ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี เป็นภาพยนตร์ไทย ภาพยนตร์ภาคที่สามในภาพยนตร์ชุด ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยในภาคนี้จะกล่าวถึงสงครามระหว่างไทยและพม่า เน้นฉากสงครามทางเรือ กำหนดฉายในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี | |
---|---|
ใบปิดภาพยนตร์อย่างเป็นทางการ | |
กำกับ | หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล |
บทภาพยนตร์ | หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ |
อำนวยการสร้าง | หม่อมกมลา ยุคล ณ อยุธยา คุณากร เศรษฐี |
นักแสดงนำ | |
กำกับภาพ | สตานิสลาฟ ดอร์ซิก |
ตัดต่อ | หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หม่อมราชวงศ์หญิงปัทมนัดดา ยุคล |
ดนตรีประกอบ | แซนดี้ แม็คเลลแลนด์ รอส คัลลัม |
บริษัทผู้สร้าง | |
ผู้จัดจำหน่าย | สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล |
วันฉาย | 25 มีนาคม พ.ศ. 2554 (รอบปฐมทัศน์) 28 มีนาคม พ.ศ. 2554 (รอบสื่อมวลชน) 30 มีนาคม พ.ศ. 2554 (รอบการกุศล) 31 มีนาคม พ.ศ. 2554 (รอบฉายทั่วไป) |
ความยาว | 147 นาที |
ประเทศ | ประเทศไทย |
ภาษา | ภาษาไทย ภาษาพม่า ภาษามอญ |
ทำเงิน | 201.08 ล้านบาท (กรุงเทพ, ปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่) |
ก่อนหน้านี้ | ประกาศอิสรภาพ |
ต่อจากนี้ | ศึกนันทบุเรง |
ข้อมูลจาก IMDb | |
ข้อมูลจากสยามโซน |
นำแสดงโดย วันชนะ สวัสดี ผู้รับบท สมเด็จพระนเรศวรมหาราช, วินธัย สุวารี, นพชัย ชัยนาม, สรพงศ์ ชาตรี, ฉัตรชัย เปล่งพานิช, จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์, นภัสกร มิตรเอม, ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ, อินทิรา เจริญปุระ และนักแสดงสมทบอื่น ๆ
ฉากสำคัญคือ ยุทธนาวี ประการแรกเป็นเรื่องความสมจริงและยิ่งใหญ่ของฉากที่สร้างจากประวัติศาสตร์ของชาติ ประการที่สองเป็นกลยุทธ์ทางการศึกและพระปรีชาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่สามารถเอาชนะข้าศึกที่มีกำลังพลมากกว่า โดยใช้กุศโลบายทางการรบที่เหนือชั้น ประการสุดท้าย คือความเสียสละของคนไทยที่มีน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการปกป้องบ้านเมืองให้พ้นจากอริราชศัตรู
เนื้อเรื่อง
แก้ในปีพุทธศักราช 2127 การประกาศเอกราชที่เมืองแครง ทำให้พระเจ้านันทบุเรงแห่งพม่าเกิดความประหวั่นพรั่นพรึงว่า อยุธยาในฐานะประเทศราชในขณะนั้นทำการเยี่ยงนี้อาจเป็นชนวนให้ประเทศราชอื่นๆ ตั้งตัวกระด้างกระเดื่องตาม แต่ด้วยติดศึกอังวะ จึงส่งเพียงพระยาพะสิมและพระเจ้าเชียงใหม่เข้าประชิดกรุงศรีอยุธยา
กิตติศัพท์การชนะศึกของสมเด็จพระนเรศหลายครั้งหลายคราระบือไกลถึงแผ่นดินละแวก เจ้ากรุงละแวกมิได้ทอดธุระ ได้ลอบส่งจารชนชาวจีนฝีมือกล้านามว่า “จีนจันตุ” มาลอบสืบความ ที่กรุงศรีอยุธยาแต่ถูกจับพิรุธได้จนต้องลอบตีสำเภาหนีกลับกรุงละแวก สมเด็จพระนเรศทรงนำทัพเรือออกตามจนเกิดยุทธนาวี แต่พระยาจีนจันตุหนีรอดได้ เมื่อเจ้ากรุงละแวกได้ทราบกิตติศัพท์การณรงค์ของพระนเรศจึงเปลี่ยนพระทัยหันมาสานไมตรีกับอยุธยา และส่งพระศรีสุพรรณราชาธิราชผู้อนุชามาช่วยอยุธยาทำศึกหงสา หากแต่พระศรีสุพรรณผู้นี้ต่างจากเจ้ากรุงละแวกเพราะหาใคร่พอใจผูกมิตรด้วยอยุธยา การได้พระศรีสุพรรณมาเป็นสหายศึกจึงประหนึ่งอยุธยาได้มาซึ่งหอกข้างแคร่
ครั้งนั้นพม่ารามัญยกเข้ามาเป็นศึกกระหนาบถึง 2 ทาง ทัพพระยาพะสิมยกเข้ามาทาง ด่านพระเจดีย์สามองค์ เลยล่วงเข้ามาถึงแดนสุพรรณบุรี ส่วนพระเจ้าเชียงใหม่-นรธาเมงสอ มาจากทางเหนือ นำทัพบุกลงมาตั้งค่ายถึงบ้านสระเกศ แขวงเมืองอ่างทอง พระนเรศวรและกองทัพของพระองค์ได้วางแผนในการแยกสายเข้าตีทัพของพม่านั้นโดย แข่งกับเวลา หากช้าไปอยุธยาอาจแตกพ่ายก็เป็นได้ นอกจากนี้ยังมีศึกรักระหว่างรบของคนสี่คน คือ พระราชมนู เลอขิ่น เสือหาญฟ้า และรัตนาวดี รวมถึงสถานะของพระสุพรรณกัลยาที่อาจต้องเป็นบาทบริจาริกาของพระเจ้านันทบุเรง ผู้ราชบุตรแห่งพระเจ้าบุเรงนองอดีตสวามีอีกด้วย
กองทัพพระยาพสิมยกเข้ามาถึงเมืองกาญจนบุรี (ถึงก่อนทัพเจ้าเมืองเชียงใหม่) สมเด็จพระนเรศวรทรงให้พระยาจักรียกทัพเรือไปยิงปืนใหญ่ดักข้าศึกแถว ๆ เมืองสุพรรณบุรี ทัพพม่าถูกปืนใหญ่แตกพ่ายหนีไป ต่อมาสมเด็จพระนเรศวรกับพระเอกาทศรถยกทัพไปถึงตำบลป่าโมก ก็พบกับกองทัพพม่าซึ่งลงมาเที่ยวรังแกราษฎรทางเมืองวิเศษชัยชาญ จึงได้เข้าโจมตีจนทัพพม่าล่าถอยไป พระเจ้าเชียงใหม่จึงจัดกองทัพยกลงมาอีก สมเด็จพระนเรศวรจึงดำรัสสั่งให้พระราชมนูคุมกองทัพขึ้นไปลาดตระเวนดูก่อน กองทัพพระราชมนูไปปะทะกับพม่าที่บ้านบางแก้ว สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปถึงบ้านแห จึงมีดำรัสให้ข้าหลวงขึ้นไปสั่งพระราชมนูให้ทำเป็นล่าทัพกลับถอยลงมา แล้วพระองค์กับพระอนุชาก็รุกไล่ตีทัพพม่าแตกพ่ายทั้งทัพหน้าและทัพหลวงจนถึงค่ายที่ตั้งทัพของพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกษ ทัพของพระเจ้าเชียงใหม่จึงแตกกระจัดกระจายไป
เมื่อได้ค่ายที่บ้านสระเกศแล้วสมเด็จพระนเรศวรทรงติดตามพระเจ้าเชียงใหม่ขึ้นไปถึงนครสวรรค์ ทรงทราบข่าวว่าพระเจ้าเชียงใหม่นี้หนีไปอาศัยอยู่กับพระมหาอุปราชาที่เมืองกำแพงเพชรแล้ว หากติดตามไปอาจเสียทีพระมหาอุปราชาได้ จึงได้วางกำลังส่วนหนึ่งเป็นหน่วยลาดตระเวนเอาไว้ที่เมืองนครสวรรค์ แล้วยกทัพเสด็จกลับพระนคร
ตัวละคร
แก้ตัวละคร | รับบทโดย |
---|---|
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช | วันชนะ สวัสดี |
สมเด็จพระเอกาทศรถ | วินธัย สุวารี |
มณีจันทร์ | ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ |
พระราชมนู | นพชัย ชัยนาม |
พระเจ้านันทบุเรง | จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์ |
มังกะยอชวา | นภัสกร มิตรเอม |
พระยาละแวก | เศรษฐา ศิระฉายา |
พระศรีสุพรรณราชาธิราช | ดิลก ทองวัฒนา |
เล่อขิ่น | อินทิรา เจริญปุระ |
เสือหาญฟ้า | ดอม เหตระกูล |
รัตนาวดี | อคัมย์สิริ สุวรรณศุข |
อังกาบ | ศิรพันธ์ วัฒนจินดา |
พระยาจีนจันตุ | ชูชาติ ทรัพย์สุทธิพร |
นรธาเมงสอ พระเจ้าเชียงใหม่ | ชลิต เฟื่องอารมย์ |
มหาเถรคันฉ่อง | สรพงศ์ ชาตรี |
พระยาพะสิม | ครรชิต ขวัญประชา |
ไอ้ขาม | ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ |
งานสร้างภาพยนตร์
แก้ภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่กลับมาสานต่อความยิ่งใหญ่อีกครั้ง โดยฉากสำคัญของภาคนี้คือ ยุทธนาวี ซึ่งเป็นฉากรบทางเรือ และยังไม่เคยปรากฏในภาพยนตร์ไทยเรื่องไหนมาก่อน[1]
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 3 ยุทธนาวี ทิ้งช่วงจากภาคที่แล้ว 4 ปี ก็คือ ภาพยนตร์นี้ถ่ายทำยากกว่าภาคก่อน ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่หนังภาคนี้ต้องมีสัตว์อย่าง ช้าง และ ม้า เข้าฉากเป็นจำนวนมาก ซึ่งยากมากต่อการควบคุม
ภาพยนตร์เรื่องนี้มีฉากใหญ่ที่รบกันทางน้ำ ซึ่งการถ่ายหนังกันในน้ำจริง ๆ จะไม่สามารถควบคุมทิศทางลม และกระแสน้ำได้ ที่มาของ ตอน ยุทธนาวี นั่นมาจากเนื้อหาสำคัญส่วนหนึ่งในหนังภาคนี้คือการที่ พระยาจีนจันตุ ถูก สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จับได้ว่าเป็นสายลับให้เขมร จึงพยายามแล่นเรือสำเภาหนีการไล่ล่าของพระนเรศวร และเป็นสาเหตุให้การทำ ยุทธนาวี เกิดขึ้นในหนังภาคนี้ ซึ่งเป็นการรบกันกลางน้ำของกองเรือพิฆาตของสมเด็จพระนเรศวร กับ เรือสำเภาของพระยาจีนจันตุที่เข้ามาเป็นไส้ศึกยังกรุงอโยธยา โดยฉากรบทางเรือให้สมจริง นอกจากนี้ยังมีการสร้างเรือสำเภาจีนโบราณที่สามารถใช้งานได้จริง ลำเดียวในโลก เพื่อนำมาใช้สำหรับฉากนี้โดยเฉพาะอีกด้วย
เรือสำเภาจีนโบราณลำนี้ยาว 35 เมตร กว้างประมาณ 8 เมตร ความสูง 2 ชั้น 5 เมตร ใช้ฝีพาย 72 คน ประจำ 36 ช่องพาย ผู้ออกแบบใช้เวลาค้นคว้าข้อมูลจากพงศาวดารไทยและบันทึกประวัติศาสตร์ของต่างชาติที่เข้ามาในสมัยอยุธยานับร้อยเล่ม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ใช้เวลาในการสร้างและตกแต่งถึง 6 เดือน ด้วยงบประมาณกว่า 30 ล้านบาท โครงสร้างเป็นเหล็กและใช้ไม้ประกอบและตกแต่งทั้งลำ มีอายุการใช้งานกว่า 30 ปี โดยสามารถปรับเปลี่ยนเป็นเรือสำเภาแบบตะวันตกได้เพื่อนำไปใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ[2]
โดยครั้งแรก ความตั้งใจของผู้สร้าง คือ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ได้วางตัวให้ ฉี เส้าเฉียน รวมถึงแม้กระทั่ง หลิว เต๋อหัว 2 นักแสดงชาวฮ่องกงชื่อดัง เป็นผู้รับบทพระยาจีนจันตุ [3]
การออกฉาย
แก้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทอดพระเนตรภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554 ณ โรงมหรสพหลวง ศาลาเฉลิมกรุง โดยมีผู้กำกับ คณะทำงาน นักแสดง และแขกผู้มีเกียรติ เฝ้าฯ รับเสด็จ โดยภาพยนตร์มีกำหนดฉายรอบสื่อมวลชนในวันที่ 28 เดือนเดียวกัน ณ พารากอนซีนีเพล็กซ์ สยามพารากอน[4]
นอกจากนี้ทางสหมงคลฟิล์มยังจัดฉายรอบการกุศลช่วยเหลือผู้ประสบภัยในญี่ปุ่น ในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2554 ณ โรงภาพยนตร์เวิลด์ แม็กซ์ สกรีน เอส เอฟ เวิลด์ ซีนีมา ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์[5]
ข้อแตกต่างจากประวัติศาสตร์
แก้เหตุการณ์การไล่ตามจับพระยาจีนจันตุนี้ เกิดขึ้นก่อนประกาศอิสรภาพที่เมืองแครงของสมเด็จพระนเรศวร และเกิดก่อนการสวรรคตของพระเจ้าบุเรงนองด้วย ซึ่งทาง ม.จ.ชาตรีเฉลิม ผู้สร้างก็ยอมรับในจุดนี้[6]
อ้างอิง
แก้- ↑ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี[ลิงก์เสีย]
- ↑ "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สร้างเรือสำเภาจีนโบราณลำเดียวในโลกให้ฉาก ยุทธนาวี ยิ่งใหญ่สุดอลังการ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-06. สืบค้นเมื่อ 2011-07-30.
- ↑ "ผู้พันเบิร์ด ยอมผอม-ดำ เพื่อภาพยนตร์ยิ่งใหญ่". สนุกดอตคอม. 2 June 2008. สืบค้นเมื่อ 24 May 2014.
- ↑ สมเด็จพระราชินีทอดพระเนตร"พระนเรศวรภาค3ยุทธนาวี" จากคมชัดลึก เก็บถาวร 2011-05-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ ""ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 3" จัดรอบพิเศษช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-13. สืบค้นเมื่อ 2011-03-31.
- ↑ ข้อแตกต่างจากประวัติศาสตร์[ลิงก์เสีย] จากพันทิปดอตคอม
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้