จักรพรรดิโลทาร์ที่ 3 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
จักรพรรดิโลทาร์ที่ 3 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ หรือ จักรพรรดิโลทาร์ที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (อังกฤษ: Lothair III, Holy Roman Emperor; ค.ศ. 1075 – 4 ธันวาคม ค.ศ. 1137) ทรงเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์แห่งตระกูลซุพลินบวร์ค ผู้ทรงครองราชบัลลังก์ระหว่างปี ค.ศ. 1133 จนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1137 พระองค์เป็นพระราชโอรสของเก็พฮาร์ทแห่งซุพลินบวร์ค
จักรพรรดิโลทาร์ที่ 3 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ | |
---|---|
ครองราชย์ | โรมันอันศักดิ์สิทธิ์: ค.ศ. 1133 - ค.ศ. 1137 เยอรมนี: ค.ศ. 1125 - ค.ศ. 1137 อิตาลี: ค.ศ. 1128 - ค.ศ. 1137 อาร์ล: ค.ศ. 1125 - ค.ศ. 1137 แซกโซนี: ค.ศ. 1106 - ค.ศ. 1137 |
รัชกาลก่อนหน้า | จักรพรรดิไฮน์ริชที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ |
รัชกาลถัดไป | จักรพรรดิฟรีดริชที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ |
ประสูติ | ค.ศ. 1075 โรม ในประเทศอิตาลี |
สวรรคต | 4 ธันวาคม ค.ศ. 1137 โรม ในประเทศอิตาลี |
จักรพรรดิโลทาร์ที่ 3 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ | |
ราชวงศ์ | ซุพลินบวร์ค |
พระราชบิดา | เก็พฮาร์ทแห่งซุพลินบวร์ค |
ดยุคแห่งซัคเซิน
แก้โลทาร์เป็นบุตรชายของเก็พฮาร์ท เคานต์แห่งซุพลินบวร์ค ประสูติไม่กี่วันก่อนหน้าที่พระบิดาจะถูกสังหารในสมรภูมิเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 1075 พระองค์สืบทอดดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลบริเวณเฮ็ล์มชเต็ทในซัคเซิน และในปี ค.ศ. 1088 ทรงมีส่วนร่วมในการก่อจลาจลต่อจักรพรรดิไฮน์ริชที่ 4 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
การแต่งงานในปี ค.ศ. 1088 กับริชเช็นท์ซา ทายาทของทั้งตระกูลนอร์ทไฮม์และตระกูลเบราน์ชไวค์ ทำให้โลทาร์กลายเป็นขุนนางผู้ทรงอำนาจในซัคเซินและเป็นเจ้าชายที่ร่ำรวยที่สุดในเยอรมนีเหนือ
ด้วยการสนับสนุนจากกษัตริย์เยอรมัน พระเจ้าไฮน์ริชที่ 5 ให้ต่อกรกับพระบิดาของพระองค์ จักรพรรดิไฮน์ริชที่ 4 ในปี ค.ศ. 1104 ทำให้โลทาร์ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าไฮน์ริชที่ 5 ให้เป็นดยุคแห่งซัคเซินเมื่อดยุคมักนุส ดยุคคนสุดท้ายของตระกูลบิลุง เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1106
กษัตริย์แห่งเยอรมนี
แก้แนวคิดที่จะตั้งตนเป็นอิสระของโลทาร์ไม่นานก็ทำให้พระองค์ขัดแย้งกับกษัตริย์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1112 ถึงปี ค.ศ. 1115 พระองค์มีส่วนร่วมในการก่อกบฏต่อพระเจ้าไฮน์ริชเป็นช่วงๆ และกองกำลังของพระองค์ปราบกษัตริย์ได้ที่สมรภูมิเว็ลเฟิสฮ็อลทซ์ในปี ค.ศ. 1115[1]
ในปี ค.ศ. 1125 พระเจ้าไฮน์ริชที่ 5 สิ้นพระชนม์ โลทาร์ได้รับเลือกให้เป็นกษัตริย์เยอรมันและได้รับการสวมมงกุฎที่อาเคิน สงครามกลางเมืองระหว่างผู้สนับสนุนโลทาร์กับทายาทของตระกูลโฮเอินชเตาเฟิน สองพระอนุชา ค็อนราทและฟรีดริช ดยุคแห่งสเวเบีย อุบัติขึ้น ในปี ค.ศ. 1127 ค็อนราทได้รับเลือกจากสมัครพรรคพวกให้เป็นกษัตริย์ การแตกพ่ายของฐานที่มั่นของชาวโฮเอินชเตาเฟิน เนือร์นแบร์ค และชไปเออร์ ในอีกสองปีต่อมาทำให้การต่อต้านอันทรงประสิทธิภาพจบสิ้นลง แม้ชาวโฮเอินชเตาเฟินจะดิ้นรนต่อสู้อยู่อีกหลายปี ขณะที่ค็อนราทก็ครองตำแหน่งจอมปลอมของพระองค์ต่อไป
จักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
แก้ในปี ค.ศ. 1130 สองผู้ท้าชิงตำแหน่งประสันตะปาปาที่เป็นอริกันร้องขอการสนับสนุนจากโลทาร์ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1131 โลทาร์ต้อนรับพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 2 ที่ลีแยฌและร่วมเดินทางไปด้วยกัน พระองค์เดินทัพเข้าสู่อิตาลีในปี ค.ศ. 1132–1133 แม้พื้นที่ส่วนหนึ่งของโรมจะอยู่ในกำมือของอานาเคลตุส โลทาร์ได้รับการสวมมงกุฎเป็นจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1133[2] จากนั้นพระองค์ได้รับที่ดินศักดินาจากพระสันตะปาปาเป็นทรัพย์สินที่ดินอันกว้างใหญ่ไพศาลของมาทิลดาแห่งตอสคานา[3]
ในปี ค.ศ. 1134 หลังกลับไปเยอรมนี โลทาร์กลับไปทำศึกกับชาวโฮเอินชเตาเฟินอีกครั้ง ไม่นานฟรีดริชแห่งโฮเอินชเตาเฟินก็ยอมจำนน สันติภาพถูกประกาศที่เทศกาลถือศีลอดในบัมแบร์ค (เดือนมีนาคม ค.ศ. 1135) ทำให้สเวเบียกลับมาเป็นของฟรีดริชอีกครั้ง ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1135 ค็อนราทสงบศึกกับโลทาร์ภายใต้เงื่อนไขด้านการผ่อนปรนแบบเดียวกัน
โลทาร์ยังส่งเสริมการขยายอำนาจของชาวเยอรมันและเผยแผ่ศาสนาคริสต์เข้าไปในอาณาบริเวณทางตะวันออกของเอ็ลเบอ ในปี ค.ศ. 1135 พระเจ้าอีริคที่ 2 แห่งเดนมาร์กประกาศตนเป็นข้าราชบริพารของจักรพรรดิโลทาร์ และเจ้าชายโปแลนด์ เจ้าชายโบเลสสวาฟที่ 3 สัญญาว่าจะจ่ายบรรณาการและได้รับโปเมอราเนียและรุยเงินเป็นที่ดินศักดินาของเยอรมนี
การสิ้นพระชนม์
แก้ข้อตกลงกับจักรพรรดิไบเซนไทน์จอห์นคอมเนนุสส่งผลให้โลทาร์ลงมือออกเดินทางไปสู้รบในอิตาลีเป็นครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1136–1137 ทรงผลักดันกองกำลังของรอเจอร์ที่ 2 แห่งซิซิลีออกไปจากพื้นที่ทางใต้ของคาบสมุทรอิตาลี
พระองค์สิ้นพระชนม์ระหว่างเดินทางกลับเยอรมนีขณะกำลังข้ามเทือกเขาแอลป์เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1137[4] ศพของพระองค์ถูกต้มเพื่อยับยั้งการเน่าสลาย[5] กระดูกถูกพาไปที่โบสถ์อารามของนักบุญปีเตอร์และนักบุญพอลในเคอนิงสลัตทาร์ที่ทรงบริจาคเงินให้ในฐานะโบสถ์ที่จะใช้ฝังพระศพและที่ทรงวางศิลาฤกษ์ในปี ค.ศ. 1135
ทายาท
แก้ราชวงศ์ซุพลินบวร์คนั้นอยู่ได้ไม่นาน โลทาร์กับพระมเหสี ริชเช็นท์ซาแห่งนอร์ทไฮม์ มีพระโอรสธิดาที่มีชีวิตรอดเพียงคนเดียวคือพระธิดาที่มีชื่อว่าแกร์ทรูเดอ ประสูติเมื่อวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1115 เพื่อให้ตระกูลเวล์ฟสนับสนุนเลือกพระองค์เป็นกษัตริย์ โลทาร์จับแกร์ทรูดแต่งงานกับไฮน์ริชที่ 10 ดยุคแห่งบาวาเรีย เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1127[6] ทั้งคู่มีบุตรชายด้วยกันหนึ่งคนคือไฮน์ริชสิงห์[7]
หลังการสิ้นพระชนม์ของโลทาร์ในปี ค.ศ. 1137 ค็อนราทจากตระกูลโฮเอินชเตาเฟินได้รับเลือกให้เป็นกษัตริย์ในชื่อค็อนราทที่ 3 แห่งเยอรมนี เมื่อไฮน์ริชผู้หยิ่งทะนง พระชามาดาและทายาทของโลทาร์และเจ้าชายผู้ทรงอำนาจที่สุดในเยอรมนีซึ่งถูกมองข้ามจากการเลือกตั้งไม่ยอมรับกษัตริย์คนใหม่ พระเจ้าค็อนราทที่ 3 จึงริบอาณาเขตทั้งหมดของเขา
พระอิสริยยศ
แก้- จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (ค.ศ. 1133–1137)
- พระมหากษัตริย์แห่งเยอรมนี (ค.ศ. 1125–1137)
- พระมหากษัตริย์แห่งอิตาลี (ค.ศ. 1128–1137)
- พระมหากษัตริย์แห่งอาร์ล (ค.ศ. 1125–1137)
- ดยุกแห่งซัคเซิน (ค.ศ. 1133–1137)
อ้างอิง
แก้- Karl Hampe (1973). Germany Under the Salian and Hohenstaufen Emperors. ISBN 0-631-14180-4
- Encyclopædia Britannica: Lothair II