ชาวชีน
ชาวชีน (พม่า: ချင်းလူမျိုး) คือกลุ่มชาติพันธุ์ในกลุ่มหนึ่งในประเทศพม่า โดยในชาวชีนจำนวนนี้สามารถจำแนกได้เป็น 32 กลุ่ม[1] ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป และจะมีพิธีการสักบนใบหน้าของหญิงสาวซึ่งแต่ละกลุ่มจะใช้สีที่ต่างกัน เช่น สีดำ สีกรมท่า หรือรูปนกบนหน้าผาก จะเป็นลายเฉพาะกลุ่มซึ่งในกลุ่มเดียวกันก็จะมีลวดลายเดียวกัน โดยการสักบนใบหน้าของหญิงชาวชีนจะสักบนใบหน้าเพื่ออำพรางความงามของตน เพราะคนโบราณเล่าต่อกันมาว่า ในอดีตหญิงสาวชาวชีนมีความสวยต้องตาต้องใจคนต่างถิ่นเป็นอย่างมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งเจ้าเมืองกษัตริย์พม่าที่มักจะจับตัวสาวชาวชีนไปเป็นภรรยาและทาสรับใช้ ผู้นำชนเผ่าจึงสั่งให้หญิงสาวชีนสักใบหน้าเพื่ออำพรางความงามตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่นช่วงอายุประมาณ 12-13 ปี ซึ่งต้องให้ผู้ที่มีความชำนาญเป็นผู้สักให้ โดยจะสักต่อเนื่องไปเรื่อยจนเสร็จ ปกติแล้วใช้เวลาถึง 2 วัน จะพักแค่ตอนรับประทาน อาหารเท่านั้น เด็กสาวแทบทุกคนนอนร้องไห้ด้วยความเจ็บปวดตลอดการสัก กินอะไรไม่ได้และลืมตาไม่ได้เพราะมีอาการบวม บางคนที่รอยสักจางหรือลายไม่ขึ้นต้องมาสักซ้ำอีกครั้งสองครั้ง หรือจนกว่าสีจะเข้ม[1]
ประชากรทั้งหมด | |
---|---|
ประมาณ 1.5 ล้านคน | |
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ | |
รัฐชีน | รัฐยะไข่ |
รัฐนาคาแลนด์ | รัฐมิโซรัม |
รัฐอัสสัม | รัฐมณีปุระ |
ภาษา | |
ภาษาพม่า | |
ศาสนา | |
ศาสนาคริสต์และศาสนาพุทธนิกายเถรวาท |
แต่ปัจจุบัน วัฒนธรรมการสักใบหน้าหลงเหลืออยู่แค่ในหมู่บ้านชนบทในป่าเขาห่างไกลเพียงไม่กี่แห่ง ส่วนพื้นที่อื่นไม่นิยมสักกันแล้ว เนื่องจากไม่มีใครมาจับตัวหญิงชาวชีนไปเหมือนแต่ก่อน จึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป โดยเฉพาะหมอสักใบหน้าที่มีฝีมือต่างล้มหายตายจากกันไปเกือบหมด อย่างในละแวกนี้ถ้าใครอยากสักก็ไม่มีคนสักให้ เพราะหมอสักเสียชีวิตกันไปหมดแล้ว นอกจากนี้ ครั้งหนึ่งรัฐบาลทหารพม่าได้สั่งห้ามหญิงชาวชีนสักใบหน้าเพราะเห็นเป็นเรื่องป่าเถื่อน ชาวบ้านก็เลยไม่กล้าสัก แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลพม่าในปัจจุบันเองก็ต้องการให้หญิงชาวชีนที่สักใบหน้ากลุ่มดังกล่าวเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวมายังพม่า[1]