มต้นจากแยกตงตานทางทิศตะวันออก และไปสิ้นสุดที่แยกซีตานทางทิศตะวันตก ประตูเทียนอันและจัตุรัสเทียนอันเหมินตั้งอยู่ทางทิศเหนือและทิศใต้ของจุดศูนย์กลางถนนตามลำดับ ถนนสายนี้ประกอบด้วยสองส่วนคือ ถนนฉางอันตะวันตก และถนนฉางอันตะวันออก เส้นทางส่วนต่อขยายทอดตัวไปในแนวตะวันออก-ตะวันตก โดยมีจัตุรัสเทียนอันเหมินเป็นจุดศูนย์กลาง ขยายไปทางทิศตะวันตกถึงย่านโฉ่วกัง แม่น้ำหย่งติ้ง และเขาตะวันตก และขยายไปทางทิศตะวันออกถึงศูนย์กลางเมืองรองกรุงปักกิ่ง คลองใหญ่ และแม่น้ำเฉาไป๋[4] พื้นที่แกนกลางของถนนฉางอันและส่วนขยายนั้นอยู่ระหว่างสะพานกั๋วเม่า บนถนนวงแหวนรอบที่สามตะวันออก และสะพานซินซิง บนถนนวงแหวนรอบที่สามตะวันตก (รวมถึงบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน)[4]

ประวัติ

แก้
 
ถนนฉางอานเหนือจัตุรัสเทียนอันเหมิน

ถนนฉางอานตะวันออกและตะวันตกถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของนครจักรพรรดิ ถนนฉางอานตะวันออกเดิมนั้นทอดตัวจากประตูฉางอานซ้าย (ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของจัตุรัสก่อนประตูเทียนอัน) ไปจนถึงประตูตงตาน ส่วนถนนฉางอานตะวันตกเดิมทอดตัวจากประตูฉางอานขวา (ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของจัตุรัสเดียวกัน) ไปจนถึงประตูซีตาน ด้านทิศเหนือของจัตุรัสระหว่างประตูฉางอานทั้งสองได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นถนนหลังปี ค.ศ. 1912 และได้มีการตั้งชื่อใหม่ว่า "ถนนจงซาน" เพื่อเป็นเกียรติแก่ซุน ยัตเซน ในปี ค.ศ. 1940 กำแพงเมืองชั้นในถูกทำลายที่ประตูเจี้ยนกั๋วและประตูฟู่ซิงตามลำดับ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของปลายถนนฉางอานตะวันออกและตะวันตก ถนนสาขาที่ขยายออกไปจากปลายทั้งสองด้านของถนนฉางอานได้ถูกขยายให้กว้างขึ้นเป็นถนนเจี้ยนกั๋วเหมินในและนอก และถนนฟู่ซิงเหมินในและนอก ด้วยเหตุนี้ ถนนฉางอานทั้งสองสายจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสัญจรหลักเข้าออกเขตเมืองชั้นใน ซึ่งปัจจุบันถือเป็นถนนฉางอานที่ขยายออกไป ประตูฉางอานทั้งสองถูกทุบทิ้งในปี ค.ศ. 1952 เพื่อขยายจัตุรัสเทียนอันเหมิน จากนั้นถนนฉางอานทั้งสองสายและถนนจงซานก็ได้ถูกผนวกเข้าด้วยกันกลายเป็นถนนฉางอานสายเดียวจนถึงปัจจุบัน

ในปี ค.ศ 2009 ได้มีการขยายถนนให้มี 10 ช่องจราจร เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน[5]

ความสำคัญ

แก้
 
ถนนฉางอานหน้าจัตุรัสเทียนอันเหมิน

ถนนฉางอานเป็นถนนที่ตั้งอยู่ด้านหน้าประตูเทียนอันและทางทิศเหนือของจัตุรัสเทียนอันเหมินโดยตรง ด้วยทำเลที่ตั้ง ถนนฉางอานจึงมีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของจีนหลายเหตุการณ์ เช่น การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี ค.ศ. 1989 (รวมถึงเหตุการณ์ปะทะที่มีชื่อเสียงระหว่างบุคคลนิรนามกับรถถัง), ขบวนการ 4 พฤษภาคม และขบวนแห่ศพของโจว เอินไหล ในช่วงการเฉลิมฉลองที่สำคัญของสาธารณรัฐประชาชนจีน จะมีการจัดการสวนสนามทางทหารบนถนนฉางอาน โดยขบวนจะเคลื่อนจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตกผ่านประตูเทียนอัน ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงได้ปูผิวถนนด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อป้องกันไม่ให้รถถังและยานพาหนะหนักชนิดอื่นทำความเสียหายแก่พื้นผิวจราจร

ถนนฉางอานและบริเวณใกล้เคียงจัตุรัสเทียนอันเหมิน เป็นที่ตั้งของมหาศาลาประชาชน จงหนานไห่ และอาคารรัฐบาลกลาง ถนนฉางอานยังเป็นที่ตั้งของสถาบันสำคัญต่าง ๆ อาทิ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจีน ศูนย์ศิลปะการแสดงแห่งชาติ ตลาดหวังฝูจิ่ง โถงคอนเสิร์ตปักกิ่ง สำนักงานใหญ่ธนาคารแห่งประเทศจีน และพระราชวังวัฒนธรรมแห่งชาติ ทั้งสถานีรถไฟปักกิ่งและสถานีรถไฟปักกิ่งตะวันตกก็ตั้งอยู่ใกล้กับถนนฉางอาน รถไฟใต้ดินปักกิ่งสาย 1 ก็วิ่งอยู่ใต้ถนนฉางอาน[6]

ด้วยเหตุที่ถนนฉางอานตั้งอยู่ในทำเลที่สำคัญและมีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ จึงมีการบัญญัติกฎระเบียบเฉพาะขึ้นมาใช้บังคับ ตัวอย่างเช่น ห้ามรถบรรทุกและรถขนส่งสินค้าทุกชนิดใช้ถนนฉางอานตลอด 24 ชั่วโมง[7] และไม่อนุญาตให้มีการโฆษณาเชิงพาณิชย์ใด ๆ บนถนน[8]

กฎระเบียบ

แก้

ถนนฉางอานและส่วนต่อขยาย

แก้

หมายเหตุ: บทความนี้พิจารณาถนนฉางอานว่าเป็นถนนสายหลักที่เชื่อมต่อระหว่างวงแหวนรอบที่ 5 ตะวันตกและวงแหวนรอบที่ 5 ตะวันออก ซึ่งเป็นเส้นทางที่กำหนดของเขตเมืองปักกิ่งในภาพรวม

อ้างอิง

แก้
  1. 王天淇 (7 November 2020). "长安街沿线环境景观新规施行 建筑应保持原有色调风格". 北京日报. สืบค้นเมื่อ 1 December 2020.
  2. 张芽芽 (4 August 2008). ""神州第一街":长安街" (ภาษาจีนตัวย่อ). 新华网. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 August 2008. สืบค้นเมื่อ 27 April 2009.
  3. 胡佳恒、郑东阳 (2009–1), 中国第一政治地标"大修" (ภาษาจีนตัวย่อ), 凤凰周刊
  4. 4.0 4.1 北京市人民政府办公厅 (5 September 2020). 北京市长安街及其延长线市容环境景观管理规定  (ภาษาจีน). 北京市 – โดยทาง Wikisource.
  5. Beijing completes face-lift of main avenue for National Day. Xinhua. 25 August 2009.
  6. Welch, Patricia Bjaaland (2008). Chinese art: a guide to motifs and visual imagery. Tuttle Publishing. p. 270.
  7. The Current Major Traffic Management Measures of Urban Roads เก็บถาวร 23 กรกฎาคม 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Beijing Traffic Management Bureau. 15 May 2009.
  8. Beijing Bans Commercial Ads on Tian'anmen Square, Chang'an Avenue. Xinhua. March 27, 2006

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้