จอห์น ซิงเกอร์ ซาร์เจนต์

จอห์น ซิงเกอร์ ซาร์เจนต์ (ภาษาอังกฤษ: John Singer Sargent) (12 มกราคม ค.ศ. 1856 - 14 เมษายน ค.ศ. 1925) เป็นจิตรกรคนสำคัญของสหรัฐอเมริกาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 ผู้มีความเชี่ยวชาญทางการเขียนภาพภูมิทัศน์, ภาพเหมือน และ การใช้สีน้ำ[1][2] ซาร์เจนต์เกิดที่ฟลอเรนซ์ ที่ประเทศอิตาลี บิดามารดาเป็นชาวอเมริกัน ซาร์เจนต์ศึกษาที่อิตาลีและเยอรมนี ต่อมาที่ปารีสกับเอมีล โอกุสต์ การอลุส-ดูว์ร็อง (Emile Auguste Carolus-Duran) ในชีวิตซาร์เจนต์เขียนจิตรกรรมสีน้ำมันด้วยกันทั้งสิ้นราว 900 ภาพ และอีก 2,000 ภาพเขียนด้วยสีน้ำ นอกจากนั้นก็ยังมีงานเขียนภาพร่าง และภาพวาดลายเส้นด้วยถ่านอีกด้วย

จอห์น ซิงเกอร์ ซาร์เจนต์

ชีวิตเบื้องต้น

แก้

ก่อนที่จะเกิด ฟิทซ์วิลเลียมบิดาของซาร์เจนต์เป็นศัลยแพทย์ทางตาอยู่ที่โรงพยาบาลวิลล์สอายที่ฟิลาเดลเฟีย หลังจากพี่สาวคนโตเสียชีวิตไปเมื่ออายุได้เพียงสองขวบ มารดาของซาร์เจนต์แมรีได้รับความกระทบกระเทือนทางประสาทอย่างหนัก จนสามีตัดสินใจพาภรรยาเดินทางไปต่างประเทศเพื่อจะไปรักษาตัวรักษาใจให้ดีขึ้น แต่ทั้งสองสามีภรรยาไปดำเนินชีวิตแบบเร่ร่อนอยู่ในประเทศต่างๆ จนตลอดชีวิต[3]

แม้ว่าจะมีฐานอยู่ที่ปารีสและบิดาและมารดาของซาร์เจนต์ก็จะย้ายที่พำนักเป็นประจำตามฤดูกาล ระหว่างเมืองพักผ่อนตากอากาศริมทะเลและภูเขาในฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี และ สวิตเซอร์แลนด์ ขณะที่มีครรภ์บิดาและมารดาของซาร์เจนต์ไปหยุดพักอยู่ที่ฟลอเรนซ์เพราะการระบาดของอหิวาตกโรค ซาร์เจนต์จึงได้ถือกำเนิดในฟลอเรนซ์ในปี ค.ศ. 1856 ปีต่อมาแมรีก็ให้กำเนิดแก่น้องสาวชื่อแมรีเช่นเดียวกับมารดา หลังจากการเกิดของซาร์เจนต์แล้วฟิทซ์วิลเลียมก็จำใจต้องลาออกจากตำแหน่งในฟิลาเดลเฟีย และตกลงตามคำร้องขอของภรรยาในการตั้งรกรากอยู่ในต่างประเทศเป็นการถาวร[4] ฟิทซ์วิลเลียมและแมรีดำรงชีวิตอย่างระมัดระวังจากเงินมรดกจำนวนเล็กน้อยและจากเงินสะสม และใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวกับลูกทั้งสองคน และโดยทั่วไปแล้วก็มักจะเลี่ยงสังคมและชาวอเมริกันอื่นๆ นอกจากเพื่อนฝูงในวงการศิลปะเท่านั้น[5]

 
จอห์น ซิงเกอร์ ซาร์เจนต์ในห้องเขียนภาพกับ “ภาพเหมือนของมาดามเอ็กซ์

แม้ว่าบิดาจะเป็นครูสอนวิชาเบื้องต้นผู้มีความอดทน แต่ซาร์เจนต์ก็เป็นเด็กที่ชอบอิสระที่มีความสนใจในสิ่งแวดล้อมภายนอกมากกว่าที่นั่งเรียนหนังสือจับเจ่าอยู่ในห้อง ตามที่บิดาบรรยายในจดหมายถึงบ้านว่า “[จอห์น]เป็นเด็กที่สนใจกับการสังเกตความเป็นไปของสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด”[6] มารดาของซาร์เจนต์ตรงกันข้ามกับสามีและมีความเชื่อว่าการท่องเที่ยวไปทั่วยุโรป ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และคริสต์ศาสนสถานต่างๆ เป็นการให้การศึกษาอย่างพอเพียงต่อซาร์เจนต์ การพยายามให้ซาร์เจนต์เข้าศึกษาในโรงเรียนอย่างเป็นทางการหลายครั้งต่างก็ประสบความล้มเหลว เพราะการใช้ชีวิตในการเดินทางไปตามที่ต่างๆ ของบิดามารดา แมรีเองเป็นจิตรกรสมัครเล่นผู้มีฝีมือ และฟิทซ์วิลเลียมก็เป็นผู้มีความชำนาญในการเขียนภาพประกอบหนังสือทางแพทย์ศาสตร์[7] ตั้งแต่เริ่มแรกแมรีก็ให้สมุดร่างภาพและสนับสนุนให้ซาร์เจนต์ออกไปวาดรูป ซาร์เจนต์ก็ตั้งอกตั้งใจวาดภาพ และกระตือรือร้นที่จะก็อปปีภาพเรือต่างๆ ที่เห็นใน “อิลลัสเทรดเทดลอนดอนนิวส์” และร่างภาพภูมิทัศน์ [8] ซึ่งทำให้ฟิทซ์วิลเลียมคาดว่าความสนใจเกี่ยวกับเรือของบุตรชายจะนำไปสู่อาชีพที่เกี่ยวกับกองทัพเรือ

เมื่ออายุได้สิบสามปีมารดาก็รายงานว่าซาร์เจนต์ “ร่างภาพได้อย่างงดงาม และมีความรวดเร็วและตาดีอย่างคาดไม่ถึง ถ้าเราสามารถให้บทเรียนที่ดี ไม่นาน[ซาร์เจนต์]ก็คงจะเป็นศิลปินน้อยๆ ได้คนหนึ่ง”[9] ในช่วงเดียวกันซาร์เจนต์ก็ได้รับการศึกษาเกี่ยวกับการเขียนภาพสีน้ำจากคาร์ล เวลช์ผู้เป็นจิตรกรภูมิทัศน์ชาวเยอรมัน[10] แม้ว่าจะได้รับการศึกษาอย่างไม่เต็มที่แต่ซาร์เจนต์ก็เป็นผู้มีความรู้ดี และเป็นผู้มีความสามารถทางศิลปะ, ดนตรี และวรรณกรรม[11] ซาร์เจนต์พูดภาษาฝรั่งเศส, อิตาลี และเยอรมันได้อย่างคล่องแคล่ว เมื่ออายุได้ 17 ปีก็ได้รับคำบรรยายว่าเป็นผู้มีความ “แน่วแน่, ช่างสังเกต, มุ่งมั่น และ แข็ง” (เช่นเดียวกับมารดา) แต่ขี้อาย, ใจกว้าง และถ่อมตน (เช่นเดียวกับบิดา)[12] ซาร์เจนต์คุ้นเคยกับจิตรกรรมของจิตรกรชั้นครูโดยตรงเป็นอย่างดี เช่นที่เขียนในปี ค.ศ. 1874 ว่า “ผมได้เรียนที่เวนิสในคุณค่าของงานของตินโตเรตโตเป็นอย่างมาก และเห็นว่าจะเป็นรองก็แต่จากมีเกลันเจโล และ ทิเชียนเท่านั้น”[13]

การฝึกหัด

แก้
 
เฟรเดอริค ลอว์ โอล์มสเตด”, ค.ศ. 1895, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 91 x 61 1/4 นิ้ว, คฤหาสน์บัลติมอร์, แอชวิลล์, เซาท์แคโรไลนา

ความพยายามเพื่อที่จะศึกษาที่สถาบันฟลอเรนซ์ต้องประสบกับความผิดหวังเพราะสถาบันกำลังอยู่ในช่วงที่กำลังจัดระบบใหม่ ระหว่างปี ค.ศ. 1874 ถึงปี ค.ศ. 1878 ซาร์เจนต์ศึกษากับการอลุส-ดูว์ร็องผู้มีอิทธิพลสำคัญ ห้องเขียนภาพของการอลุส-ดูว์ร็องเป็นห้องเขียนภาพที่ก้าวหน้าแทนที่จะเขียนภาพตามวิธีที่ทำกันมาก่อน โดยการวาดภาพร่างอย่างระมัดระวังและรองสีก่อนที่จะเขียนจริง มาเป็นการเขียนโดยการระบายสีโดยตรง (alla prima) บนผ้าใบเช่นวิธีการเขียนของดิเอโก เบลัซเกซ ซึ่งเป็นวิธีที่ขึ้นอยู่กับการวางโทนสีอย่างเหมาะสมบนผืนผ้าใบ[14] แนวการสองวิธีนี้ทำให้การให้สีในภาพเป็นอิสระมากขึ้นกว่าการกำหนดสีตามภาพที่ร่างไว้แล้ว[15] และเป็นวิธีที่แตกต่างจากวิธีของห้องเขียนภาพของฌอง เลออง เจอโรมที่จิตรกรชาวอเมริกันทอมัส เอคินส์ และ ฌูเลียน อัลเดนศึกษาอยู่ การอลุส-ดูว์ร็องเป็นจิตรกรภาพเหมือนผู้มีชื่อเสียงขึ้นมาอย่างรวดเร็วที่มีความเชี่ยวชาญในวิธีเขียนที่เด่น (bold) อิทธิพลของการอลุส-ดูว์ร็องเป็นจุดที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของซาร์เจนต์อย่างสิ้นเชิง[16] ในปี ค.ศ. 1879 ซาร์เจนต์เขียนภาพเหมือนของการอลุส-ดูว์ร็องซึ่งเป็นงานที่เป็นที่ยอมรับและเป็นวิธีเขียนภาพที่ซาร์เจนต์ใช้เขียนต่อมาในงานต่างๆ เมื่อแสดงงานที่ปารีสเป็นการแสดงเพื่อสดุดีครูและเป็นการโฆษณาหางานเขียนภาพเหมือนไปด้วย[17]

ในปี ค.ศ. 1874 ซาร์เจนต์ก็สอบผ่านในการพยายามพยายามครั้งแรกในการเข้าทำการศึกษาที่สถาบันวิจิตรศิลป์ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาศิลปะชั้นนำของฝรั่งเศส ที่ซาร์เจนต์เข้าศึกษาการวาดภาพลายเส้น ที่รวมทั้งกายวิภาคศาสตร์และการวาดแบบที่ใช้ทัศนมิติ ซาร์เจนต์ได้รับรางวัลเหรียญเงิน[18][16] นอกจากนั้นการศึกษากับสถาบันแล้วซาร์เจนต์ก็ยังทำการศึกษาด้วยตนเอง โดยการไปวาดภาพในพิพิธภัณฑ์ และฝึกเขียนภาพในห้องเขียนภาพที่ใช้ร่วมกับเจมส์ คาร์โรลล์ เบ็คสมิธผู้กลายมาเป็นเพื่อนที่ช่วยสร้างผลประโยชน์ให้ เบ็คสมิธมีบทบาทในช่วยให้ซาร์เจนต์มีโอกาสติดต่อกับสังคมชาวอเมริกันที่พำนักอยู่ในต่างประเทศ[19] นอกจากนั้นแล้วซาร์เจนต์ก็ยังศึกษากับเลอง บงนาต์[18]

ซาร์เจนต์เป็นนักเรียนที่มีความสามารถ เวียร์พบซาร์เจนต์ ในปี ค.ศ. 1874 และตั้งข้อสังเกตว่าซาร์เจนต์เป็น “นักศึกษาผู้มีพรสวรรค์มากที่สุดเท่าที่คบและพบปะมา งานเขียนของซาร์เจนต์เหมือนกับงานชั้นครู และการใช้สีก็เช่นเดียวกัน”[19] การใช้ภาษาฝรั่งเศสได้อย่างคล่องแคล่วประกอบกับความสามารถทำให้ซาร์เจนต์ทั้งเป็นที่นิยมและชื่นชม การเป็นมิตรกับพอล เซซาร์ เฮลลูทำให้ซาร์เจนต์ได้มีโอกาสทำความรู้จักกับศิลปินคนสำคัญๆ ในสังคมศิลปินที่รวมทั้งแอดการ์ เดอกา, โอกุสต์ รอแด็ง, โกลด มอแน และ เจมส์ แม็คนีลล์ วิสต์เลอร์

สิ่งที่ซาร์เจนต์สนใจเขียนมากในระยะแรกคือการเขียนภาพภูมิทัศน์ไม่ใช่ภาพเหมือน ที่จะเห็นได้จากจำนวนภาพร่างมากมายที่เป็นภาพภูเขา, ทะเลทัศน์ และตึกรามบ้านช่อง[20] แต่ในที่สุดอิทธิพลของการอลุส-ดูว์ร็องในการเขียนภาพเหมือนก็มีต่อซาร์เจนต์ การรับงานจ้างเขียนจิตรกรรมประวัติศาสตร์ขณะนั้นก็ยังถือกันว่าเป็นงานศิลปะที่มีคุณค่าสูงกว่างานศิลปะประเภทอื่นใด แต่ก็เป็นงานจ้างประเภทที่หายากขึ้นทุกขณะ ความก้าวหน้าทางการอาชีพจึงมักจะมาจากการรับงานเขียนภาพเหมือนซี่งเป็นการช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงศิลปินไปในตัว และการได้รับเข้าแสดงภาพที่นิทรรศการศิลปะแห่งปารีส

งานเขียนภาพเหมือนชิ้นสำคัญชิ้นแรกที่ซาร์เจนต์เขียนคือภาพเหมือนของแฟนนี วัตตส์ที่เขียนในปี ค.ศ. 1877 ซึ่งเป็นงานเขียนสำหรับงานแสดงนิทรรศการเป็นครั้งแรกด้วย ภาพเหมือนภาพนี้เป็นภาพที่เขียนด้วยความมีฝีมือที่สร้างความสนใจและความพึงพอใจให้แก่ผู้เข้าชมไปด้วยในขณะเดียวกัน[20] ภาพที่สองที่ได้รับเข้าแสดงในงานแสดงนิทรรศการคือภาพ “คนเก็บหอยที่คองซาล” (Oyster Gatherers of Cançale) ซึ่งเป็นภาพเขียนแบบอิมเพรสชันนิสม์ที่ซาร์เจนต์เขียนสองภาพ[21]

ช่วงแรกของการเป็นจิตรกร

แก้
 
“นักเต้นรำชาวสเปน” ราว ค.ศ. 1879-1882, งานสะสมส่วนบุคคล

ในปี ค.ศ. 1879 เมื่ออายุได้ 23 ปีซาร์เจนต์เขียนภาพเหมือนของการอลุส-ดูว์ร็อง ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นงานที่มีฝีมือดีและเป็นการแสดงถึงทิศทางของงานเขียนในอนาคต ภาพนี้เป็นภาพที่แสดงที่นิทรรศการศิลปะแห่งปารีสที่เป็นทั้งการยกย่องครูและการโฆษณาตนเองว่าเป็นจิตรกรภาพเหมือน[22] เฮนรี เจมส์ให้ความเห็นเกี่ยวกับงานเขียนในระยะแรกของซาร์เจนต์ว่าเป็นงานที่แสดงถึงความสามารถที่พร้อมที่ออกไปมีอาชีพเป็นศิลปินโดยไม่ต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกเท่าใดนัก[23]

หลังจากออกจากห้องเขียนภาพของการอลุส-ดูว์ร็องแล้ว ซาร์เจนต์ก็เดินทางไปเที่ยวสเปน และไปศึกษาภาพเขียนของดิเอโก เบลัซเกซอย่างดื่มด่ำ โดยการพยามซึมซับเทคนิคต่างๆ ที่เบลัซเกซใช้ และพยายามหาเก็บรวบรวมความคิดสำหรับงานที่จะเขียนในอนาคต[24] ซาร์เจนต์ไปต้องมนตร์ขลังของดนตรีและการเต้นรำแบบสเปน นอกจากนั้นแล้วการเดินทางครั้งนี้ก็ยังเป็นการรื้อฟื้นความสามารถทางดนตรีของซาร์เจนต์ที่ดีพอๆ กับทางด้านศิลปะ และแสดงออกทางทัศนศิลป์ด้วยงานชิ้นเอกชิ้นแรกชื่อ “นักเต้นรำชาวสเปน” (El Jaleo) (ค.ศ. 1882) ดนตรีเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญในชีวิตทางสังคมของซาร์เจนต์ตลอดมาและซาร์เจนต์เองก็เป็นทั้งนักดนตรีสมัครเล่นและนักดนตรีอาชีพผู้มีความสามารถพอตัว นอกจากนั้นแล้วซาร์เจนต์ก็ยังเป็นผู้สนับสนุนคีตกวีสมัยใหม่อย่างแข็งขันโดยเฉพาะ กาเบรียญ โฟเร (Gabriel Fauré)[25] การเดินทางไปอิตาลีทำให้ได้ภาพร่างและความคิดสำหรับภาพชีวิตประจำวันบนถนนในเวนิสมาหลายภาพ ที่เป็นท่าทางและการวางท่าที่ซาร์เจนต์นำมาใช้ในการเขียนภาพเหมือนต่อมา[26]

หลังจากกลับจากการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อหาประสบการณ์แล้วซาร์เจนต์ก็ได้รับงานจ้างให้เขียนภาพเหมือนหลายชิ้น ซึ่งเป็นการเริ่มต้นงานอาชีพ ทันทีที่เริ่มซาร์เจนต์ก็แสดงความมีสมาธิ และความสามารถในการทำงานหนักได้เป็นเวลานานติดต่อกัน ซึ่งทำให้สามารถทำงานเขียนได้อย่างสม่ำเสมอตลอดมาอีกเป็นเวลายี่สิบปี ช่วงระหว่างงานจ้างก็เป็นเวลาที่ใช้ในการเขียนภาพเหมือนของเพื่อนและเพื่อนร่วมอาชีพ ความมีกิริยาดี, ความที่พูดภาษาฝรั่งเศสได้อย่างภาษาแม่ และ ความเชี่ยวชาญในงานอาชีพทำให้ซาร์เจนต์เด่นกว่าจิตรกรภาพเหมือนใหม่คนอื่นๆ และในที่สุดชื่อเสียงก็เป็นที่แพร่หลายและสามารถเรียกค่าจ้างที่สูงได้ และบางครั้งถึงกับปฏิเสธงานจ้างถ้ามีความไม่พอใจกับผู้นั่งเป็นแบบ[27]

งานจิตรกรรม

แก้

ภาพเหมือน

แก้
 
“ลูกสาวของเอ็ดเวิร์ด ดาร์ลีย์ บ็อยท์” (ค.ศ. 1882), พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์, บอสตัน

ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1880 ซาร์เจนต์แสดงภาพเหมือนในนิทรรศการแห่งปารีสอย่างสม่ำเสมอ และมักจะเป็นภาพเขียนเต็มตัวของสตรีเช่นภาพเหมือนของ “มาดามเอดวด พาอิลเยรอง” (Madame Édouard Pailleron) ในปี ค.ศ. 1880 (เขียน “en plein-air” (นอกสถานที่)) และภาพเหมือนของ “มาดามรามง ซูแบร์คาโซ” (Madame Ramón Subercaseaux) ในปี ค.ศ. 1881 งานเขียนของซาร์เจนต์ได้รับวิจารณ์ในทางสรรเสริญมาโดยตลอด[28]

ในบรรดาภาพเขียนชิ้นที่ดีที่สุดต่างๆ ของซาร์เจนต์จะเป็นภาพที่แสดงความเป็นตัวของตัวเองและบุคลิกของผู้นั่งเป็นแบบ ผู้นิยมงานเขียนของซาร์เจนต์จะกล่าวว่าจะมีก็แต่ดิเอโก เบลัซเกซผู้ซึ่งซาร์เจนต์เองก็ชื่นชมและมีอิทธิพลต่อซาร์เจนต์เท่านั้นที่จะเทียบฝีมือกับซาร์เจนต์ได้ อิทธิพลของปรมาจารย์สเปนจะเห็นได้ชัดในงานเขียนชื่อ “ลูกสาวของเอ็ดเวิร์ด ดาร์ลีย์ บอยท์”, ค.ศ. 1882 ที่ฉากภาพในห้องที่ดูเหมือนจะสะท้อนโดยตรงมาจากภาพ “นางสนองพระโอษฐ์” ของเบลัซเกซ[29] ภาพเหมือนที่เขียนในช่วงแรกเป็นภาพที่แสดงถึงความมั่นใจของซาร์เจนต์พอที่จะใช้วิธีเขียนที่ต่างกันไปแล้วแต่งานต่างๆ ทั้งการใช้การวางท่างที่แปลกออกไปกว่าที่ทำกันตามปกติ หรือใช้แสงที่ทำให้ภาพเด่นขึ้น ภาพเขียนภาพหนึ่งที่ได้รับการแสดงบ่อยที่สุดและเป็นที่เป็นที่ชื่นชอบที่สุดของคริสต์ทศวรรษ 1880 คือภาพ “สตรีกับดอกกุหลาบ” ที่เขียนในปี ค.ศ. 1882 ซึ่งเป็นภาพเหมือนของชาร์ลอต เบิร์คฮาร์ดท์ ผู้เป็นเพื่อนสนิทและอาจจะมีความสัมพันธ์กันฉันท์คนรักก็เป็นได้[30]

แต่งงานที่ก่อให้เกิดเรื่องเสียงหายมากที่สุดคือ “ภาพเหมือนของมาดามเอ็กซ์” (มาดามเวอร์จิเนีย อเมลี อเว็นโย โกโทร) ที่เขียนในปี ค.ศ. 1884 ที่ปัจจุบันถือกันว่าเป็นงานชิ้นเอกของซาร์เจนต์ และเป็นงานที่ซาร์เจนต์เองก็รักที่สุด (ซาร์เจนต์กล่าวในปี ค.ศ. 1915 ว่า “ผมคิดว่าภาพนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ผมทำ”)[31] แต่เมื่อแสดงที่นิทรรศการในปี ค.ศ. 1884 ในปารีส ก็กลายเป็นภาพที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาอย่างรุนแรงที่ทำให้ซาร์เจนต์ถึงกับต้องย้ายไปลอนดอน การทดลองวิธีการเขียนภาพแบบใหม่ครั้งนี้มีผลในทางที่ซาร์เจนต์ก็ไม่คาดคิด[32] มาดามโกโทรมิได้เป็นผู้ว่าจ้างให้เขียน แต่ซาร์เจนต์เป็นผู้มีความต้องการที่จะเขียนและได้ติดตามเพื่อหาโอกาสเขียน ซึ่งต่างจากภาพเขียนอื่นที่ลูกค้าเป็นผู้หาตัวจิตรกร ซาร์เจนต์เขึยนจดหมายถึงเพื่อนที่รู้จักมาดามโกโทรด้วยว่า:

ผมมีความต้องการอย่างรุนแรงที่จะเขียนภาพของเธอ และมีเหตุผลพอที่จะเชื่อว่าเธอเองก็ต้องการให้ผมเขียน และกำลังรอให้ใครสักคนเสนอความคิดนี้เพื่อเป็นสรรเสริญความงามของเธอ...คุณอาจจะบอกกับเธอว่าผมเป็นผู้มีพรสวรรค์ที่จะทำดังว่า[33]

 
ภาพเหมือนของมาดามเอ็กซ์” (ค.ศ. 1884)พิพิธภัณฑ์เมโทรโปลิตัน, นครนิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา

ซาร์เจนต์ใช้เวลาปีหนึ่งจึงเขียนภาพ “ภาพเหมือนของมาดามเอ็กซ์” เสร็จ[34] ภาพแรกของมาดามโกโทรเป็นภาพในชุดราตรีคอลึกอันมีชื่อเสียง ผิวขาวงาช้าง และศีรษะเอียงเล็กน้อยเชิงผยอง ครั้งแรกที่เขียนสายเสื้อเป็นแบบที่ตกจากไหล่ซึ่งสร้างความท้าทายและยั่วยวนของภาพเพิ่มขึ้นไปอีก[35] แต่ซาร์เจนต์เปลี่ยนสายเพื่อพยายามลดความไม่พึงพอใจจากผู้ชมที่เกิดขึ้น แต่ก็สายเกินแก้ไปเสียแล้ว หลังจากนั้นแล้วซาร์เจนต์ก็เสียลูกค้าชาวฝรั่งเศสไปหลายคน แม้แต่ซาร์เจนต์เองก็ยอมรับกับเอ็ดมันด์ กอสส์ผู้เป็นเพื่อนในปี ค.ศ. 1885 ถึงผลกระทบกระเทือนว่าทำให้ถึงกับคิดที่จะเลิกเขียนภาพไปเป็นนักดนตรีหรือทำธุรกิจ[36]

จูดิธ โกติเยร์บรรยายปฏิกิริยาของผู้ชมไว้ว่า “จะเป็นภาพของสตรีหรือไม่? หรือไคเมรา หรือภาพยูนิคอร์นที่อยู่บนตราอาร์ม หรือจะเป็นงานตกแต่งแบบตะวันออกที่ห้ารูปทรงของมนุษย์เป็นสิ่งต้องห้าม แต่ก็ยังต้องการที่จะเตือนถึงความเป็นสตรีจนวาดเป็นแบบอาหรับอันหยดย้อยงดงาม? แต่ก็ไม่ใช่สิ่งใดที่กล่าว แต่เป็นภาพอย่างชัดเจนของสตรีสมัยใหม่ที่เขียนอย่างบรรจงโดยจิตรกรผู้เป็นปรมาจารย์ของศิลปะแขนงที่ตนชำนาญ”[37] ก่อนที่จะมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับมาดามเอ็กซ์ในปี ค.ศ. 1884 ซาร์เจนต์เขียนภาพของสตรีผู้มความงามอย่างมีมนตร์ขลังหลายภาพเช่นภาพของโรซินา เฟอร์รารา แห่ง คาปรี และนางแบบสตรีอเมริกันที่อยู่ในสเปนคาร์เมลา แบร์ทาญญา แต่ภาพเหล่านี้ไม่ได้เป็นภาพสำหรับแสดงให้ประชาชนทั่วไปชม ซาร์เจนต์แสดงภาพเหล่านี้อย่างเด่นชัดภาพในห้องเขียนภาพในลอนดอนจนกระทั่งขายให้แก่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันในปี ค.ศ. 1916 สองสามเดือนหลังจากที่เฟอร์ราราเสียชีวิต

ก่อนที่ซาร์เจนต์จะมาถึงอังกฤษ ซาร์เจนต์เริ่มส่งภาพเขียนสำการแสดงที่ราชสถาบันศิลปะที่รวมทั้งภาพเหมือน “ด็อคเตอร์พ็อซซิที่บ้าน” (ค.ศ. 1881) ซึ่งเป็นการเขียนภาพศึกษาสีแดง (essay in red) ที่เป็นภาพเหมือนชายเต็มตัวภาพแรก และภาพที่เขียนแบบธรรมเนียมการเขียนเดิมชื่อ “มิสซิสเฮนรี ไวท์” (ค.ศ. 1883) การได้รับจ้างให้เขียนภาพเหมือนต่อมาเป็นการช่วนให้ซาร์เจนต์ตัดสินใจย้ายไปอังกฤษในปี ค.ศ. 1886 แต่นอกไปจากข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับมาดามเอ็กซ์ในปี ค.ศ. 1884 แล้วก็มีการกล่าวถึงการย้ายไปลอนดอนมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1882 ซาร์เจนต์ได้รับการชักชวนหลายครั้งโดยเพื่อนใหม่นักเขียนนวนิยายเฮนรี เจมส์ ซึ่งทำให้การย้ายไปลอนดอนเป็นที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว[38]

ในระยะแรกนักวิพากษ์ศิลป์ชาวอังกฤษก็ไม่ได้แสดงความกระตือรือร้นกับซาร์เจนต์เท่าใดนัก และกล่าวหาว่าการใช้สีของซาร์เจนต์เป็นการแสดงความ “อวดโอ้แบบฝรั่งเศส” นักวิพากษ์ศิลป์บรรยายเทคนิคการภาพเหมือน “มิสซิสเฮนรี ไวท์” ว่า “แข็ง” และ “แทบจะมีลักษณะเป็นโลหะ” ที่ดูเหมือนจะ “ไม่มีรสนิยมในการแสดงออก หรือ การวางท่า” แต่ด้วยความช่วยเหลือของมิสซิสเฮนรี ไวท์เอง ไม่นานนักซาร์เจนต์ก็มีลูกค้าและนักวิพากษ์ผู้ชื่นชมผลงาน[39] เฮนรี เจมส์เองก็พยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่โดยการ “สนับสนุนเท่าที่จะทำได้”[40]

 
“เลดี้แอ็กนิวแห่งล็อกนอว์” โดยจอห์น ซิงเกอร์ ซาร์เจนต์, ค.ศ. 1893, หอศิลป์แห่งชาติ, สกอตแลนด์

ซาร์เจนต์ใช้เวลาพอประมาณในการเขียนภาพนอกสถานที่ในชนบทอังกฤษเมื่อใดที่ไม่ต้องทำงานในห้องเขียน เมื่อไปเยี่ยมโกลด มอแน ที่ จิแวร์นี ในปี ค.ศ. 1885 ซาร์เจนต์ก็เขียนภาพเหมือนที่มีลักษณะแบบศิลปะอิมเพรสชันนิสม์ที่สุด ที่เป็นภาพของโมเนท์กำลังนั่งเขียนภาพที่ชายป่ากับเจ้าสาวคนใหม่ไม่ไกลนัก ตามปกติแล้วซาร์เจนต์ก็ไม่ถือว่าเป็นจิตรกรภาพเหมือนเชิงอิมเพรสชันนิสม์ แต่ก็จะใช้เทคนิคของการเขียนแบบอิมเพรสชันนิสม์อย่างมีประสิทธิภาพเช่นภาพ “โกลด มอแนเขียนภาพริมป่า” ที่เป็นการเขียนภาพแบบอิมเพรสชันนิสม์ตามสายตาของซาร์เจนต์ ในคริสต์ทศวรรษ 1880 ซาร์เจนต์เข้าร่วมในการแสดงนิทรรศกรรมภาพเขียนอิมเพรสชันนิสม์ และเริ่มทำการเขียนภาพนอกสถานที่ ตามแบบที่เรียกว่าวิธีเขียนแบบ “เขียนภาพนอกสถานที่” หลังจากเดินทางไปเยี่ยมโมเนท์แล้ว ซาร์เจนต์ก็ซื้อภาพเขียนของโมเนท์สี่ภาพสำหรับเก็บไว้เป็นของตนเองด้วย[41] ซาร์เจนต์พอใจที่จะเขียนภาพเหมือนของเพื่อนพอล เฮลลูที่เขียนภายนอกบ้านโดยมีภรรยาอยู่เคียงข้าง ภายถ่ายที่คล้ายคลึงกับภาพเขียนทำให้สันนิษฐานได้ว่าบางครั้งซาร์เจนต์ก็ใช้ภาพถ่ายในการช่วยจัดองค์ประกอบของภาพ[42] จากการเป็นเพื่อนกับเฮลลูทำให้ซาร์เจนต์ได้พบและเขียนภาพประติมากรคนสำคัญฝรั่งเศสโอกุสต์ รอแด็งในปี ค.ศ. 1884 ซึ่งเป็นภาพเขียนเชิงเศร้าที่คล้ายกับงานเขียนของทอมัส เอคินส์[43] แม้ว่านักวิพากษ์ศิลป์อังกฤษจะจัดซาร์เจนต์ในกลุ่มจิตรกรอิมเพรสชันนิสม์ แต่จิตรกรอิมเพรสชันนิสม์ของฝรั่งเศสไม่เห็นด้วย โมเนท์กล่าวต่อมาว่าซาร์เจนต์ “ไม่ใช่จิตรกรอิมเพรสชันนิสม์ตามคำจำกัดความที่เราวางไว้ เพราะเป็นผู้เขียนตามแนวอิทธิพลของการอลุส-ดูว์ร็องเป็นอันมาก”[44]

ความสำเร็จของซาร์เจนต์ครั้งแรกที่ราชสถาบันศิลปะเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1887 เมื่อสร้างความสนใจเป็นอันมากในภาพ “คาร์เนชัน, ลิลลี, ลิลลี, ดอกกุหลาบ” ซึ่งเป็นภาพเขียนขนาดใหญ่ของเด็กหญิงสองคนจุดโคมญี่ปุ่นในส่วนอังกฤษที่บรอดเวย์ในค็อตสวอลด์ หอศิลป์เททซื้อภาพทันที

ในปี ค.ศ. 1887 ถึง ค.ศ. 1888 ซาร์เจนต์เดินทางไปนิวยอร์กและบอสตันเป็นครั้งแรก การไปสหรัฐอเมริกาทำให้ได้รับงานจ้างสำคัญมากว่ายี่สิบชิ้น รวมทั้งภาพเหมือนของอิซาเบลลา สจวต การ์ดเนอร์ผู้อุปถัมภ์ศิลปะคนสำคัญของบอสตัน และมิสซิสเอเดรียน อิเซลินภรรยาของนักธุรกิจชาวนิวยอร์กซึ่งเป็นภาพที่เผยให้เห็นบุคลิกของผู้เป็นแบบได้อย่างชัดแจ้ง นอกจากนั้นแล้วซาร์เจนต์ก็ได้รับเกียรติในการเปิดงานแสดงศิลปะเฉพาะของตนเอง ซึ่งก็ได้แสดงภาพเขียน 22 ภาพ[45]

เมื่อกลับมาถึงลอนดอนซาร์เจนต์ก็เริ่มยุ่งกับงานอีกครั้ง วิธีเขียนภาพเมื่อมาถึงช่วงนั้นก็ลงตัวเรียบร้อย ที่เป็นวิธีที่ตามขั้นตอนที่ใช้โดยปรมาจารย์ด้านจิตรกรรมภาพเหมือนที่ทำกันมาก่อนหน้านั้น หลังจากที่ได้รับงานจ้างโดยการเจรจาต่อรองด้วยตนเองมาแล้วซาร์เจนต์ก็จะไปเยี่ยมลูกค้าที่บ้านเพื่อจะดูตำแหน่งที่จะแขวนภาพ และมักจะดูตู้เสื้อผ้าเพื่อจะได้เลือกเครื่องแต่งการที่เหมาะสม ภาพเขียนบางภาพก็เป็นภาพที่เขียนที่บ้านของลูกค้าเอง แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะเขียนในห้องเขียนภาพที่เต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์และฉากหลังต่างๆ ให้เลือกเพื่อให้ได้ผลที่ต้องการ[46] ส่วนใหญ่แล้วการนั่งเป็นแบบก็จะทำราวแปดถึงสิบครั้ง แต่ใบหน้าจะทำภายในครั้งเดียว ระหว่างเขียนซาร์เจนต์ก็จะชวนผู้นั่งเป็นแบบสนทนา และบางครั้งเมื่อหยุดก็อาจจะเล่นเปียนโนให้ผู้นั่งเป็นแบบค้าฟังไปด้วย ซาร์เจนต์แทบจะไม่ใช้ดินสอ หรือร่างด้วยสีน้ำมัน แต่จะเขียนด้วยสีน้ำมันโดยตรง[47] และขั้นสุดท้ายซาร์เจนต์ก็จะเลือกกรอบที่เหมาะสมให้

ซาร์เจนต์ไม่มีผู้ช่วยและจะทำทุกอย่างด้วยตนเอง ตั้งแต่การเตรียมผ้าใบที่จะเขียน, จัดการถ่ายภาพ, จัดการส่งภาพให้ลูกค้า และทำเอกสาร แต่ละภาพที่เขียนก็ตกราว $5,000 ต่อภาพหรือ $130,000 ตามค่าเงินปัจจุบัน[48] ลูกค้าชาวอเมริกันบางคนถึงกับเดินทางมาลอนดอนด้วยค่าใช้จ่ายของตนเองเพื่อมาให้ซาร์เจนต์เขียนภาพ

 
ซาร์เจนต์เน้นความงามอันมีเสนห์ของอัลมินา เวิร์ทไฮเมอร์ในปี ค.ศ. 1908 โดยแต่งตัวให้เป็น “แบบตุรกี” (Turquerie)

ราวปี ค.ศ. 1890 ซาร์เจนต์เขียนภาพสองภาพเชิงท้าทายเป็นการส่วนตัวเพื่อเป็นภาพสำหรับสร้างชื่อเสียงให้แก่ตนเอง—ภาพหนึ่งเป็นของดาราเอลเล็น เทอร์รีในบทเลดี้แม็คเบ็ธ และอีกภาพหนึ่งเป็นภาพดาราเต้นรำผู้มีชื่อเสียงของสเปนลาคาร์เมซิตา[49] ซาร์เจนต์ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของราชสถาบันศิลปะ สามปีต่อมาก็ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกเต็มตัว ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1890 ซาร์เจนต์รับงานเขียนภาพเฉลี่ยราวสิบสี่ภาพต่อปี แต่ก็ไม่มีภาพใดที่งดงามเท่ากับภาพ “เลดี้แอ็กนิวแห่งล็อกนอว์”ที่เขียนในปี ค.ศ. 1892 ภาพเขียนของมิสซิสฮิวห์ แฮมเมอร์สลีย์ก็ได้รับการรับรองพอๆ กันสำหรับการแสดงความมีชีวิตชีวาของสตรีผู้เด่นในสังคมลอนดอนในขณะนั้นคนหนึ่งในขณะนั้น ในฐานะจิตรกรภาพเหมือน ซาร์เจนต์เป็นจิตรกรผู้ประสบความสำเร็จอันไม่มีผู้ใดเทียมเท่า ผู้เป็นแบบจะทั้งดูสง่าแต่ในขณะเดียวกันก็มีพลังเชิงลุกลี้ลุกลน เช่น “มิสซิสฮิวห์ แฮมเมอร์สลีย์”ในปี ค.ศ. 1892 โดยปราศจากความเกรงกลัวว่าจะถูกคำครหาซาร์เจนต์กล่าวถึงภาพนี้ว่าเป็น “ภาพแวนไดค์แห่งยุค[50] แม้ว่าซาร์เจนต์จะเป็นชาวอเมริกันที่พำนักอยู่ในต่างประเทศ แต่ก็ได้เดินทางกลับไปยังสหรัฐอเมริกาหลายครั้งส่วนใหญ่ก็จากเสียงเรียกร้องให้มาเขียนภาพเหมือน ภาพที่เขียนที่สำคัญๆ ในปัจจุบันเป็นของพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกา

ซาร์เจนต์เขียนภาพเหมือนสามภาพของโรเบิร์ต หลุยส์ สตีเวนสัน ภาพที่สอง ”ภาพเหมือนของโรเบิร์ต หลุยส์ สตีเวนสันและภรรยา” (ค.ศ. 1885) เป็นภาพที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุด[51] นอกจากนั้นแล้วก็ยังเขียนภาพเหมือนของประธานาธิบดีอีกสองคนธีโอดอร์ รูสเวลต์ และ วูดโรว์ วิลสัน

แอชเชอร์ เวิร์ทไฮเมอร์นักค้าขายศิลปะผู้มีฐานะดีของลอนดอนจ้างให้ซาร์เจนต์เขียนภาพเหมือนราวสิบสองภาพของสมาชิกในครอบครัวซึ่งเป็นจำนวนงานจ้างที่สูงที่สุดจากลูกค้าคนเดียว[52] ภาพเขียนเป็นภาพที่แสดงถึงความคุ้นเคยระหว่างผู้เขียนภาพและผู้เป็นแบบ เวิร์ทไฮเมอร์ยกภาพเขียนเกือบทุกภาพให้แก่หอศิลป์แห่งชาติ, ลอนดอน[53]

เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1900 ชื่อเสียงของซาร์เจนต์ก็ถึงจุดที่รุ่งเรืองที่สุด นักเขียนการ์ตูนแม็กซ์ เบียร์โบห์มเขียนซาร์เจนต์สิบเจ็ดภาพที่เป็นลักษณะการ์ตูน (caricature) ที่อ้วนพุงพลุ้ย[54][55] ขณะนั้นซาร์เจนต์ผู้ยังอยู่ในวัยสี่สิบปีก็เริ่มเดินทางมากขึ้นและใช้เวลาเขียนภาพเหมือนน้อยลง ภาพเขียน “ภายในในเวนิส” (ค.ศ. 1900) เป็นภาพเหมือนของสมาชิกในครอบครัวเคอร์ติสภายในคฤหาสน์อันโอ่อ่าเป็นภาพที่ประสบความสำเร็จอย่างไม่มีเงื่อนไข แม้ว่าเจมส์ แม็คนีลล์ วิสต์เลอร์จะไม่เห็นด้วยกับการใช้ฝีแปรงที่เป็นอิสระ โดยสรุปว่า “เลอะเทอะไปทั้งภาพ”[56] ภาพเหมือนภาพสำคัญภาพสุดท้ายภาพหนึ่งของซาร์เจนต์เป็นภาพลอร์ดริบเบิลส์เดลที่เขียนในปี ค.ศ. 1902 ในเครื่องแต่งกายชุดล่าสัตว์อันสง่างาม ระหว่างปี ค.ศ. 1900 ถึงปี ค.ศ. 1907 ซาร์เจนต์ก็ยังคงเขียนภาพเป็นจำนวนมากที่นอกไปจากภาพสีน้ำมันสิบกว่าภาพแล้ว ก็เป็นวาดลายเส้นเป็นจำนวนร้อยที่ราคาตกราว $400 ต่อภาพ[57]

 
"คนพายเรือนอนหลับ" ราว ค.ศ. 1904

ในปี ค.ศ. 1907 เมื่ออายุได้ห้าสิบเอ็ดปีซาร์เจนต์ก็ปิดห้องเขียนภาพอย่างเป็นทางการ โดยกล่าวว่า “การเขียนภาพเหมือนก็คงจะสนุกดีถ้าจิตรกรไม่ต้องถูกบังคับให้สนทนากับผู้เป็นแบบขณะที่กำลังเขียนภาพ…การที่ต้องหาทางให้ลูกค้ามีความสุขระหว่างที่นั่งเป็นแบบออกจะเป็นภาระ โดยเฉพาะเมื่อต้องแสดงสีหน้าว่ามีความสุข ทั้งที่บางครั้งก็อาจจะไม่มีความสุขในใจเลย”[58] ในปีเดียวกันซาร์เจนต์ก็เขียนภาพเหมือนตนเองที่ดูเรียบและขึงขังซึ่งเป็นภาพสุดท้ายสำหรับการสะสมภาพเหมือนอันมีชื่อเสียงของหอศิลป์อุฟฟีซีที่ฟลอเรนซ์ในประเทศอิตาลี[59]

แต่ซาร์เจนต์ก็ยังคงมีชื่อเสียง พิพิธภัณฑ์ต่างๆ ก็พยายามเสาะหาและซื้องานที่เขียนโดยซาร์เจนต์ ในปีเดียวกับซาร์เจนต์ปฏิเสธไม่ยอมรับบรรดาศักดิ์อัศวินของสหราชอาณาจักรและตัดสินใจดำรงรักษาสิทธิในการเป็นพลเมืองอเมริกันต่อไป ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1907[60] เป็นต้นไปซาร์เจนต์ก็เลิกเขียนภาพเหมือนเป็นส่วนใหญ่และหันไปเขียนภูมิทัศน์ ซาร์เจนต์เดินทางไปสหรัฐอเมริกาหลายครั้งในช่วงสิบปีสุดท้ายของชีวิต รวมทั้งเมื่อไปพำนักอยู่เป็นเวลาสองปีเต็มระหว่างปี ค.ศ. 1915 ถึงปี ค.ศ. 1917[61]

เมื่อซาร์เจนต์เขียนภาพเหมือนของจอห์น ดี ร็อกกี้เฟลเลอร์เสร็จในปี ค.ศ. 1917 นักวิพากษ์ศิลป์ก็ได้จัดให้ซาร์เจนต์เป็นปรมาจารย์ของจิตรกรรมจากอดีต นักสมัยใหม่นิยมวิจารณ์งานเขียนของซาร์เจนต์อย่างรุนแรงมากกว่านั้นโดยกล่าวว่าเป็นงานที่ไม่มีความสัมพันธ์กับความเป็นจริงของชีวิตแบบอเมริกัน และแนวโน้มของศิลปะที่กำลังก่อตัวขึ้นในขณะนั้นที่รวมทั้งคิวบิสม์ และ อนาคตนิยม[62] ซาร์เจนต์ยอมรับข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างเงียบๆ แต่ไม่ยอมเปลี่ยนทัศนคติในทางลบที่มีต่องงานศิลปะสมัยใหม่ โดยโต้ว่า “อิงเกรส์, ราฟาเอล และ เอล เกรโกคือผู้ที่ผมชื่นชมในขณะนี้ และนี่คือสิ่งที่ผมชอบ”[63] ในปี ค.ศ. 1925 ไม่นานก่อนหน้าที่จะเสียชีวิต ซาร์เจนต์เขียนภาพสีน้ำมันภาพสุดท้ายของเกรซ เคอร์ซอน มาร์ชิออนเนสแห่งเคดเดิลสทันที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเคอร์ริเออร์ซื้อในปี ค.ศ. 1936[64]

จิตรกรรมสีน้ำ

แก้
 
“เดินยามเช้า” โดยจอห์น ซิงเกอร์ ซาร์เจนต์, งานสะสมส่วนบุคคล

ในชีวิตการเป็นจิตรกรซาร์เจนต์เขียนจิตรกรรมสีน้ำกว่า 2,000 ภาพที่เป็นภาพของตั้งแต่ชนบทอังกฤษไปจนถึงเวนิส, ไทโรล, คอร์ฟู, ตะวันออกกลาง, มอนทานา, เมน และฟลอริดา แม้ในยามที่พักจากการเขียนภาพเหมือนในห้องเขียนภาพ ซาร์เจนต์ก็ยังคงเขียนภาพตั้งแต่เช้ายันค่ำ

จิตรกรรมสีน้ำเป็นจำนวนร้อยของเวนิสเป็นงานที่น่าสนใจโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่เป็นงานที่เขียนจากมุมมองจากกอนโดลา สีที่ใช้บางครั้งก็จะเป็นสีที่เด่นสะดุดตา ที่ผู้ชมคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า “ทุกอย่างในภาพเขียนด้วยความแรงกล้าของความฝัน”[65] ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือซาร์เจนต์เขียนภาพเบดูอิน, ฝูงแพะ และคนหาปลา ในระยะสิบปีสุดท้ายของชีวิตซาร์เจนต์เขียนจิตรกรรมสีน้ำหลายภาพของพืช, ดอกไม้ และชาวอเมริกันอินเดียนในเมน, ฟลอริดา และทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา

การใช้สีน้ำทำให้ซาร์เจนต์สามารถฟื้นฟูความสนใจทางศิลปะที่สนใจมาก่อนในสมัยที่เริ่มเป็นจิตรกรที่เกี่ยวกับธรรมชาติ, สถาปัตยกรรม, ผู้คนที่น่าสนใจ และภูมิทัศน์ของภูเขา งานเขียนในบั้นปลายจึงเป็นงานเขียนที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นงานที่ซาร์เจนต์เขียนขึ้นเพื่อตนเอง งานสีน้ำของซาร์เจนต์เป็นงานที่เขียนด้วยความเรียบลื่น นอกจากนั้นแล้วซาร์เจนต์ก็ยังเขียนภาพของครอบครัว, เพื่อน, สวน และน้ำพุ ซาร์เจนต์ใช้สีน้ำในการเขียนภาพของเพื่อนและครอบครัวแต่งตัวแบบตะวันออก พักผ่อนท่ามกลางภูมิทัศน์ที่สว่างที่ทำให้ได้ใช้สีอันสดใส และการเขียนแบบทดลองมากกว่าที่จะทำได้กับการเขียนภาพเหมือนที่เป็นงานจ้าง[66] งานแสดงจิตรกรรมสีน้ำเฉพาะของตนเองของซาร์เจนต์จัดขึ้นที่หอศิลป์คาร์แฟ็กซ์ในกรุงลอนดอนในปี ค.ศ. 1905.[67] ในปี ค.ศ. 1909 ซาร์เจนต์แสดงจิตรกรรมสีน้ำแปดสิบหกภาพในนครนิวยอร์ก ที่พิพิธภัณฑ์บรุคลินซี้อไปแปดสิบสามภาพ[68] อีแวน ชาร์เตอริสเขียนในปี ค.ศ. 1927 ว่า:

แม้ว่างานสีน้ำของซาร์เจนต์จะไม่อยู่ในระดับเดียวกับงานเขียนของวินสโลว์ โฮเมอร์ผู้ที่อาจจะถือกันว่าเป็นปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ของจิตรกรรมสีน้ำของอเมริกา แต่ก็ยังเป็นงานที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถด้านต่างๆ ในเทคนิคการใช้สีน้ำที่รวมทั้งวิธีที่โฮเมอร์ใช้ด้วย[69]

งานอื่นๆ

แก้

เพื่อสนองความต้องการของภาพเหมือนของลูกค้าผู้มีฐานะมั่งคั่ง ซาร์เจนต์ก็ใช้การร่างด้วยถ่านอย่างรวดเร็วเป็นจำนวนร้อยที่ซาร์เจนต์เองเรียกว่า “Mugs” ในปี ค.ศ. 1916 ราชสมาคมจิตรกรภาพเหมือนก็ได้จัดแสดงภาพที่เขียนด้วยวิธีนี้ระหว่างปี ค.ศ. 1890 ถึงปี ค.ศ. 1916 [70]

งานชิ้นใหญ่โตของซาร์เจนต์เป็นงานตกแต่งฝาผนังที่ห้อสมุดสาธารณะแห่งบอสตันที่เป็นภาพประวัติของศาสนาและพระเจ้าของพหุเทวนิยม (polytheism)[71] โดยใช้วิธี “marouflage” ติดบนผนัง

เมื่อกลับมายังอังกฤษในปี ค.ศ. 1918 จากการไปพำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกา ซาร์เจนต์ก็ได้รับจ้างให้เป็นจิตรกรเขียนภาพสงครามโดยกระทรวงข่าวสารข้อมูลแห่งสหราชอาณาจักร (British Ministry of Information) ซาร์เจนต์เขียภาพขนาดใหญ่ให้แก่กระทรวงชื่อ “ถูกรมแก๊ส” และภาพสีน้ำอีกหลายภาพที่เป็นภาพของมหาสงคราม[72]

ความสัมพันธ์และชีวิตส่วนตัว

แก้
 
“พี่น้องวิคเคอร์”, ค.ศ. 1884

ซาร์เจนต์เป็นชายโสดตลอดชีวิตผู้ล้อมรอบตนเองด้วยครอบครัวและเพื่อน ในบรรดาศิลปินที่เป็นเพื่อนกันก็มีเดนนิส มิลเลอร์ บังเคอร์, เจมส์ แคร์รอล เบ็ควิธ, เอ็ดวิน ออสติน แอบบี (ผู้ตกแต่งผนังของห้อสมุดสาธารณะแห่งบอสตันเช่นกัน), ฟรานซิส เดวิด มิลเล็ท, วิลฟริด เดอ เกลห์น, เจน เอมเมท เดอ เกลห์น และ โกลด มอแนผู้ซาร์เจนต์เขียน ซาร์เจนต์มีความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนกับจิตรกรพอล เซซาร์ เฮลเลาที่พบกันที่ปารีสในปี ค.ศ. 1878 เมื่อซาร์เจนต์อายุได้ 22 ปีและเฮลเลา 18 จนตลอดชีวิต ผู้ที่นิยมผลงานของซาร์เจนต์ก็ได้แก่เฮนรี เจมส์, อิซาเบลลา สจวต การ์ดเนอร์ (ผู้จ้างและซื้อผลงานของซาร์เจนต์และขอคำแนะนำเมื่อต้องการจะซื้องานศิลปะอื่นๆ)[73] และสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักร[74]

ซาร์เจนต์เป็นผู้ที่รักษาชีวิตส่วนตัวไว้เป็นความเป็นส่วนตัว แต่ฌาคส์-เอมิลล์ บลองซ์ผู้เป็นแบบให้ในสมัยแรกกล่าวถึงชีวิตทางด้านเพศสัมพันธ์หลังจากที่ซาร์เจนต์เสียชีวิตไปแล้วว่าเป็นผู้ “มีชื่อเสียงโด่งดังที่อาจจะออกไปในทางอื้อฉาวทั้งในปารีส และ เวนิส [ซาร์เจนต์]วุ่นวายอยู่กับเรื่องเช่นนี้”[75] แต่ความเป็นจริงนั้นไม่เป็นที่ทราบ นักวิชาการบางท่านก็ให้ความเห็นว่าซาร์เจนต์เป็นชายที่รักเพศเดียวกัน ซาร์เจนต์มีความสัมพันธ์เป็นการส่วนตัวกับคีตกวีฝรั่งเศสเอ็ดมงด์ เดอ โพลินยัค และเคานท์โรแบร์ต เดอ มงต์เอสคู ภาพเหมือนเปลือยของชายที่เขียนแสดงถึงความเข้าใจอันซับซ้อนของความยวนอารมณ์ของร่างกายของชาย โดยเฉพาะในภาพเหมือนของ “ทอมัส อี. แม็คเคลเลอร์” และในภาพ “ทอมมีส์อาบน้ำ”, ร่างภาพเปลือยสำหรับภาพ “นรก” และ “การตัดสิน” และภาพเหมือนต่างๆ ของชายหนุ่มเช่น “บาร์โทโลมี มากานอสโค” และ “หัวโอลิมพิโอ ฟุสโค”[76] แต่ขณะเดียวกันซาร์เจนต์ก็มีความสัมพันธ์กับสตรีหลายคน และความเข้าใจของความยวนอารมณ์ของสตรีที่คล้ายคลึงกันในการเขียนภาพเหมือนของสตรีเช่นในการเขียนภาพศึกษารูปร่างโดยเฉพาเในภาพ “เด็กสาวชาวอียิปต์” ที่เขียนในปี ค.ศ. 1891 นอกจากนั้นก็ยังอาจจะเป็นไปได้ว่ามีความสัมพันธ์กับหลุยส์เบิร์คฮาร์ดท์ผู้เป็นแบบในภาพ “สตรีกับดอกกุหลาบ” ทัศนคติหลังนี้ก็เป็นที่ยอมรับกันในบรรดาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับซาร์เจนต์[77]

ลักษณะงานเขียนของซาร์เจนต์

แก้
 
“Arsène Vigeant”, ค.ศ. 1885, พิพิธภัณฑ์เมซ

ในขณะที่วงการศิลปะหันไปสนใจกับแนวเขียนของอิมเพรสชันนิสม์, โฟวิสม์ และ คิวบิสม์ งานเขียนของซาร์เจนต์เป็นงานเขียนในรูปของสัจนิยมที่อยู่บนพื้นฐานของงานของดิเอโก เบลัซเกซ, อันโตน ฟัน ไดก์ และ ทอมัส เกนส์เบรอ การเขียนตามแบบฉบับของปรมาจารย์ในรูปแบบของงานศิลปะร่วมสมัย ที่ดูเหมือนว่าไม่ต้องใช้ความพยายามเท่าใดนักทำให้ซาร์เจนต์ได้รับงานจ้างเขียน ภาพเหมือนมาโดยตลอด ที่ผลที่ออกมาเป็นภาพเขียนที่มีคุณค่าที่รวมทั้งภาพ “Arsène Vigeant”, ค.ศ. 1885 ที่พิพิธภัณฑ์เมซ; “มิสเตอร์และมิสซิสไอแซ็ค นิวตัน เฟล์พส์-สโตคส์”, ค.ศ. 1897, พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน และทำให้ได้ชื่อว่าเป็น “แวน ไดค์ของยุค”[78]

กระนั้นซาร์เจนต์ก็ได้รับการวิจารณ์จากเพื่อนจิตรกรด้วยกัน: คามิลล์ ปิซาร์โรเขียน “[ซาร์เจนต์]ไม่ใช่ผู้มีความกระตือรือร้น (enthusiast) แต่เป็นเพียงนักแสดงผู้คล่องแคล่ว”[79] และวอลเตอร์ ซิคเคิร์ทพิมพ์งานเสียดสีชื่อ “Sargentolatry”[68] ในบั้นปลายของชีวิตซาร์เจนต์ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นจิตรกรผิดยุค, เป็นสิ่งที่หลงเหลือจากสมัยปิดทอง (Gilded Age) และล้าหลังกับความก้าวหน้าของขบวนการทางศิลปะของยุโรปที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นักประวัติศาสตร์ศิลป์เอลิซาเบธ พริททีจอห์นให้ความเห็นว่าชื่อเสียงที่ลดถอยลงของซาร์เจนต์อาจจะมีสาเหตุบางอย่างมาจากความเป็นอคติต่อชาวเซมิติคในสังคมที่เริ่มก่อตัวขึ้นซึ่งมีผลทำให้มีการต่อต้านสิ่งที่แสดง “ความมั่งคั่งของชาวยิว”[80] และถึงกับให้ความเห็นกันว่าความมีมนตร์ขลังของงานเขียนของซาร์เจนต์[81] เป็นสิ่งดึงดูดลูกค้าที่เป็นชาวยิว ที่ซาร์เจนต์เริ่มเขียนตั้งคริสต์ทศวรรษ 1890 เป็นต้นมา

การเขียนภาพอันสื่อความยวนอารมณ์และความมีมนตร์ขลังจะเห็นได้ชัดที่สุดในภาพเหมือนของ “อัลมินา เวิร์ทไฮเมอร์ลูกสาวของแอชเชอร์ เวิร์ทไฮเมอร์” (ค.ศ. 1908) ที่อัลมินาแต่งตัวแบบเปอร์เซียโพกผ้าที่แต่งด้วยไข่มุก และส่าหรีอินเดีย ซึ่งถ้าเป็นการสื่อความหมายดังว่าก็เป็นที่พอใจของแอชเชอร์ เวิร์ทไฮเมอร์ผู้เป็นนักค้าขายศิลปะชาวยิว[52]

สิ่งที่สร้างความเสียหายให้แก่ชื่อเสียงของซาร์เจนต์มาจากนักวิพากษ์ศิลป์ผู้มีอิทธิพลชาวอังกฤษโรเจอร์ ฟรายของกลุ่มบลูมสบรีที่กล่าววิจารณ์การแสดงภาพย้อนหลังที่ลอนดอนในปี ค.ศ. 1926 ว่าเป็นงานที่ขาดคุณค่าของความงามทางศิลปะ “งดงามนั้นจริง แต่อย่าไขว้เขวความงดงามของการแสดงกับการเป็นศิลปิน”[82] ในคริสต์ทศวรรษ 1930 หลุยส์ มัมฟอร์ดเป็นผู้นำในบรรดากลุ่มนักวิจารณ์งานเขียนของซาร์เจนต์กล่าวว่า: “ซาร์เจนต์ในที่สุดก็เป็นเพียงนักเขียนภาพประกอบ…ผู้แสดงความสามารถในความมีฝีมืออย่างขันแข็ง, เขียนภาพที่เตะตาผู้ดู แต่ก็ไม่สามารถปิดบังความว่างเปล่าของเนื้อหา หรือความขาดความลึกซึ้งของวิธีการเขียนภาพ” อีกปัจจัยหนึ่งที่กระทบกระเทือนชื่อเสียงของซาร์เจนต์คือการเป็นชาวอเมริกันที่ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ต่างประเทศ ซึ่งดูเหมือนจะทำให้มีความเป็นอเมริกันน้อยลงในช่วงที่อเมริกามีความตื่นตัวในศิลปะที่ถือว่าเป็นศิลปะ “อเมริกันแท้” เช่นงานในกลุ่มของสตีกลิทซ์ และของตระกูลงานแอชคันที่กำลังเริ่มรุ่งเรืองขึ้น[83]

แม้ว่าจะถูกวิจารณ์อยู่เป็นช่วงระยะเวลานาน แต่ความเป็นที่นิยมของซาร์เจนต์ก็กลับสูงขึ้นเรื่อยๆ มาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1950 ในคริสต์ทศวรรษ 1960 การฟื้นฟูศิลปะสมัยวิคตอเรียและการศึกษาที่เกี่ยวกับลักษณะการเขียนที่ตรงกับวิธีเขียนของซาร์เจนต์ก็ยิ่งเพิ่มความนิยมขึ้นอีก[84] ซาร์เจนต์กลายเป็นหัวเรื่องของการแสพงนิทรรศการศิลปะขนาดใหญ่ตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ที่รวมทั้งนิทรรศการศิลปะย้อนหลังที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะอเมริกันวิทนีย์ในปี ค.ศ. 1986 และอีกครั้งในนิทรรศการเคลื่อนที่ในปี ค.ศ. 1999 ที่พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์, บอสตัน, หอศิลป์แห่งชาติ, วอชิงตัน ดี.ซี. และ หอศิลป์แห่งชาติ, ลอนดอน

ในปี ค.ศ. 1986 แอนดี วอร์ฮอลให้ความเห็นเกี่ยวกับซาร์เจนต์ว่า “ทำให้ทุกคนดูหรูหรา สูง เพรียว แต่ทุกคนก็ยังมีอารมณ์ และแต่ละคนก็ต่างกันไป” ในขณะเดียวกันนักวิพากษ์ศิลป์โรเบิร์ต ฮิวก์ก็สรรเสริญว่า “เป็นผู้บันทึกอำนาจของชายและความงามของสตรีอันไม่มีผู้ใดเทียมเท่าในยุคเช่นในยุคของเราที่ให้ความสำคัญอันท่วมท้นต่อสิ่งที่ว่านี้”[85]

งานขายหลังจากที่เสียชีวิต

แก้

“ภาพเหมือนของโรเบิร์ต หลุยส์ สตีเวนสันและภรรยา” ขายในราคา 8.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2004 แก่นักธุรกิจคาสิโนสตีฟ วินน์เพื่อใช้ในการติดตั้งในคาสิโนใหม่วินน์ลาสเวกัส


ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2004, “Group with Parasols (A Siesta)” (ค.ศ. 1905) ขายในราคา 23.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐเกือบสองเท่าของราคาที่ประเมินโดยซัทเธอร์บีส์ 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ งานเขียนของซาร์เจนต์ที่ขายในราคาสูงสุดก่อนหน้านั้น 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[86]

งานบางชิ้น

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "While his art matched to the spirit of the age, Sargent came into his own in the 1890s as the leading portrait painter of his generation". Ormond, page. 34, 1998.
  2. "At the time of the Wertheimer commission Sargent was the most celebrated, sought-after and expensive portrait painter in the world". New Orleans Museum of Art
  3. Stanley Olson, John Singer Sargent: His Portrait, St. Martin’s Press, New York, 1986, p. 1, ISBN 0-312-44456-7
  4. Olson, p. 2
  5. Trevor Fairbrother, John Singer Sargent, Harry N. Abrams, New York, 1994, p.11, ISBN 0-8109-3833-2
  6. Olson, p. 9
  7. Olson, p. 10
  8. Olson, p. 15
  9. Olson, p. 18
  10. Carl Little, The Watercolors of John Singer Sargent, University of California Press, Berkeley, 1998, p.7, ISBN 0-520-21969-4
  11. Olson, p. 23
  12. Olson, p. 27
  13. Olson, p. 29
  14. Elizabeth Prettejohn: “Interpreting Sargent”, p. 9. Stewart, Tabori & Chang, 1998.
  15. Elizabeth Prettejohn: Interpreting Sargent, page 9. Stewart, Tabori & Chang, 1998.
  16. 16.0 16.1 Fairbrother, p. 13
  17. Prettejohn, page 14, 1998.
  18. 18.0 18.1 Little, p. 7
  19. 19.0 19.1 Olson, p. 46
  20. 20.0 20.1 Olson, p. 55
  21. Fairbrother, p. 16
  22. Prettejohn, page 14, 1998.
  23. Prettejohn, p. 13, 1998.
  24. Olson, p. 70
  25. Olson, p. 73
  26. Fairbrother, p. 33
  27. Olson, p. 80
  28. Ormond, Richard: "Sargent's Art", “John Singer Sargent”, pp. 25-7. Tate Gallery, 1998.
  29. Ormond, p. 27, 1998.
  30. Fairbrother, p. 40
  31. Richard Ormand and Elaine Kilmurray, “Sargent: The Early Portraits”, Yale University Press, New Haven, 1998, p.114, ISBN 0-300-07245-7
  32. Fairbrother, p. 45
  33. Olson, p. 102
  34. Ormand and Kilmurray, p.113
  35. Fairbrother, p. 47
  36. Fairbrother, p. 55
  37. Cited in Ormond, pages 27-8, 1998.
  38. Ormond, p. 28, 1998.
  39. Fairbrother, p. 43
  40. Olson, p. 107
  41. Fairbrother, p. 61
  42. Olson, plate XVIII
  43. Ormand and Kilmurray, p. 151
  44. Fairbrother, p. 68
  45. Fairbrother, pp. 70-2
  46. Olson, p. 223
  47. Ormand and Kilmurray, p.xxiii
  48. Fairbrother, p. 76, price updated by CPI calculator to 2008 at http://data.bls.gov/cgi-bin/cpicalc.pl
  49. Fairbrother, p. 79
  50. Ormond, page 28-35, 1998.
  51. John Singer Sargent Virtual Gallery, "Robert Lewis Stevenson and his Wife"
  52. 52.0 52.1 Ormond, page 169-171, 1998.
  53. Ormond, page 148, 1998.
  54. Fairbrother, p. 97
  55. Little, p. 12
  56. Fairbrother, p. 101
  57. Fairbrother, p. 118
  58. Olson, p. 227
  59. Fairbrother, p. 124
  60. "In the history of portraiture there is no other instance of a major figure abandoning his profession and shutting up shop in such a peremptory way." Ormond, Page 38, 1998.
  61. Kilmurray, Elaine: "Chronology of Travels", “ซาร์เจนต์ Abroad”, page 242. Abbeville Press, 1997.
  62. Fairbrother, p. 131
  63. Fairbrother, p. 133
  64. Currier Museum of Art, "“Grace Elvina, Marchioness Curzon of Kedleston”" retrieved 4/5/2007 Currier Museum เก็บถาวร 2007-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  65. Little, p. 11
  66. Prettejohn, page 66-69, 1998.
  67. Fairbrother, p. 148
  68. 68.0 68.1 Ormond, page 276, 1998.
  69. Little, p. 17
  70. John Singer Sargent Virtual Gallery, "Royal Society of Portrait Painters"
  71. "The Sargent Murals at the Boston Public Library". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-06-02. สืบค้นเมื่อ 2009-12-17.
  72. Little, p. 135
  73. Kilmurray, Elaine: "Traveling Companions", “Sargent Abroad”, page 57-8. Abbeville Press, 1997.
  74. Kilmurray: "Chronology of Travels", page 240, 1997.
  75. Fairbrother, Trevor “John Singer Sargent: The Sensualist” (2001)ISBN 0-300-08744-6, Page 139, Note 4
  76. Little, p. 141
  77. Ormond, page 14, 1998.
  78. This from Auguste Rodin, upon seeing “The Misses Hunter” in 1902. Ormond and Kilmurray, “John Singer Sargent: The Early Portraits”, page 150. Yale University, 1998.
  79. Rewald, John: “Camille Pissarro: Letters to his Son Lucien”, page 183. Routledge & Kegan Paul, 1980.
  80. Prettejohn, page 73, 1998
  81. Sargent's friend Vernon Lee referred to the artist's "outspoken love of the exotic...the unavowed love of rare kinds of beauty, for incredible types of elegance." Charteris, Evan: “John Sargent”, page 252. London and New York, 1927.
  82. Prettejohn, page 73, 1998.
  83. Fairbrother, p. 140
  84. Fairbrother, p. 141
  85. Fairbrother, p. 145
  86. “The Age”, December 3, 2004

บรรณานุกรม

แก้
  • Fairbrother, Trevor: John Singer Sargent: The Sensualist (2001), ISBN 0-300-08744-6, Page 139, Note 4.
  • Kilmurray, Elaine: Sargent Abroad เก็บถาวร 2016-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Abbeville Press, 1997. Pages 57-8, 242.
  • Noël, Benoît et Jean Hournon: Portrait de Madame X in Parisiana — la Capitale des arts au XIXème siècle, Les Presses Franciliennes, Paris, 2006. pp 100-105.
  • Ormond, Richard: "Sargent's Art" in John Singer Sargent, page 25-7. Tate Gallery, 1998.
  • Prettejohn, Elizabeth: Interpreting Sargent, page 9. Stewart, Tabori & Chang, 1998.
  • Rewald, John: Camille Pissarro: Letters to his Son Lucien, page 183. Routledge & Kegan Paul, 1980.

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ จอห์น ซิงเกอร์ ซาร์เจนต์