คลองคูเมืองเดิม

คลองคูเมืองเดิม บ้างเรียก คลองหลอด เป็นคลองขุดรอบพระนครชั้นใน (ชั้นแรก) ของเกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานคร เดิมเป็นคูเมืองที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขุดเป็นคูเมืองด้านตะวันออกของกรุงธนบุรี หลังการปราบดาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงย้ายราชธานีไปยังกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขุดคูเมืองขึ้นใหม่ ส่วนคลองคูเมืองเดิมได้กลายสภาพเป็นเส้นทางคมนาคมของประชาชนในพระนครแทน

คลองคูเมืองเดิม
คลองหลอดมองมุ่งหน้าสะพานผ่านพิภพลีลา
ตำแหน่งกรุงเทพมหานคร
ประเทศประเทศไทย
ข้อมูลจำเพาะ
ประตูกั้นน้ำ2
ประวัติ
ชื่อทั่วไปคลองหลอด
วันที่อนุมัติพ.ศ. 2314
เริ่มก่อสร้างพ.ศ. 2314
ข้อมูลภูมิศาสตร์
ทิศตะวันตกเฉียงใต้
จุดเริ่มต้นแม่น้ำเจ้าพระยา แขวงชนะสงคราม และแขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร
จุดสิ้นสุดแม่น้ำเจ้าพระยา แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร และแขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์
สาขาคลองหลอดวัดราชนัดดา
คลองหลอดวัดราชบพิธ
สาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา
เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนคลองคูเมืองเดิม
ขึ้นเมื่อ29 เมษายน พ.ศ. 2519
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0000038
คลองคูเมืองเดิมบริเวณริมถนนอัษฎางค์ หน้าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม มองเห็นสะพานปีกุน

ประวัติ

แก้

เป็นคลองขุดที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ขุดขึ้นเป็นคูเมืองด้านตะวันออกของกรุงธนบุรีซึ่งกินอาณาเขตเลยมาทางด้านฝั่งพระนคร โดยโปรดฯ ให้ขุดคูเมืองออกแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ด้าน คือ ด้านเหนือที่ท่าช้างวังหน้า ด้านใต้ที่ปากคลองตลาด ดินจากการขุดคลองโปรดให้พูนขึ้นเป็นเชิงเทิน ตั้งค่ายไม้ทองหลางทั้งต้นตลองแนวคลองเพือป้องกันข้าศึก[1] เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงย้ายราชธานีมาอยู่ฝั่งพระนคร โปรดให้ขุดคูเมืองใหม่เพื่อขยายอาณาเขตราชธานี คลองคูเมืองเดิมจึงกลายเป็นเส้นทางคมนาคมของราษฎร ไม่ได้ใช้ประโยชน์เป็นคูเมืองอีกต่อไป[1]

ประชาชนเรียกชื่อคลองนี้ตามสถานที่ที่คลองผ่าน เช่น ปากคลองด้านเหนือผ่านโรงไหมหลวง เรียก "คลองโรงไหมหลวง" ปากคลองด้านใต้เป็นตลาดที่คึกคักทั้งบนบกและในน้ำ จึงเรียก "ปากคลองตลาด" ส่วนตอนกลางระหว่างคลองหลอดวัดราชนัดดา (คลองหลอดข้างวัดบุรณศิริมาตยาราม) กับคลองหลอดวัดราชบพิธ ได้มีประกาศของสุขาภิบาล ร.ศ. 127 ให้เรียกว่า "คลองหลอด" ซึ่งหมายถึงคลองที่อยู่ระหว่างคลองหลอดทั้งสอง แต่ภายหลังคนทั่วไปมักเรียกคลองนี้ตลอดสายว่า "คลองหลอด" ซึ่งผิดจากข้อเท็จจริง

เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี รัฐบาลจึงมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2525 ให้เรียกชื่อคลองให้ถูกต้องตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า "คลองคูเมืองเดิม"

ตั้งแต่ พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หน่วยราชการในพระองค์ หน่วยราชการอื่น ๆ และประชาชนจิตอาสาร่วมกันทำความสะอาด พัฒนา และปรับปรุงภูมิทัศน์คลองสายต่าง ๆ รอบเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งแต่เดิมมีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมมาก รวมทั้งมีปัญหาคนเร่ร่อนและโสเภณีทำให้สภาพแลดูไม่เป็นระเบียบ[2] จึงมีการพัฒนาโดยมีการขุดลอกคลอง และผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าคลอง ทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำเพิ่มขึ้น ส่วนด้านภูมิทัศน์ได้มีการปรับปรุงทางเท้า ติดตั้งไฟส่องสว่าง[3] รวมทั้งตั้งพรรณไม้ใหญ่บางชนิดออกเพราะรากไม้นั้นจะทำลายแนวเขื่อน และทำการฟื้นฟูต้นขนุนซึ่งเป็นพรรณไม้ที่มีมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[4] ส่วนปัญหาคนเร่ร่อนได้ทำการช่วยเหลือนำส่งไปยังศูนย์คัดกรองช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส (บ้านอิ่มใจ)[5]

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 สิริลักษณ์ จินตนะดิลกกุล (14 กุมภาพันธ์ 2545). "ประวัติคลองคูเมืองเดิม". สนุกดอตคอม. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. "สภากทม.เร่งปูแผนจัดการ 'ขอทาน-คนไร้ที่พึ่ง-ค้าประเวณี' ย่านคลองหลอด". มติชน. 5 พฤศจิกายน 2561. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "ฟื้นคลองคูเมืองเดิม ฟื้นคืนเวนิสตะวันออก". บ้านเมือง. 4 มิถุนายน 2562. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. "ตัด 'ต้นโพธิ์' ปลุก 'ต้นขนุน' ลุยฟื้นอัตลักษณ์คลองหลอด". เดลินิวส์. 20 กุมภาพันธ์ 2562. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "จัดระเบียบ 'คลองหลอด'". ข่าวสด. 12 ธันวาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°44′40″N 100°29′47″E / 13.744395°N 100.496417°E / 13.744395; 100.496417