คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (อังกฤษ: Graduate School of Public Administration, National Institute of Development Administration - GSPA NIDA) เป็น 1 ใน 4 คณะก่อตั้งของ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ “นิด้า” เมื่อปี พ.ศ. 2509 ถือได้ว่าเป็นคณะที่มีการจัดการเรียนการสอนด้านรัฐประศาสนศาสตร์ในระดับบัณฑิตศึกษาเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เป็นสถาบันที่ผลิตบุคลากรที่เป็นผู้บริหารให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคการเมือง หรือผู้นำในองค์กรชั้นนำต่างๆของประเทศ

คณะรัฐประศาสนศาสตร์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
Graduate School of Public Administration, National Institude of Development Administration
Graduate School of Public Administration, National Institute of Development Administration, Thailand
สถาปนาพ.ศ. 2498
คณบดีรศ.ดร.พลอย สืบวิเศษ
ที่อยู่
118 ถ.เสรีไทย แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ 10240
วารสารวารสารรัฐประศาสนศาสตร์ และ วารสารการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน
สี  สีเขียว
เว็บไซต์gspa.nida.ac.th
อาคารนวมินทราธิราช

ประวัติ

แก้

คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า เป็นบัณฑิตวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดสอนวิชารัฐประศาสนศาสตร์ จัดตั้งขึ้นในสังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 จากความริเริ่มของรัฐบาลไทย จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น หน่วยงานให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและวิชาการของสหรัฐ (USOM หรือ USAID ในปัจจุบัน) และกลุ่มนักวิชาการไทย นำโดย ดร.มาลัย หุวะนันทน์ และนายเชาว์ พัฒนจรูญ ร่วมกันผลักดันการดำเนินการก่อตั้ง โดยมีคณาจารย์จาก Indiana University สหรัฐอเมริกา ในฐานะที่เป็นสถาบันแถวหน้าชั้นนำของสหรัฐในการเรียนการสอนด้านรัฐประศาสนศาสตร์ เข้ามาร่วมวางหลักสูตรและดำเนินการสอน[1]

 
จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี คนที่ 3 และหัวหน้าสมาชิกคณะราษฎรสายทหารบก

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสนพระทัยในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นพิเศษ ได้ทรงปรารภกับ นายเดวิด รอกกิเฟลเลอร์ ชาวอเมริกัน ถึงเรื่องที่จะปรับปรุงการสถิติและการบริหารการพัฒนา จนกระทั่งในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2509 รัฐบาลได้จัดตั้ง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ขึ้น โดยมี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือ “พระองค์วรรณ” (พระนามเดิมคือหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร) รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการจัดตั้ง และได้กำหนดให้โอนคณะรัฐประศาสนศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้ามาเป็นคณะก่อตั้งในสังกัดสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นสถาบันแห่งแรกของประเทศไทยที่มีการสอนทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ในระดับบัณฑิตศึกษาเป็นการเฉพาะ[2]

วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งก็เพื่อที่จะบ่มเพาะผู้นำหรือนักบริหารที่จะเข้าไปทำงานในองค์กรต่างๆ ผลิตมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตออกไปมีบทบาทเป็นผู้นำด้านนโยบายและการบริหาร ทั้งในภาคการเมือง ภาคราชการระดับกระทรวง กรม ระดับภูมิภาค อาทิเช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ นอกจากนี้ยังผลิตผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรรัฐวิสาหกิจ และผู้นำองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ตลอดจนบุคลากรทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการพัฒนา

คณะผู้ดำเนินการจัดตั้งสถาบันได้พิจารณาว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวโยงกันกับการบริหารราชการและรัฐประศาสนศาสตร์อยู่มาก ถ้าจะตั้งสถาบันสำหรับสอนวิชานี้เป็นอิสระเป็นพิเศษให้คลุมถึงวิชารัฐประศาสนศาสตร์ การพัฒนาเศรษฐกิจ การสถิติ การบริหารธุรกิจ ก็จะเป็นการส่งเสริมพัฒนาการของประเทศได้มาก[3]

ต่อมาคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ได้เริ่มเปิดการศึกษาขั้นปริญญาเอกทางการบริหารการพัฒนาขึ้นในปีการศึกษา 2527 และได้เปิดหลักสูตรปริญญาโทภาคพิเศษขึ้นเป็นครั้งแรกในปีการศึกษา 2530

ในปี พ.ศ. 2535 คณะฯ เริ่มขยายการศึกษาระดับปริญญาโทภาคพิเศษออกไปยังส่วนภูมิภาค เพื่อกระจายความรู้ด้านนโยบายและการบริหารงานสาธารณะลงสู่ระดับท้องถิ่น จนปัจจุบันมีศูนย์การศึกษากระจายตามจังหวัดต่าง 6 ศูนย์ คือ พิษณุโลก นครราชสีมา อุดรธานี ชลบุรี สุราษฎร์ธานี และ สงขลา

ปัจจุบัน คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า มุ่งเน้นที่จะศึกษาวิจัยกรรมวิธีที่ภาคส่วนต่างๆใช้ในการแปลงความชอบธรรม ความเสมอภาคและประชาธิปไตย ให้เป็นสินค้าและบริการสาธารณะ หรือนโยบายสาธารณะ เพื่อส่งมอบแก่ประชาชนและสังคมโดยรวม ตลอดจนผลิตองค์ความรู้เกี่ยวกับนโยบายและการบริหารงานภาครัฐออกสู่สังคมไทยอย่างต่อเนื่อง และยังได้ให้บริการทางวิชาการด้วยหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นสำหรับบุคคลทั่วไปและสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานต่างๆในทุกระดับ

 
พื้นที่บริเวณสนามฟุตบอลของนิด้า

วิชาการและหลักสูตร

แก้
 
นิด้าในปี พ.ศ. 2566

คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า เป็นสถาบันการศึกษาทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการเรียนการสอนการวิจัยจาก NASPAA (Network of Schools of Public Policy, Affairs, and Administration) ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้การรับรองมาตรฐานในระดับสากลแก่สถาบันการศึกษาด้านนโยบายสาธารณะและรัฐประศาสนศาสตร์ และได้รับการรับรองมาตรฐานระดับอาเซียน (AUN-QA)

หลักสูตรที่มีชื่อเสียง มีพัฒนาการมายาวนาน และได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากของคณะ คือหลักสูตร MPA หรือรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (รป.ม.) ที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการ โดยเป็นหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวของไทยที่สามารถเลือกสาขาวิชาเอก (major field) ในการเรียนได้หลากหลายตามความสนใจของผู้เรียน อาทิเช่น

- สาขานโยบายสาธารณะและการจัดการเชิงกลยุทธ์ (Public Policy and Strategic Management)

- สาขาการบริหารการเงินการคลัง (Financial and Fiscal Management)

- สาขาการปกครองท้องถิ่น (Local Government)

- สาขาการบริหารงานเมือง (Urban Administration)

- สาขาการจัดการองค์การไม่แสวงหากำไร (Nonprofit Organization Management)

- สาขาการบริหารงานยุติธรรมทางอาญา (Criminal Justice Administration)

- สาขาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Management)

คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า ยังเป็นคณะแรกที่เปิดสอนหลักสูตรการจัดการภาครัฐและเอกชนมหาบัณฑิต (Master of Public and Private Management - MPPM) โดยเป็นหลักสูตรที่เน้นผสมผสานการใช้เครื่องมือทางการบริหารงานภาครัฐและภาคเอกชนเข้าด้วยกันอย่างลงตัว

นอกจากนี้หลักสูตรในระดับปริญญาเอก (Ph.D.) ของคณะ ยังสามารถผลิตนักวิชาการนักวิจัยที่มีความโดดเด่นเป็นที่ยอมรับให้กับสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยต่างๆ จนถือได้ว่าเป็นหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการมากที่สุดหลักสูตรหนึ่งในประเทศไทย

ระดับปริญญาโท

แก้

ระดับปริญญาเอก

แก้

ความร่วมมือทางวิชาการระดับนานาชาติ

แก้

คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า (GSPA NIDA) มีการประสานความร่วมมือด้านการจัดการศึกษาการวิจัยกับสถาบันชั้นนำในต่างประเทศ โดยได้มีการริเริ่มพัฒนาการวิจัยและโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษานานาชาติ

ปัจจุบันคณะฯมีความร่วมมือกับหลายสถาบัน อาทิเช่น Indiana University (สหรัฐอเมริกา), London School of Economics and Political Science (LSE) (สหราชอาณาจักร), University of Potsdam (เยอรมนี), National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) (ญี่ปุ่น), Seoul National University (สาธารณรัฐเกาหลี), Korea Institute of Public Administration (KIPA) Korea University (สาธารณรัฐเกาหลี), Beijing Foreign Studies University (จีน), National Chengchi University (ไต้หวัน), Monash University (ออสเตรเลีย), Victoria University of Wellington (นิวซีแลนด์) เป็นต้น

บุคลากรและศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. ขัตติยา อมรทัต, “ความเป็นมาของคณะรัฐประศาสนศาสตร์” วารสารรัฐประศาสนศาสตร์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (กรกฎาคม, 2503), 27-35
  2. หนังสือด่วนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ 12307/2505 ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2505 ถึงปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องสถาบันการสอนวิชาบริหารเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศและบัณฑิตวิทยาลัยการบริหารธุรกิจ
  3. เอกสารบันทึกเสนอให้จัดตั้ง Institute of Development Administration ในประเทศไทย เสนอประกอบบันทึกเสนอประกอบบันทึกของนายบุญชนะ อัตถากร เรื่องการไปราชการ ณ ประเทศออสเตรีย และการประชุมและการประชุมสถาบันรัฐประศาสนศาสตร์ระหว่างประเทศ ครั้งที่ 12 วันที่ 13-22 กรกฎาคม 2505 ณ นครเวียนนา

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้