ซนโนโจอิ
ซนโนโจอิ (ญี่ปุ่น: 尊皇攘夷; โรมาจิ: そんのうじょうい; ทับศัพท์: Sonnō jōi; "เทิดทูนจักรพรรดิ ขับคนป่าเถื่อน") เป็นชื่อของปรัชญาการเมืองและขบวนการทางสังคมของญี่ปุ่นที่มีรากฐานมาจากลัทธิขงจื้อใหม่ (Neo-Confucianism) ซึ่งได้กลายเป็นคำขวัญทางการเมืองในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1850 - 1860 ในความพยายามล้มล้างรัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะในช่วงยุคบะคุมะสึ
กำเนิด
แก้คำขวัญ "ซนโนโจอิ" (ในรูปอักษรคันจิเขียน 尊王攘夷 หรือ 尊皇攘夷 เสียงภาษาจีนกลางคือ ซุนหวังหรั่งอี้ zūnwáng rǎngyí) มีจุดกำเนิดในจีนสมัยโบราณจากฉีหวนกง ผู้ปกครองรัฐฉีในยุคชุนชิว ในสมัยนั้นราชวงศ์โจวตะวันออกได้สูญเสียอำนาจการควบคุมบรรดารัฐสามนตราชและเผชิญกับการรุกรานของชนเผ่าต่างชาตินอกด่านบ่อยครั้ง ฉีหวนกงได้เริ่มใช้คำขวัญดังกล่าวอย่างเปิดเผยเพื่อเรียกร้องให้บรรดาเจ้าผู้ครองรัฐสามนตราชอื่นๆ เคารพยำเกรงต่อราชวงศ์โจว ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้วฉีหวนกงเองก็เคยใช้อำนาจของตนครอบงำบรรดารัฐเหล่านั้นและเมินเฉยต่ออำนาจสูงสุดของราชสำนักโจวก็ตาม
ในประเทศญี่ปุ่น ปรัชญาดังกล่าวสามารถสืบหาร่องรอยได้จากงานเขียนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ของยะมะซะกิ อันไซ และยะมะงะ โซะโก บัณฑิตในลัทธิขงจื้อ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของราชวงศ์จักรพรรดิญี่ปุ่นและฐานะอันสูงส่งของราชวงศ์ในการปกครองชนชาติอื่น แนวคิดดังกล่าวได้รับการขยายโดยโมะโตะโอะริ โนะรินะกะ บัณฑิตแห่งสำนักคิด "โคะคุกะคุ" (國學/国学; "การศึกษาเกี่ยวกับชาติ") และพบได้ในทฤษฎี "ซนโนรง" (尊皇論 sonnōron) ของทะเกะโนะอุชิ ชิคิบุ ซึ่งว่าด้วยความจงรักภักดีอย่างสูงสุดต่อจักรพรรดิ ซึ่งบอกเป็นนัยว่าผู้ที่มีความจงรักภักดีน้อยนั้นควรยกให้รัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะเป็นผู้ปกครอง
ไอสะวะ เซชิไซ บัณฑิตชาวแคว้นมิโตะ ได้เริ่มนำวลี "ซนโนโจอิ" เข้ามาใช้ในญี่ปุ่นสมัยใหม่ผ่านงานเขียนของตนชื่อ "ชินรง" ในปี ค.ศ. 1825 โดยที่คำว่า "ซนโน" หมายถึง แสดงออกต่อความเคารพนับถือของรัฐบาลโชกุนที่มีต่อองค์จักรพรรดิ และ "โจอิ" หมายถึงการประณามต่อต้านศาสนาคริสต์
อิทธิพล
แก้จากการรุกล้ำน่านน้ำญี่ปุ่นของเรือสินค้าต่างชาติที่มีมากขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 นโยบายปิดประเทศ (ซะโคะคุ) จึงถูกตั้งคำถามมากยิ่งขึ้น วลี "โจอิ" (ขับคนป่าเถื่อน) ได้กลายเป็นปฏิกิริยาต่อต้านสนธิสัญญาคะนะงะวะ ซึ่งบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศค้าขายกับชาวต่างชาติในปี ค.ศ. 1853 ภายใต้การคุกคามทางการทหารของพลเรือจัตวาแมธธิว เพอร์รี ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ "เรือดำ" นั้น การลงนามในสนธิสัญญาได้เกิดขึ้นภายใต้การคุกคามขู่เข็ญและการคัดค้านอย่างรุนแรงจากซามูไรหลายกลุ่ม ข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะไร้ซึ่งอำนาจในการต่อต้านชาวต่างชาติแม้ว่าทางราชสำนักจะแสดงเจตจำนงดังกล่าวออกมาอย่างชัดเจนก็ตาม ได้กลายเป็นสิ่งที่โยะชิดะ โชอิน และผู้นำกลุ่มต่อต้านรัฐบาลโทะกุงะวะอื่นๆ ชี้ว่าหลักการ "ซนโน" (เทิดทูนจักรพรรดิ) ในปรัชญาดังกล่าวไม่ทำงาน และรัฐบาลโชกุน (บะคุฟุ) จะต้องถูกแทนที่ด้วยรัฐบาลที่สามารถแสดงความจงรักภักดีต่อจักรพรรดิได้มากกว่านี้ด้วยการตอบสนองตามเจตจำนงขององค์จักรพรรดิ
หลักปรัชญาซนโนโจอิจึงได้ถูกนำมาปรับใช้เป็นคำประกาศออกศึก (battle cry) ของกลุ่มกบฏแคว้นโจชูและแคว้นซะสึมะ ซึ่งทางราชสำนักที่เกียวโตก็มีท่าทีเข้าข้างขบวนการข้างต้นอย่างไม่น่าประหลาดใจนัก จักรพรรดิโคเมทรงเห็นด้วยในความรู้สึกดังกล่าวเป็นการส่วนพระองค์ และทรงทำลายธรรมเนียมปฏิบัติของราชสำนักที่มีมานานนับร้อยปีด้วยการเข้ามามีบทบาทในกิจการของรัฐอย่างเป็นรูปธรรม ทรงอาศัยโอกาสดังกล่าววิพากษ์วิจารณ์สนธิสัญญาต่างๆ อย่างรุนแรงและพยายามเข้าแทรกแซงการสืบทอดตำแหน่งโชกุน ความพยายามของพระองค์มาถึงจุดสูงสุดในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1863 ด้วยการออก "พระราชโองการขับไล่ชาวป่าเถื่อน" (攘夷勅命) ถึงแม้รัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะจะไม่มีความตั้งใจปฏิบัติตามพระราชโองการดังกล่าว แต่อย่างน้อยที่สุดก็ได้จุดประกายให้เกิดการสู้รบต่อต้านตัวรัฐบาลโชกุนเองและต่อต้านชาวต่างชาติที่อยู่ในญี่ปุ่น กรณีดังกล่าวที่มีชื่อเสียงที่สุดคือกรณีการตายของพ่อค้าชาวอังกฤษชื่อ ชาร์ล เลนน็อกซ์ ริชาร์ดสัน อันเกิดจากการถูกกล่าวหาว่าไม่แสดงความเคารพต่อไดเมียวผู้หนึ่ง เป็นเหตุให้รัฐบาลโชกุนต้องชดใช้สินไหมให้แก่รัฐบาลอังกฤษเป็นเงินถึง 100,000 ปอนด์สเตอร์ลิง[1] นอกจากนี้ยังรวมถึงการโจมตีเรือสินค้าต่างชาติที่ชิโมะโนะเซะกิอีกด้วย[2] ส่วนซามูไรไร้นายหรือโรนิน ก็ได้รวมตัวกันเพื่อเป้าหมายคือ การลอบสังหารชาวต่างชาติและข้าราชการของรัฐบาลโชกุน
สิ่งนี้ได้ทำให้จุดสูงสุดของขบวนการ "ซนโนโจอิ" ผ่านพ้นไป เนื่องจากมหาอำนาจชาติตะวันตกได้ตอบสนองด้วยการเรียกร้องค่าปฏิกรรมสงคราม และตามด้วยการระดมยิงถล่มเมืองคะโงะชิมะ เมืองเอกของแคว้นซะสึมะ เมื่อข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่มีการตอบสนอง ในขณะที่เหตุดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นมิอาจสู้กับอำนาจการทหารของชาติตะวันตกได้ แต่ก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของรัฐบาลโชกุนมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การกบฏในหัวเมืองพันธมิตรต่างๆ และการสิ้นสุดอำนาจของรัฐบาลในการฟื้นฟูสมัยเมจิ
ตัวคำขวัญ "ซนโนโจอิ" แท้จริงแล้วไม่เคยได้ใช้เป็นนโยบายรัฐบาลหรือกลุ่มกบฏใดๆ เลย เป็นแต่เพียงวาทกรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแคว้นซะสึมะนั้นมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับชาติตะวันตกจากการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่และเทคโนโลยีต่างๆ
สิ่งสืบทอด
แก้หลังจากที่กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการฟื้นฟูพระราชอำนาจของจักรพรรดิเมจิ คำขวัญ "ซนโนโจอิ" ได้ถูกแทนที่ด้วยวลี "ฟุโคะคุ เคียวเฮ" (富国強兵) หรือ "ประเทศมั่งคั่ง กำลังทัพเข้มแข็ง" ซึ่งเป็นคำขวัญในการรณรงค์เพื่อสร้างชาติในยุคเมจิ และจะเป็นเมล็ดพันธุ์ของการเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
หมายเหตุ
แก้อ้างอิง
แก้- Akamatsu, Paul. (1972). Meiji 1868: Revolution and Counter-Revolution in Japan (Miriam Kochan, translator). New York: Harper & Row.
- Beasley, William G. (1972). The Meiji Restoration. Stanford: Stanford University Press.
- Craig, Albert M. (1961). Chōshū in the Meiji Restoration. Cambridge: Harvard University Press.
- Jansen, Marius B. and Gilbert Rozman, eds. (1986). Japan in Transition: from Tokugawa to Meiji. Princeton: Princeton University Press. 10-ISBN 0691054592/13-ISBN 9780691054599; OCLC 12311985
- ____________. (2000). The Making of Modern Japan. Cambridge: Harvard University Press. 10-ISBN 0674003349/13-ISBN 9780674003347; OCLC 44090600
- Shiba, Ryotaro. (1998). The Last Shogun: The Life of Tokugawa Yoshinobu. Tokyo: Kodansha. ISBN 1-56836-246-3