ดาบ ฌวน (เขมร: ដាប ឈួន) (Dap Chhuon) หรือนายดาบ ชวน เข็มเพชร (คำว่านายดาบ เป็นยศนายทหารบกชั้นประทวน ลำดับสูงกว่าจ่านายสิบ แต่ต่ำกว่านายร้อยตรี) เป็นนักการเมืองชาตินิยมฝ่ายขวาชาวกัมพูชา ผู้นำกองกำลังใต้ดินและผู้นำท้องถิ่น ดาบชวนเกิดที่จังหวัดเสียมราฐเมื่อ พ.ศ. 2455 แต่ไปเติบโตที่จังหวัดไพรแวง

ดาบ ฌวน
เกิดพ.ศ. 2455
จังหวัดเสียมราฐ
เสียชีวิตพ.ศ. 2502
สัญชาติกัมพูชา
ชื่ออื่นชวน เข็มเพชร, เข็ม เพชร (Khem Phet), ฌวน มชุลเป็ช (Chhuon Mochulpich, Chhuon Mchoul Pech)
ผลงานเด่นผู้นำเขมรอิสระที่ไม่นิยมคอมมิวนิสต์
ตำแหน่งทหาร/นักการเมือง
หมายเหตุ
ถูกประหารชีวิตเพราะข้อกล่าวหาว่าเข้าร่วมในแผนบางกอก

ดาบฌวนได้เข้าร่วมกับกองทัพฝรั่งเศส ต่อมาเมื่อเกิดกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส ดาบฌวนเข้ากับฝ่ายไทยและได้รับการสนับสนุนจากไทยให้เข้าร่วมองค์กรต่อต้านฝรั่งเศสในเสียมราฐ[1] ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 กลุ่มต่อต้านนำโดยดาบฌวน พระนโรดม จันทรังสี และเซิง งอกมิญเข้าโจมตีหน่วยทหารฝรั่งเศสในเสียมราฐเป็นเวลาหลายวัน ต่อมา ดาบฌวนได้เป็นหัวหน้าคณะกรรมการปลดปล่อยประชาชนเขมร ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมเขมรอิสระจากหลายพื้นที่เข้าไว้ด้วยกัน ต่อมา ปลายปี พ.ศ. 2492 ดาบฌวนและกลุ่มของเขาตัดสินใจกลับไปเข้าร่วมกับฝ่ายฝรั่งเศส ทำให้เขาได้เข้าควบคุมกองทหารทางภาคเหนือของกัมพูชา และได้บังคับบัญชากองทหารผสม ฝรั่งเศส-เขมร[2]

ใน พ.ศ. 2497 เมื่อกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส ดาบฌวนได้เข้าร่วมรัฐบาลกับพระนโรดม สีหนุ ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2497 จนถึงการเลือกตั้ง พ.ศ. 2498 ดาบฌวนได้จัดตั้งพันธมิตรทางการเมืองระหว่างพรรคการเมืองของเขาคือ พรรคชัยชนะตะวันออกเฉียงเหนือและพรรคเล็กอื่น ๆ อีกหลายพรรค รวมทั้งพรรคเขมรใหม่ของลน นล และเรียกกลุ่มของตนเองว่าพันธมิตรฝ่ายขวา[3] กลุ่มพันธมิตรได้เข้าร่วมกับพรรคสังคมราษฎร์นิยมของพระนโรดม สีหนุ จนได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเสียมราฐ และเริ่มต่อสู้กับเวียดมิญ การที่เขาต่อต้านคอมมิวนิสต์ทำให้โรเบิร์ต แมกคลินทอก เอกอัครราชทูตสหรัฐในกัมพูชาระหว่าง พ.ศ. 2497 – 2499 แนะนำให้เข้ามาแทนที่พระนโรดม สีหนุ [4] การที่เขาไม่เห็นด้วยกับพระนโรดม สีหนุ เกี่ยวกับนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ในจีน ทำให้เขาพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2500 และออกจากระบอบสังคมของพระนโรดม สีหนุ

ใน พ.ศ. 2502 ดาบฌวนถูกกล่าวหาว่าเข้าร่วมในแผนบางกอกทำให้เขาถูกจับและถูกประหารชีวิต[5] นอกจากนั้นพี่น้องของเขา เข็ม สเร็ยที่มีความใกล้ชิดทางการเมืองกับเขามาก เข็ม เพ็ญ ที่เป็นผู้ช่วย[6]และซลัต เพียวที่ทำงานในสถานทูตที่เสียมราฐถูกประหารชีวิตไปด้วยในคดีที่ดาบฌวนเกี่ยวข้องกับแผนบางกอก

อ้างอิง

แก้
  1. Tyner, J. The Killing of Cambodia, Ashgate, 2008, p.41
  2. Tyner, p.42
  3. Kiernan, p.158
  4. Clymer, K. J. The United States and Cambodia, 1870-1969, Routledge, p.56
  5. Sour Note เก็บถาวร 2013-08-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Time Magazine, 16-03-59
  6. Corfield and Summers, p.97