ดานีเอล แบร์นุลลี
ดานีเอล แบร์นุลลี (เยอรมัน: Daniel Bernoulli, 29 มกราคม ค.ศ. 1700 – 17 มีนาคม ค.ศ. 1782) เป็นนักคณิตศาสตร์และนักฟิสิกส์ชาวสวิส เกิดที่เมืองโกรนิงเงิน ดานีเอลเป็นบุตรของโยฮัน แบร์นุลลี นักคณิตศาสตร์ผู้มีส่วนในการพัฒนาแคลคูลัส และเป็นหลานของยาค็อพ แบร์นุลลี นักคณิตศาสตร์ผู้มีผลงานสำคัญด้านความน่าจะเป็น[1] เดิมครอบครัวแบร์นุลลีมีที่มาจากเมืองแอนต์เวิร์ปในเนเธอร์แลนด์ของสเปน แต่ภายหลังอพยพมาอยู่ที่เมืองบาเซิลเพื่อหลบหนีการกวาดล้างชาวโปรเตสแตนต์โดยสเปน[2]
ดานีเอล แบร์นุลลี | |
---|---|
ดานีเอล แบร์นุลลี | |
เกิด | 29 มกราคม ค.ศ. 1700 โกรนิงเงิน, สาธารณรัฐดัตช์ |
เสียชีวิต | 17 มีนาคม ค.ศ. 1782 บาเซิล, สมาพันธรัฐสวิสเก่า | (82 ปี)
สัญชาติ | สวิส |
ศิษย์เก่า | มหาวิทยาลัยบาเซิล (M.D., 1721) มหาวิทยาลัยไฮเดิลแบร์ค มหาวิทยาลัยสทราซบูร์ |
มีชื่อเสียงจาก | หลักการแบร์นุลลี ทฤษฎีจลน์ของแก๊สเริ่มแรก อุณหพลศาสตร์ |
อาชีพทางวิทยาศาสตร์ | |
สาขา | คณิตศาสตร์, ฟิสิกส์, การแพทย์ |
วิทยานิพนธ์ | "Dissertatio physico-medica de respiratione" (Dissertation on the medical physics of respiration) (1721) |
ลายมือชื่อ | |
เมื่อเติบโต ดานีเอลปฏิเสธที่จะเรียนด้านธุรกิจอย่างที่พ่อต้องการ แต่ภายหลังเขายอมเรียนด้านการแพทย์เพื่อแลกกับการที่จะได้ศึกษาคณิตศาสตร์เพิ่มเติม[3] ดานีเอลเรียนที่มหาวิทยาลัยบาเซิล มหาวิทยาลัยไฮเดิลแบร์ค และมหาวิทยาลัยสทราซบูร์ จนกระทั่งเรียนจบด้านกายวิภาคศาสตร์และพฤกษศาสตร์ในปี ค.ศ. 1721 จากนั้นเขาทำงานเป็นศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์ที่สถาบันวิทยาศาสตร์ในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ต่อมาดานีเอลย้ายกลับมาบาเซิลเพื่อดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยบาเซิล ซึ่งเขาดำรงตำแหน่งนี้จนกระทั่งเสียชีวิต[4]
ดานีเอลมีผลงานที่สำคัญคือหนังสือ Hydrodynamica (ค.ศ. 1738) ที่เขาพบความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเร็วของของไหลกับความดัน[5] และเสนอหลักการแบร์นุลลี ซึ่งกล่าวว่าเมื่อของไหลมีอัตราเร็วมากขึ้น ความดันหรือพลังงานศักย์ของของไหลก็จะน้อยลง[6] ต่อมาในปี ค.ศ. 1752 เลอ็อนฮาร์ท อ็อยเลอร์ นักคณิตศาสตร์ชาวสวิสได้ปรับปรุงหลักการแบร์นุลลีจนกลายเป็นสมการแบร์นุลลี[7] ปัจจุบันหลักการแบร์นุลลียังใช้ในการคำนวณเครื่องบิน คาร์บูเรเตอร์และหัวฉีดเดอลาวาล นอกจากนี้ แบร์นุลลีและอ็อยเลอร์ยังร่วมกันพัฒนาทฤษฎีคานอ็อยเลอร์-แบร์นุลลีเพื่อใช้คำนวณการรับน้ำหนักและการแอ่นของคาน[8]
อ้างอิง
แก้- ↑ "Daniel Bernoulli Establishes The Field of Hydrodynamics". Encyclopedia.com. สืบค้นเมื่อ June 29, 2019.
- ↑ Denker, Manfred; Woyczynski, Wojbor (2012). Introductory Statistics and Random Phenomena: Uncertainty, Complexity and Chaotic Behavior in Engineering and Science. Berlin: Springer Science & Business Media. p. 473. ISBN 9781461220282.
- ↑ "Daniel Bernoulli". Famous People. สืบค้นเมื่อ June 29, 2019.
- ↑ "Daniel Bernoulli - Biography". Famous Scientists. สืบค้นเมื่อ June 29, 2019.
- ↑ "What is Bernoulli's equation?". Khan Academy. สืบค้นเมื่อ June 29, 2019.
- ↑ Clancy, L. J. (1975). Aerodynamics. Wiley. ISBN 978-0-470-15837-1.
- ↑ Anderson, J.D. (2016), "Some reflections on the history of fluid dynamics", ใน Johnson, R.W. (บ.ก.), Handbook of fluid dynamics (2nd ed.), CRC Press, ISBN 9781439849576
- ↑ "The Bernoulli-Euler Beam Theory". Learn About Structures.com. สืบค้นเมื่อ June 29, 2019.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ดานีเอล แบร์นุลลี
- วิกิคำคม มีคำคมที่กล่าวโดย หรือเกี่ยวกับ ดานีเอล แบร์นุลลี