คู่มือการปกครองบาซิลิคอนโดรอน
คู่มือการปกครองบาซิลิคอนโดรอน (กรีก: Βασιλικὸν Δῶρον, Basilikon Doron) เป็นศาสตรนิพนธ์เกี่ยวกับการปกครองราชอาณาจักรที่เขียนโดยสมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ผู้ต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษในปี ค.ศ. 1599
หน้าปก | |
ผู้ประพันธ์ | สมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ |
---|---|
ภาษา | อังกฤษ |
ประเภท | ศาสตรนิพนธ์ |
วันที่พิมพ์ | ค.ศ. 1599 |
“Βασιλικὸν Δῶρον” เป็นภาษากรีกที่แปลว่า “สิ่งที่พระราชทาน” ลักษณะการเขียนเป็นแบบจดหมายส่วนตัวและจดหมายลับถึงพระราชโอรสองค์โตเฮนรี เฟรเดอริค เจ้าชายแห่งเวลส์ ผู้มีพระชนมพรรษาสี่พรรษา หลังจากการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายเฮนรี เฟรเดอริคในปี ค.ศ. 1612 เมื่อมีพระชนมายุได้ 18 พรรษา พระเจ้าเจมส์ก็พระราชทาน “บาซิลิคอนโดรอน” ให้แก่พระราชโอรสองค์ที่สองเจ้าชายชาร์ลส์ผู้ประสูติเมื่อปี ค.ศ. 1600 ผู้ต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ “บาซิลิคอนโดรอน” ได้รับการพิมพ์ที่เอดินบะระห์ในปี ค.ศ. 1599 และในลอนดอนในปี ค.ศ. 1603
“บาซิลิคอนโดรอน” แบ่งเป็นสามเล่มโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้เป็นคู่มือที่ใช้ในการกระทำตนเป็นพระมหากษัตริย์ผู้มีสมรรถภาพ เล่มแรกบรรยายหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ที่มีต่อพระเจ้าในฐานะผู้ถือคริสต์ศาสนา เล่มที่สองเน้นถึงบทบาทและความรับผิดชอบในหน้าที่ของการเป็นพระมหากษัตริย์ เล่มที่สามเป็นการชี้แนวทางในการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสม
ในเล่มแรกที่กล่าวถึงการเป็นผู้ถือคริสต์ศาสนาที่ดีพระเจ้าเจมส์ทรงสอนพระราชโอรสให้รัก นับถือ และเกรงกลัวพระเจ้า นอกจากนั้นก็จำเป็นที่จะต้องศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างถี่ถ้วน และโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพันธสัญญาเดิม และ พันธสัญญาใหม่ และสิ่งสุดท้ายคือการสวนมนต์อย่างสม่ำเสมอและมีความรู้สึกในพระกรุณาธิคุณของพระเจ้าในสิ่งที่ได้รับ สิ่งต่างๆ ที่ทรงบรรยายในเล่มนี้บรรยายในบริบทของการเป็นคริสเตียนผู้เคร่งครัด
ในเล่มที่สองพระเจ้าเจมส์ทรงสั่งสอนให้พระราชโอรสประพฤติตนเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณธรรม แทนที่จะเป็น ‘ทรราช’ โดยการวางและปฏิบัติตามกฎหมาย และปกครองด้วยความยุติธรรมและความเท่าเทียม การส่งเสริมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจกระทำได้โดยการเชิญชวนพ่อค้าชาวต่างประเทศให้เข้ามาทำการค้าขายในประเทศ และ ออกเงินตราบนพื้นฐานของค่าของเงินและทอง ตามทัศนคติของพระเจ้าเจมส์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณธรรมต้องมีความใกล้ชิดกับไพร่ฟ้าประชาชน ซึ่งพระองค์พระราชทานคำแนะนำว่าควรจะประพาสส่วนต่าง ๆ ของราชอาณาจักรทุกสามปี ระหว่างที่มีการศึกสงครามพระมหากษัตริย์ก็ควรจะเลือกแม่ทัพผู้มีอาวุโสผู้มีความสามารถในการนำกองทัพที่ประกอบด้วยนายทหารที่ยังหนุ่มแน่นแข็งแรง ภายในราชสำนักเองพระมหากษัตริย์ก็จะต้องเลือกข้าราชสำนักอย่างระมัดระวังจากผู้ที่มีความจงรักภักดี เมื่อถึงโอกาสที่จะเลือกคู่ก็ควรจะเป็นผู้ที่ถือศาสนาเดียวกัน และ มีอสังหาริมทรัพย์อันใหญ่โต แต่คู่ที่เลือกมาก็ไม่ควรจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจการเกี่ยวกับการปกครองประเทศ แต่ควรจะทำหน้าที่ภริยาที่ดีภายในบ้านเรือน ส่วนการสืบเชื้อสายเพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ราชอาณาจักรพระมหากษัตริย์ก็ควรที่จะยกให้แก่พระราชโอรสองค์โต โดยไม่แบ่งให้แก่พระราชโอรสทุกพระองค์ และในที่สุดสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับพระเจ้าเจมส์คือการที่พระราชโอรสของพระองค์มีความรู้อย่างลึกซึ้งถึงการปกครองไพร่ฟ้าประชาชนในอาณัติ ในการบรรลุถึงวัตถุประสงค์ดังว่าพระราชโอรสก็จะต้องศึกษากฎหมายของราชอาณาจักร และเข้าร่วมในการประชุมสภาองคมนตรี นอกจากนั้นก็ยังจะต้องมีความรู้ทางคณิตศาสตร์เพื่อใช้ประโยชน์ในทางการทหาร และ ประวัติศาสตร์โลกเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการต่างประเทศ ข้อแนะนำเหล่านี้เป็นแม่บททั่วไปของการเป็นผู้นำที่ดีที่พระเจ้าเจมส์ทรงมอบให้แก่พระราชโอรสเพื่อการเตรียมตัวขึ้นครองราชบัลลังก์
เล่มที่สามของ “บาซิลิคอนโดรอน” เน้นการดำเนินชีวิตประจำวันโดยทั่วไปของพระมหากษัตริย์ เช่นเมื่อพระราชทานคำแนะนำให้เสวยเนื้อเพื่อสร้างพระวรกายให้แข็งแรงในการเดินทางหรือการออกรบ และไม่ควรที่จะเสวยน้ำจัณฑ์หรือนอนหลับจนเกินควร นอกจากนั้นแล้วฉลองพระองค์ก็ควรจะต้องได้รับการรักษาอย่างสะอาดและถูกต้อง และ ต้อไม่ปล่อยให้พระนขาและพระเกศายาว ในการเขียนสุนทรพจน์ก็ควรจะใช้ภาษาที่ตรงไปตรงมาและภาษาธรรมดา ข้อแนะนำสุดท้ายเป็นการแนะนำกิริยามารยาทที่ควรประพฤติของสุภาพบุรุษโดยเฉพาะของพระมหากษัตริย์
ข้อแนะนำต่างๆ เหล่านี้เป็นกฎปฏิบัติพื้นฐาน (code of conduct) ที่ควรจะทำโดยพระมหากษัตริย์หรือประมุขของรัฐในการทำการปกครองอย่างมีประสิทธิภาพ สมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 1 รวบรวมกฎต่างๆ เหล่านี้ขึ้นจากประสบการณ์และการเลี้ยงดูอบรมเมื่อเจริญพระชันษาขึ้นมาของพระองค์เอง ฉะนั้นพระองค์จึงให้ “ของขวัญพระราชทาน” แก่พระราชโอรสโดยมีพระประสงค์ที่ให้ช่วยเป็นเครื่องมือในการเป็นผู้นำที่ดี และ ผ่านกฎปฏิบัติพื้นฐานนี้ต่อไปยังชนรุ่นหลังต่อไป
“บาซิลิคอนโดรอน” กล่าวย้ำปรัชญา “เทวสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์” ตามที่พระเจ้าเจมส์เองทรงวางไว้ใน “สัตย์บัญญัติสำหรับพระมหากษัตริย์เอกราช” (The True Law of Free Monarchies) ซึ่งเป็นการเตือนถึงอันตรายจากฝ่ายสันตะปาปา (Papist) และ กลุ่มเพียวริตัน และสนับสนุนการนำเนื้อหาที่เคลือบแคลงออกจากคัมภีร์ไบเบิล “บาซิลิคอนโดรอน” อาจจะเป็นหนังสือที่พิมพ์ขึ้นเพื่อการเสริมสร้างพระบารมีของพระมหากษัตริย์ โดยมีเจมส์ เซมพิลล์เป็นผู้ช่วยเขียน โรเบิร์ต วอลด์เกรฟสาบานว่าจะไม่เปิดเผย พิมพ์งานนี้เจ็ดฉบับตามพระบรมราชโองการของพระเจ้าเจมส์
“บาซิลิคอนโดรอน” วิพากษ์วิจารณ์ทั้งสถาบันโรมันคาทอลิกและสถาบันโปรแตสแตนท์
อ้างอิง
แก้- Sommerville, John. "Basilikon Doron" in Political Writings Cambridge University Press: Cambridge, 1994. pp. 1-61.