ตราประทับพระราชลัญจกรของจักรพรรดิจีน
ตราประทับพระราชลัญจกรของจักรพรรดิจีน เป็นเครื่องที่แสดงถึงความมีอำนาจสูงที่สุดของแผ่นดินแผ่นดินจีนในประวัติศาสตร์[1]
ประวัติ
แก้ราชลัญจกรถือเป็นเครื่องหมายแสดงอำนาจอย่างหนึ่งในสังคมจีนที่มีมาช้านาน สันนิษฐานว่ามีพัฒนาการมาจากการแกะสลักตัวหนังสือบนกระดองเต๋าและกระดูกสัตว์ในสมัยราชวงศ์ซาง (ประมาณ 4,500 ปีก่อน) จากหลักฐานทางโบราณคดีที่มีการขุดค้นพบ มีการใช้ตราประทับมาไม่น้อยกว่าสมัยจ้านกว๋อ (ปลายราชวงศ์โจวประมาณ 2,500 ปีก่อน)[2] กล่าวกันว่าเมื่อฉินฉื่อหฺวังตี้ปราบแคว้นจ้าวสำเร็จก็ได้หยกเหอสื่อปี้ในตำนานมาไว้ในครอบครอง และหลังจากปราบแคว้นทั้งหกจนสำเร็จก็ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นจักรพรรดิจีน จึงให้หลี่ซือ ขุนนางคนสนิทนำหยกเหอสือปี้ไปแกะเป็นราชลัญจกรรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างยาว 4 นิ้ว โดยมีข้อความเป็นอักษรจีน 8 ตัวว่า 受命于天,即寿永昌 แปลเป็นไทยได้ว่า รับโองการสวรรค์ ทรงพระเจริญนิรันดร[3]
ทั้งนี้ชาวจีนในสัมยโบราณและสมัยปัจจุบันต่างก็เรียกตราประทับว่า อิ้น (印; สำเนียงจีนกลาง) นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันดังต่อไปนี้[4]
- ซี่ (玺) หลังจากฉินสื่อหวงตี้ปราบดาภิเษกเป็นฮ่องเต้ จึงมีราชโองการให้ใช้คำว่า ซี่ เรียกแทนตราประทับสำหรับโอรสสวรรค์ (ฮ่องเต้) ส่วนขุนนางและประชาชนทั่วไปให้เรียกว่า อิ้น
- เป่า (宝) เนื่องจากคำว่า ซี่ เมื่อออกเสียงจะคล้ายกับคำว่าว่า สื่อ (死) ที่มีความหมายว่าตาย ต่อมาจึงเลี่ยงไปใช้คำว่า เป่า ที่หมายความว่าของมีค่า ของวิเศษ หรือแก้วแทน
- จาง (章) ในสมัยฮั่นใช้คำว่า จาง เรียกแทนตราประทับของแม่ทัพ
- จี้ (记) มีความหายถึงการรู้จักการจดจำ เริ่มใช้ในสมัยถังและซ่ง
- กวนฝาง (关防) ในสมัยจักรพรรดิหมิงไท่จู่ มีการกำหนดให้เอกสารราชการประทับตรา กวนฝาง นี้ทุกครั้งเพื่อป้องกันข้าราชการนัดแนะหรือนำไปพิมพ์ด้วยตัวเอง ต่อมาแม้จะมีการเลิกวิธีการดังกล่าวแต่ก็ยังมีการใช้คำ ๆ นี้เรื่อยมา[5]
ในสมัยโบราณตราประทับจะทำจากหยกหรือหินที่มีค่า ชาวบ้านสามัญชนจึงมีไว้ในครอบครองได้ยาก ส่วนในสมัยถังเริ่มมีการทำตราประทับที่จากโลหะเช่นทอง เงิน สำริด และตราประทับที่ทำจากกระเบื้องเริ่มมีทำขึ้นในราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง
โดยทั่วไปตราประทับจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังที่นักวิชาการเรียกว่า ตัวผู้หรือตัวเมีย หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า อินหยาง หรือ หยินหยาง โดยที่ตราประทับ หยาง (阳印) คือตัวหนังสือเป็นสีแดง ส่วนพื้นจะปล่อยเว้นว่างไว้ ส่วนตราประทับ อิน (阴印) คือตราประทับที่พื้นเป็นสีแดง ส่วนที่เป็นตัวหนังสือจะเว้นว่างไว้ และด้วยเหตุที่ตราประทับอินจะมีสีแดงมากจึงมีอีกชื่อว่า จูอิ้น (朱印) หรือ ตราประทับชาด ซึ่งตราประทับในสมัยโบราณที่พบโดยมากจะเป็นตราประทับอิน ส่วนตราประทับในชั้นหลังจะเป็นตราประทับหยางเสียเป็นส่วนใหญ่
ราชลัญจกรที่เหลืออยู่ในปัจจุบันที่ไม่ได้อยู่ในการดูแลของรัฐบาลจีนนั้นคือราชลัญจกรจักรพรรดิเฉียนหลงซึ่งถูกซื้อไปโดยชาวจีนผู้หนึ่ง โดยราชลัญจกรดังกล่าวเป็นราชลัญจกรในสมัยราชวงศ์ชิง[6]
อ้างอิง
แก้- ↑ อินเจียง :ลัญจกรวิทยาจีน (๑)
- ↑ "ความรู้เรื่องตราประทับจีนเบื้องต้น". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-12. สืบค้นเมื่อ 2016-11-11.
- ↑ ตราหยก พระราชลัญจกร
- ↑ ตราประทับจีนโบราณ
- ↑ ตราประทับจีน
- ↑ "ตราประทับหยกขาว แกะสลักรูปมังกร ของจักรพรรดิเฉียนหลง (ค.ศ. 1736-1795) แห่งราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1644-1911)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-09. สืบค้นเมื่อ 2016-11-11.