คลองช่องนนทรี
คลองช่องนนทรี เป็นคลองสายหนึ่งที่เป็นเกาะกลางของถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ยาว 4.5 กิโลเมตร[1] เป็นคลองที่แยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่เขตยานนาวา ผ่านแยกพระรามที่ 3-นราธิวาส จากนั้นลำคลองทั้ง 2 ฝั่งขนานไปกับถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ตัดกับถนนจันทน์เก่า เข้าสู่พื้นที่เขตสาทร ลำคลองยังคงขนานไปกับถนนนราธิวาสราชนครินทร์ จากนั้นตัดกับถนนสาทร เข้าสู่เขตบางรัก คลองสายนี้จึงไปสิ้นสุดที่แยกนราธิวาส ซึ่งเป็นช่วงที่ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ตัดกับถนนสุรวงศ์ คลองช่องนนทรีมีความกว้างช่วงปากคลองประมาณ 20 เมตร ส่วนช่วงที่เลียบไปกับถนนนราธิวาสราชนครินทร์ มีความกว้างประมาณ 6–8 เมตร
ประวัติ
แก้คลองช่องนนทรีเป็นทางน้ำเดิมที่เกิดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จากแผนที่เมื่อ พ.ศ. 2450 แต่เดิมคลองช่องนนทรีมีจุดเริ่มต้นอยู่บริเวณคลองผดุงกรุงเกษมใกล้กับตรอกฉลองกรุง ต้นคลองมีสภาพคดเคี้ยว ภายหลังมีการขุดคลองถนนตรง (คลองที่เลียบไปกับถนนพระรามที่ 4 ในอดีต) ทำให้พื้นที่บริเวณนี้มีลักษณะไม่เป็นมุมฉาก ส่งผลต่อถนนและคลองที่ตัดในภายหลัง ทำให้ทางน้ำช่องนนทรีในช่วงนี้ถูกถม จากแผนที่เมื่อ พ.ศ. 2475 คลองช่องนนทรีในช่วงนี้ถูกถมกลายเป็นถนนในปัจจุบันคือ ตรอกฉลองกรุงและตรอกสะพานเตี้ย[2]
คลองช่องนนทรีในปัจจุบันเริ่มต้นที่บริเวณถนนสุรวงศ์ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ ระบุว่า เริ่มต้นจากถนนสี่พระยา ถึงเขตเทศบาลนครกรุงเทพฯ ระหว่างหลักเขตที่ 9–10[3] เป็นคลองเดิมในพื้นที่ ภายหลังมีการขุดคลองสาทรและคลองสีลมตัดกับคลองช่องนนทรี คลองช่องนนทรีในปัจจุบันมีขนาดกว้างขึ้นกว่าเดิม ในขณะที่คลองสาทรมีขนาดแคบลง ต่อมามีการตัดถนนนราธิวาสราชนครินทร์วิ่งคู่ขนานไปกับคลองช่องนนทรี และเกิดรถไฟฟ้าบีทีเอส ระบบรถไฟฟ้ายกระดับแห่งแรกของประเทศไทย เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 โดยมีสถานีช่องนนทรียกระดับคร่อมคลองช่องนนทรี จากข้อมูล พ.ศ. 2561 ในการตรวจค่าคุณภาพน้ำคลอง 300 จุด ที่มีความสกปรกมาก พบว่าน้ำบริเวณคลองช่องนนทรีตัดถนนสุรวงศ์ พื้นที่เขตบางรักค่าบีโอดี 90 และ คลองช่องนนทรีตัดถนนสีลม ค่าบีโอดี เขตบางรัก 72 ถือเป็นจุดที่มีความสกปรกมากที่สุดอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ[4]
เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ได้เปิดสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ช่วงถนนสาทรถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ระยะทาง 200 เมตร โดยโครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรีเป็นสวนสาธารณะเลียบไปกับคลองช่องนนทรีระยะ 4.5 กิโลเมตร แบ่งช่วงการก่อสร้างเป็นสี่ช่วง[5]
อ้างอิง
แก้- ↑ "คลองช่องนนทรี กำลังจะเปลี่ยนไป!!!". thelist.
- ↑ ศิริวัฒน์ สาระเขตต์. "การเปลี่ยนแปลงทางน้ำที่ส่งผลต่อรูปแบบเมืองกรุงเทพฯ" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.
- ↑ ""คลองช่องนนทรี" คลองกลางกรุงที่ถูกลืม". กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์.
- ↑ "คลองช่องนนทรีคลองเน่าเหม็นสุดในกรุง". เดลินิวส์.
- ↑ "ส่องโครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ต้นแบบการพลิกฟื้นระบบนิเวศคลองแห่งแรกของไทย".