คำพูน บุญทวี
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
คำพูน บุญทวี (26 มิถุนายน พ.ศ. 2471 – 4 เมษายน พ.ศ. 2546) นักเขียนสารคดี เรื่องสั้น และนวนิยายเกี่ยวกับชีวิตของชาวไทยอีสานและชีวิตคนในคุก ได้รับรางวัลซีไรต์เป็นคนแรกของไทยเมื่อ พ.ศ. 2522 จากนวนิยายเรื่อง ลูกอีสาน และได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ประจำปี พ.ศ. 2544[1]
คำพูน บุญทวี | |
---|---|
เกิด | 26 มิถุนายน พ.ศ. 2471 ตำบลทรายมูล จังหวัดยโสธร |
เสียชีวิต | 4 เมษายน พ.ศ. 2546 (74 ปี) |
นามปากกา | คำพูน บุญทวี คร้าม ควนเปลว พงศ์พริ้ง |
อาชีพ | นักเขียน |
สัญชาติ | ไทย |
แนว | |
ผลงานที่สำคัญ | ลูกอีสาน |
รางวัลสำคัญ | ศิลปินแห่งชาติ - สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2544 |
คู่สมรส | ประพิศ ณ พัทลุง (2504 – ?) ลันนา เจริญสิทธิชัย (? – 2546) |
บิดามารดา | สนิท บุญทวี (บิดา) ลุน บุญทวี (มารดา) |
สถานีย่อยโลกวรรณศิลป์ |
ประวัติ
แก้คำพูน บุญทวี เดิมชื่อ คูน เกิดเมื่อ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2471 ที่บ้านทรายมูล ตำบลทรายมูล อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็นตำบลทรายมูล อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร) เป็นบุตรคนโตจากทั้งหมด 7 คนของนายสนิทและนางลุน บุญทวี
คำพูนเรียนหนังสือที่บ้านเกิดจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนปรีชาบัณฑิต จากนั้นจึงเริ่มทำงานหลายอย่างในจังหวัดภาคอีสาน เป็นหัวหน้าคณะรำวง และขายยาเร่ ต่อมาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เป็นกรรมกรรับจ้างรายวันที่ท่าเรือคลองเตย เป็นคนเลี้ยงม้าแข่ง เป็นสารถีสามล้อ จนกระทั่งสอบเป็นครูได้บรรจุที่ภาคใต้ ต่อมาแต่งงานกับ นางประพิศ ณ พัทลุง เมื่อ พ.ศ. 2493 มีบุตรกับ นางประพิส 8 คน แล้วมีภรรยาอีกคนที่เป็นคนจังหวัดยโสธร มีลูกด้วยกัน 1 คน บุตรของคำพูน บุญทวี มีดังนี้
- นางพงค์พริ้ง บุญทวี (หฤทัย สมิท) แต่งงานครั้งที่ 1 กับ นาย มนตรี นนทเกษ มีบุตร 3 คน แต่งงาน ครั้งที่สองกับชาวอังกฤษ
- นางพัทธยา กมลานนท์ มีบุตร 2 คน อยู่ที่ จังหวัดระนอง ประเทศไทย
- นายขุนพล บุญทวี ภรรยาชื่อ ธิดา (ก้านบัว) บุญทวี มีลูก1 คน เสียชีวิตตอนที่ลูกยังไม่คลอด
- นางพรพนา สมิท แต่งงานกับชาวอังกฤษ ไม่มีบุตร อาศัยอยู่ที่ประเทศอังกฤษ
- นายเฉลิมพล บุญทวี ภรรยาชื่อ วันเพ็ญ มีบุตรสาว 1 คน เสียชีวิตลงเมื่อ อายุ 30 ปี
- นางสาวพวงผกา บุญทวีเบเกอร์ (หย่าร้าง) มีบุตร 3 คน อยู่ที่จังหวัดภูเก็ต
- นายรัฐไทย บุญทวี แต่งงานกับภรรยาชื่อนภาลัย ที่บ้านหล่อยูง มีบุตรสาวด้วยกัน 3 คน เสียชีวิตลงเมื่อ อายุ 31 ปี
- นางสาว พูนพิสมัย บุญทวี หย่าร้าง มีบุตร 2 คน อยู่ที่จังหวัดภูเก็ต
และมีลูกชายจากภรรยาก่อนจะมาอยู่กินกับนาง ลันนาอีก 1 คน รวมบุตรธิดา 9 คน โดยภรรยาคนแรก นางประพิส ณ พัทลุง เสียชีวิตเมื่ออายุเพียง 46 ปี
คำพูนสอนหนังสืออยู่ 9 ปี จึงเปลี่ยนไปเป็นผู้คุมเรือนจำ ลาออกจากราชการเมื่ออายุได้ 48 ปีเศษ แล้วไปมาระหว่างระนอง–กรุงเทพฯ ต่อมาพบกับนาง ลันนา เจริญสิทธิชัย ซึ่งภายหลังได้เขียนนวนิยายเรื่อง "เจ๊กบ้านนอก" โดยใช้นามปากกาว่า กิมหลั่น และร่วมกันทำสำนักพิมพ์โป๊ยเซียน เพื่อพิมพ์หนังสือของครอบครัว
คำพูน บุญทวี ได้รับการยกย่อง เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2544
วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2546 คำพูนได้เสียชีวิตลงด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน รวมอายุได้ อายุ 74 ปี และได้รับพระราชทานเพลิงศพจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ วัดชลประทานรังสฤษดิ์เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ปีเดียวกัน
การทำงาน
แก้เขาเริ่มเขียนหนังสือครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2513 เมื่อครั้งยังเป็นผู้คุมขณะนั้นมีปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัว เขาจึงมุมานะอ่านหนังสือ และเขียนเรื่องสั้น เรื่องสั้นเรื่องแรกที่เขียนคือ "ความรักในเหวลึก" ส่งไปที่นิตยสารฟ้าเมืองไทย ของอาจินต์ ปัญจพรรค์ อาจินต์ได้เปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น "นิทานลูกทุ่ง" พร้อมทั้งสนับสนุนให้เขาเขียนหนังสือต่อไป เขาจึงเขียนนวนิยายเรื่องแรกคือ มนุษย์ 100 คุก จากนั้นก็เขียนเรื่อยมา เขาจึงกลายเป็นนักเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น และสารคดี
ผลงาน
แก้หนังสือที่ได้รับรางวัลได้แก่:
- ลูกอีสาน ได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทนวนิยาย จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2519 และได้รับรางวัลซีไรต์ เมื่อ พ.ศ. 2522 เป็นผลงานที่ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์[2] ได้รับคัดเลือกเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาระดับมัธยมปลาย ลูกอีสาน ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น[3] มลายู[4] และฝรั่งเศส
- นายฮ้อยทมิฬ ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทนวนิยายจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2520
นวนิยายเรื่องอื่น ๆ
แก้- ดอกฟ้ากับหมาคุก
- คำสารภาพของคนขี้คุก
- เลือดอีสาน
- อีสานพเนจร
- เสียงกระซิบจากโซ่ตรวน
- ลูกลำน้ำโขง
- วีรบุรุษเมืองใต้
- ใหญ่ก็ตายไม่ใหญ่ก็ตาย
- นายหน้า แมงดา อาโก โสเภณีเด็ก
- นรกหนาวในเยอรมัน
- ตำนานรักลูกปักษ์ใต้
- ลูกอีสานขี่เรือบิน (บันทึกประสบการณ์ในการไปรับรางวัลซีไรต์ที่กรุงเทพฯ จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และการเดินทางไปทัศนศึกษาที่ประเทศฟิลิปปินส์)
- แผนชั่วเชือดอีสาน (นวนิยายเกี่ยวกับกบฏผู้มีบุญอีสานใน พ.ศ. 2440)
- นายฮ้อยทมิฬ ภาคสมบูรณ์
- นักเลงตราควาย
- หอมกลิ่นบาทา
รวมเรื่องสั้น
แก้- หอมกลิ่นบาทา
- นักเลงลูกทุ่ง
- แม่หม้ายที่รัก
- เสือกเกิดมารวย
- พยาบาลที่รัก
สารคดี
แก้- ไปยิงเสือโคร่ง
- คำพูนกลัวตาย
- สีเด๋อย่ำเยอรมัน
- นิทานพื้นบ้านอีสาน
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2545 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)[5]
อ้างอิง
แก้- ↑ "นายคำพูน บุญทวี". ศิลปินแห่งชาติ National Artist. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-19. สืบค้นเมื่อ 2023-07-30.
- ↑ "ลูกอีสาน A Son Of The Northeast (Luk E-Sarn)". ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2566.
- ↑ カムプーン・ブンタヴィー (1 เมษายน 1980). 東北タイの子. แปลโดย 星野 竜夫. 井村文化事業社. ASIN B000J88PA0.
- ↑ Kampoon Boontawee (1994). Anak timur laut. แปลโดย Kepner, Susan Fulop.; Ainon Abu Bakar.; Alauyah Abd. Rahman. Kuala Lumpur: Yayasan Penataran Ilmu. ISBN 983-9851-04-7.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์. เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๑๓๘. 4 ธันวาคม 2545.
บรรณานุกรม
แก้- ประทีป เหมือนนิล. 100 นักประพันธ์ไทย. กรุงเทพ : สุวีริยาสาส์น, 2542. หน้า 479. ISBN 974-8267-78-4