ศูนย์การบินทหารบก
ศูนย์การบินทหารบก เป็นส่วนราชการที่ขึ้นตรงต่อกองทัพบกไทย เป็นหน่วยสายวิทยาการที่ใหญ่ที่สุดในกิจการการบินของกองทัพบกไทย โดยมีศูนย์บัญชาการอยู่ ณ ค่ายสมเด็จพระศรีนครินทรา เป็นค่ายทหารในสังกัดกองทัพบกไทย ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
ศูนย์การบินทหารบก หรือ กรมการบิน | |
---|---|
ประจำการ | 25 มิถุนายน พ.ศ. 2478-ปัจจุบัน |
ประเทศ | ไทย |
รูปแบบ | หน่วยบินทหารบก |
กองบัญชาการ | ค่ายสมเด็จพระศรีนครินทรา ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี 15160 |
เว็บไซต์ | aavnc |
ผู้บังคับบัญชา | |
ผู้บัญชาการปัจจุบัน | พลตรี ชูรัตน์ จิยัคฆ์ |
เครื่องหมายสังกัด | |
สัญลักษณ์เครื่องบิน | |
Aircraft flown | |
Attack helicopter | Bell AH-1F Huey Cobra Boeing AH-6 Eurocopter Fennec AS550 C3 |
Cargo helicopter | CH-47 Mil Mi-17-V5 |
Multirole helicopter | AgustaWestland AW149 Bell UH-1H Iroquois Eurocopter UH-72A Lakota |
Trainer helicopter | Enstrom 480, |
เฮลิคอปเตอร์อเนกประสงค์ | UH-60 Bell UH-1H Iroquois Eurocopter UH-72A Lakota |
ประวัติ
แก้- แผนกการบิน ได้รับการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าตามลำดับจนกระทั่งแปรสภาพเป็น “กรมทหารอากาศ” เมื่อ ๒๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๘ และขาดการบังคับบัญชาจากกองทัพบกตั้งเวลานั้น การบินทหารบกได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งในปี พุทธศักราช ๒๔๙๕ เมื่อกองทัพบกได้อนุมัติให้จัดตั้ง “ แผนกวิชาการบินตรวจการณ์ ” ขึ้นในกองการศึกษา โรงเรียนทหารปืนใหญปฏิบัติภารกิจ ตรวจการณ์และปรับการยิงปืนใหญ่ ภารกิจทางธุรการ การติดต่อสื่อสาร และสนับสนุนการกระโดดร่ม
- ในปี พุทธศักราช ๒๔๙๙ “ แผนกวิชาการบินตรวจการณ์ ” ได้แปรสภาพเป็น “ กองโรงเรียนการบิน ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ”
- ในปี พุทธศักราช ๒๕๑๐ “ กองโรงเรียนการบิน ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ” ได้แปรสภาพเป็น “ โรงเรียนการบินทหารบก ”
- ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๕ “ โรงเรียนการบินทหารบก ” ได้แปรสภาพเป็น “ กรมการบินทหารบก ” หน่วยบินระดับกองร้อยบิน ที่กองทัพบกได้จัดตั้งไว้เดิมได้รับการปรับปรุงอัตราการจัดเป็น “ กองบิน ” และได้จัดตั้งกองบินปีกหมุนรวมทั้งได้บรรจุอากาศยานเข้าประจำการในกองบินต่างๆ เพิ่มเติมอีกจำนวนมาก
- ในที่สุด “ กรมการบินทหารบก ” ได้แปรสภาพเป็น “ ศูนย์การบินทหารบก ” เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๒๐ และได้รับพระราชทานนามค่ายว่า “ ค่ายสมเด็จพระศรีนครินทรา ” ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้นเอง อีกทั้งยังให้การสนับสนุนในภารกิจการปฏิบัติการทางทหารที่มิใช่สงคราม ซึ่งศูนย์การบินทหารบกมีขีดความสามารถในการ ให้ความช่วยเหลือค้นหา และกู้ภัยต่อผู้ประสบภัยพิบัติ เพื่อสนับสนุนส่วนราชการและองค์กรอื่นในการบรรเทาสาธารณภัย
เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดนามค่ายสมเด็จพระศรีนครินทรา
การพระราชทานนามค่าย
แก้ในวันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2520 เนื่องจากวันนี้เป็นวันมหามงคล สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดนามค่ายสมเด็จพระศรีนครินทรา ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตามหนังสือวังสระปทุม ลงวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2520 กรมการบินทหารบก (ศูนย์การบินทหารบกปัจจุบัน) ขอพระราชทานพระนามาภิไธยของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเป็นนามค่ายก็เพื่อเทิดทูนพระเกียรติของพระองค์เพราะว่าสมเด็จพระศรีนครินทราพระองค์บรมราชชนนีทรงประกอบ คุณงามความดีแก่ประเทศชาติประชาชนชาวไทย ทรงตรากตรำพระวรกายเพื่อเสด็จออกเยี่ยมเยียนประชาชนทุกแห่งไม่ว่าสถานที่นั้นอยู่ห่างไกล, ทุรกันดารเพียงใด พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์เป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญในหมู่พสกนิกรทั่วไป
การจัดหน่วย
แก้- กองบัญชาการ
- กองวิทยาการ
- กองบริการ
- กองสนามบิน
- กองสื่อสารการบิน
- กองนิรภัยการบิน
- หน่วยตรวจโรค
- โรงเรียนการบินทหารบก
- กรมบิน
- กองพันป้องกันฐานบิน
- แผนกสื่อสารสนับสนุนการบินทหารบก
ภารกิจศูนย์การบินทหารบก
แก้- วางแผน อำนวยการ กำกับการ และดำเนินการฝึก และศึกษาเกี่ยวกับ กิจการของกองทัพบกไทย
- ดำเนินการวิจัย พัฒนากำหนดหลักนิยมและทำตำราในทางวิทยาการ ที่เกี่ยวข้อง
- ปกครองบังคับบัญชาหน่วยทหารที่กระทรวงกลาโหม (ประเทศไทย) กำหนด มีผู้บัญชาการศูนย์การบินทหารบกเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ
บทบาทในฐานะเป็นหน่วยสนับสนุนการรบ
แก้ศูนย์การบินทหารบกได้จัดอากาศยานและกำลังพลสนับสนุนแผนงานการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์และแผนยุทธการต่าง ๆ ของกองทัพบก ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๑๐ เป็นต้นมา โดยมีหน่วยรับผิดชอบหลักในปัจจุบัน คือ กองบินสนับสนุนทั่วไป ซึ่งเป็นหน่วยบินในอัตราของศูนย์การบินทหารบกและหน่วยที่กระทรวงกลาโหมกำหนด คือกองพันบิน ซึ่งมีหน่วยบินในบังคับบัญชา จำนวน ๕ กองบิน ที่ประกอบด้วย ๔ กองบินปีกหมุน และ ๑ กองบินปีกติดลำตัวและซึ่งหน่วยบินเหล่านี้มีภารกิจหลักในการสนับสนุนหน่วยทหารภาคพื้นด้วยการปฏิบัติการทางอากาศ ทั้งภารกิจทางยุทธวิธีและภารกิจอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
วันการบินทหารบก
แก้เมื่อ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2512 พ.ต.ธีระ เล็กวิเชียรหัวหน้าชุดปฏิบัติการร้อย บ.ปีกหมุน ทภ. 3 ส่วนหน้าได้สั่งการให้ ร.ท.ชูชาติ วณีสอน นักบินที่ 1 กับ พ.ต.อ.รัตน์ พรหมโมบลนักบินที่ 2 นำอากาศยานแบบ ฮ.ท.1(HUEY UH-1H)พร้อมด้วยพลประจำปืน 2 นาย ออกปฏิบัติการสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงและการส่งกลับสายแพทย์ให้กับ ผส.7 ร.พัน.3 ณ ฐานปฏิบัติการบริเวณบ้านผาแลเหนือ พิกัด พี.ซี. 482028 อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ทหารในฐานปฏิบัตการดังกล่าวถูกผกค.จำนวนมากทำการโอบล้อมและเข้าโจมตีหลายครั้งหน่วยเหนือยังไม่สามารถจะส่งกำลังเข้าไปช่วยเหลือได้ทำให้ทหารถูกกระสุนปืนข้าศึกได้รับบาดเจ็บและขาดแคลนอุปกรณ์ในการดำรงชีพ โดยเฉพาะกระสุนปืนที่จะยิงต่อสู้กับข้าศึกจน ผกค.เกือบจะเข้ายึดฐานอยู่แล้ว ร.ท.ชูชาติฯ ได้นำ ฮและเจ้าหน้าที่ประจำฮ.ดังกล่าวลำเลียงกระสุนปืนมุ่งหน้าสู่ฐานปฏิบัติการดังกล่าว ซึ่งสภาพของฐานฯ ขาดกระสุนปืนที่จะใช้ยิงต่อสู้กับข้าศึก ทหารส่วนใหญ่ไม่สามารถจะเคลื่อนที่ออกจากที่กำลังได้เนื่องจากถูกข้าศึกที่มีกำลังพลและอาวุธเหนือกว่าระดมยิงเข้าใส่ทุกทิศทางอย่างหนาแน่น ร.ท.ชูชาติฯ ได้ตัดสินใจเสี่ยงชีวิตนำ ฮ.ฝ่าห่ากระสุนปืนของข้าศึกร่อนลงสู่พื้นที่ว่างซึ่งมีอยู่เพียงแห่งเดียวในฐานฯ อย่างรวดเร็ว เมื่อฮ.ลงถึงพื้นทหารส่วนหนึ่งได้วิ่งฝ่าห่ากระสุนไปขนหีบกระสุนปืนลงจาก ฮ. อย่างทุลักทุเล ขณะที่อีกส่วนหนึ่งนำทหารบาดเจ็บลำเลียงไปขึ้น ฮ. ผกค.ได้ถือโอกาสนั้นระดมยิงไปยังฮ.อย่างหนาแน่นกระสุนปืนถูก ฮ. ทะลุพรุนทั่วทั้งลำและ 2 นัดในจำนวนนั้นพุ่งเข้าสู่ร่างของร.ท.ชูชาติฯ ในขณะที่มือกำลังกุมคันบังคับคอยจ้องดูการลำเลียงทหารบาดเจ็บขึ้น ฮ. และพร้อมที่จะวิ่งขึ้นทุกขณะเมื่อการบรรทุกคนเจ็บเสร็จเรียบร้อย นัดที่ 1 ถูกที่แขนขวาทะลุลูกกระสุนตัดเส้นโลหิตใหญ่เฉียดกระดูกแขนท่อนล่างไปไม่ถึงเซนติเมตรโลหิตทะลักสาดทั่วห้องนักบิน เมื่อเห็นว่าทหารบาดเจ็บถูกนำขึ้นฮ.เรียบร้อยแล้ว ร.ท.ชูชาติฯ ก็ตัดสินใจนำ ฮ.วิ่งขึ้นทันทีโดยมิได้คำนึงถึงความเจ็บปวดจากบาดแผลเลยขณะที่ฮ.กำลังลอยตัวพ้นพื้นนัดที่ 2 ก็พุ่งเข้าสู่ ราวนมด้านซ้ายฉีกกล้ามเนื้อหัวใจทะลุออกทางด้านหลังโลหิตไหลอาบนองตักและที่นั่งร.ท.ชูชาติฯรู้ตัวว่าถูกกระสุนปืนข้าศึกที่หน้าอกก็กัดฟันต่อสู้กับความเจ็บปวดพยายามบังคับฮ.บินขึ้นสู่อากาศหลบหลีกวิถีกระสุนของข้าศึกที่รุมกินโต๊ะอย่างบ้าคลั่ง มุ่งกลับที่ตั้งหน่วยทันที แม้บาดแผลที่ได้รับจะสาหัสเพียงใด ร.ท.ชูชาติฯ ก็ใช้ความเข้มแข็งและทรหดอดทนเยี่ยงชายชาติทหารด้วยวิญญาณที่สำนึกในความรับผิดชอบนำฮ.คู่ชีพซึ่งถูกกระสุนข้าศึกพรุนทั้งลำกลับไปลง ณ ที่ตั้งหน่วยได้อย่างเรียบร้อย แต่เนื่องจากบาดแผลที่ราวนมด้านซ้ายฉกรรจ์มากถึงกับกล้ามเนื้อหัวใจทะล ุพอ ฮ .ร่อนลงแตะพื้นเรียบร้อย ร.ท.ชูชาติฯ ก็สิ้นลมหายใจ ไม่มีโอกาสได้ดับเครื่องยนต์ตามปกติ พ.ต.อ.รัตน์ฯ นักบินที่ 2 ได้ให้การช่วยเหลือในการบินตลอดเวลาและได้ช่วยประคองร่างไร้วิญญาณของ ร.ท.ชูชาติฯ ออกจากที่นั่งนักบินเพื่อส่งโรงพยาบาลต่อไปร.ท.ชูชาติฯ ได้เคยปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยเหลือหน่วยทหารภาคพื้นดินเช่นนี้มาหลายครั้งแล้ว แต่ละครั้งแทบจะเอาชีวิตไม่รอดซึ่งทหารภาคพื้นดินต่างก็ได้รับความปลอดภัยและสำเร็จภารกิจจากการเสี่ยงชีวิตของ ร.ท.ชูชาติฯ ทุกครั้ง นับว่าทหารเหล่านั้นเป็นหนี้บุญคุณนักบิน ทบ.ผู้นี้อย่างประมาณค่ามิได้,การเสียสละชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีแห่งชายชาติทหารของ ร.ท.ชูชาติฯครั้งนี้นับเป็นเกียรติประวัติแก่การบินทหารบกอย่างยิ่งจีงได้รับการพิจารณาความดีความชอบและได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล เมื่อ 17 กันยายน พ.ศ. 2519 เพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนความทรงจำของเจ้าหน้าที่การบินทหารบกทุกคน ในอันที่จะยึดถือเป็นแบบอย่างที่ดีสืบไปชาวการบินทหารบกจึงได้ลงความเห็นร่วมกันกำหนดเอาวันสำคัญแห่งวีรกรรมของร.ท.ชูชาติ วณีสอน คือ วันที่ 14 มิถุนายน ของทุก ๆ ปีเป็นวันการบินทหารบกเพื่อจะได้ร่วมกันจัดงานบำเพ็ญกุศลและทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นการรำลึกถึงเจ้าหน้าที่การบินทหารบกผู้วายชนม์เป็นประจำทุกปีสืบต่อไป.. อัตชีวประวัติย่อ ร.ท.ชูชาติ วณีสอน เกิด 2 มีนาคม พ.ศ. 2482 บิดาชื่อ ร.ท.ชาญชัย วณีสอน มารดาชื่อ นางประพาส วณีสอน ภรรยาชื่อ นางทัศนีย์ วณีสอน สำเร็จ รร.เตรียมนายร้อยรุ่นที่ 17 และ รร.จปร. รุ่นที่ 10 เมื่อ พ.ศ. 2506
ชาวการบินทหารบกจึงได้ลงความเห็นร่วมกันกำหนดเอาวันสำคัญแห่งวีรกรรมของ ร.ท.ชูชาติ วณีสอน คือ วันที่ 14 มิถุนายน เป็น วันการบินทหารบก เพื่อจะได้ร่วมกันจัดงานบำเพ็ญกุศลและทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นการรำลึกถึงเจ้าหน้าที่การบินทหารบกผู้วายชนม์เป็นประจำทุกปีสืบต่อไป
หน่วยทหารในค่ายสมเด็จพระนครินทรา
แก้- ศูนย์การบินทหารบก
- โรงเรียนการบินทหารบก
- กรมบิน
- กองพันบินที่ 1
- กองพันบินที่ 2
- กองพันบินที่ 3
- กองพันบินที่ 9
- กองพันบินที่ 21
- กองพันบินที่ 41
- กองพันป้องกันฐานบิน
- แผนกสื่อสารสนับสนุนการบินทหารบก
- กองร้อยซ่อมบำรุงเครื่องบินทหารบกที่ 2 กองพันซ่อมบำรุงเครื่องบินทหารบก
สถานที่สำคัญภายในค่าย
แก้- อ่างเก็บน้ำพระงาม
- สวนสุขภาพ ม่วงศรีงาม
- พิพิธภัณฑ์การบินทหารบก
อ้างอิง
แก้- ศูนย์การบินทหารบก ค่ายสมเด็จพระศรีนครินทรา เก็บถาวร 2010-01-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน