พิชญพิจารณ์, การทบทวนระดับเดียวกัน, การติชมจากสหมิตร[1] หรือ การทบทวนโดยผู้รู้เสมอกัน (อังกฤษ: peer review) เป็นการประเมินงานโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีความชำนาญคล้ายกับผู้ผลิตผลงานนั้น เป็นระบบควบคุมกันเองโดยสมาชิกวิชาชีพที่มีคุณสมบัติความสามารถในสาขาที่เข้าประเด็นกัน เป็นวิธีที่ใช้เพื่อรักษามาตรฐานทางคุณภาพ เพื่อเพิ่มคุณภาพ และเพื่อให้เกิดความเชื่อถือในงานภายในกลุ่มนักวิชาการ เป็นวิธีการกำหนดว่า งานวิชาการนั้นสมควรจะตีพิมพ์หรือไม่ เป็นเรื่องที่จัดหมวดหมู่ได้ตามชนิดของงานหรือตามอาชีพ เช่น พิชญพิจารณ์ทางการแพทย์ (medical peer review)

ผู้ประเมินที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติอเมริกันกำลังพิจารณาคำร้องขอทุนงานวิจัย

โดยอาชีพ

แก้

พิชญพิจารณ์โดยอาชีพพุ่งจุดสนใจไปที่ผู้ทำการในอาชีพ เพื่อเพิ่มคุณภาพ รักษามาตรฐาน หรือเพื่อให้ใบรับรอง ในมหาวิทยาลัยตะวันตก พิชญพิจารณ์เป็นเรื่องที่ใช้ในการตัดสินใจในการให้ตำแหน่งหรือสิทธิในการดำรงตำแหน่ง (tenure) [ต้องการอ้างอิง]

ต้นแบบกระบวนการพิชญพิจารณ์เพื่ออาชีพอย่างหนึ่ง พบในงานเขียนของ Ishāq ibn ʻAlī al-Ruhāwī (ค.ศ. 854-931) ในหนังสือ จริยธรรมแพทย์ (อังกฤษ: Adab al-Tabib, อาหรับ: أدب الطبيب) ซึ่งกล่าวว่า แพทย์ที่เยี่ยมคนไข้ควรจะเขียนบันทึกเกี่ยวกับอาการของคนไข้ทุก ๆ ครั้ง และเมื่อคนไข้หายป่วยหรือเสียชีวิต กรรมการแพทย์ในพื้นที่หรือแพทย์อื่น ๆ จะตรวจสอบบันทึกแพทย์ แล้วตัดสินว่าการรักษาได้มาตรฐานการพยาบาลคนไข้หรือไม่[2]

การประเมินผลงานเช่นนี้เป็นเรื่องปกติในสาขาการพยาบาลสุขภาพตะวันตก ซึ่งเรียกในภาษาอังกฤษว่า clinical peer review (พิชญพิจารณ์ทางคลินิก)[3] นอกจากนั้นแล้ว เนื่องจากว่า การประเมินเป็นเรื่องที่ทำโดยสาขาวิชา จึงมีแบบต่าง ๆ กัน เป็นต้นว่าสำหรับแพทย์ สำหรับพยาบาล และสำหรับทันตแพทย์[4] นอกจากนั้นแล้ว สาขาอื่น ๆ ของชาวตะวันตกก็ใช้กระบวนการพิชญพิจารณ์เช่นเดียวกันในระดับต่าง ๆ เช่น การบัญชี[5][6] กฎหมาย[7][8] วิศวกรรม (เช่น พิชญพิจารณ์ซอฟต์แวร์, พิชญพิจารณ์ทางเทคนิค; ในสาขาการเดินอากาศ และแม้ในการบริหารจัดการไฟไหม้ป่า)[9] มีการใช้พิชญพิจารณ์ในการศึกษา เพื่อให้ถึงพัฒนาการทางอารมณ์และทางประชานในระดับที่สูงขึ้น (พัฒนาการดังที่กำหนดโดย Bloom's taxonomy) ซึ่งอาจจะทำในรูปแบบต่าง ๆ กัน รวมทั้งรูปแบบที่เลียนกระบวนการพิชญพิจารณ์ที่ใช้ในวิทยาศาสตร์และการแพทย์อย่างใกล้ชิด[10][11]

วิชาการ

แก้

พิชญพิจารณ์ทางวิชาการ (scholarly peer review หรือ refereeing) เป็นกระบวนการตรวจสอบงานวิชาการ งานวิจัย หรือแนวคิดโดยนักวิชาการในสาขาเดียวกัน ก่อนที่จะตีพิมพ์งานในวารสารวิชาการหรือในหนังสือ การประเมินจะช่วยผู้ตีพิมพ์ (ซึ่งก็คือหัวหน้าบรรณาธิการหรือคณะบรรณาธิการ) ตัดสินใจว่างานนั้นควรจะรับ รับถ้าแก้ หรือปฏิเสธ เป็นกระบวนการที่ต้องมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น ๆ (ซึ่งบางครั้งจำกัดอย่างแคบ ๆ) ผู้มีคุณสมบัติและสามารถทำงานประเมินอย่างเป็นกลาง ๆ ได้โดยระดับหนึ่ง แต่ว่า การประเมินที่เป็นกลาง ๆ โดยเฉพาะในงานที่มีการจำกัดอย่างไม่ชัดเจน หรือเป็นงานหลายสาขาวิชา อาจเป็นเรื่องยาก และแนวคิดใหม่ ๆ ที่สำคัญ อาจจะไม่ได้การยอมรับจากคนรุ่นเดียวกัน พิชญพิจารณ์โดยนักวิชาการเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อคุณภาพทางวิชาการ และใช้ในวารสารวิชาการสาขาวิทยาศาสตร์โดยมาก แต่ไม่ได้ช่วยป้องกันการพิมพ์งานวิจัยที่ไม่เป็นจริงทั้งหมด โดยปกติแล้ว การประเมินจะทำแบบนิรนาม แต่ว่าในปัจจุบันมีงานประเมินทำแบบเปิดเป็นจำนวนพอสมควร โดยที่ผู้อ่านจะเห็นข้อคิดเห็นของผู้ประเมิน โดยแสดงชื่อของผู้ประเมินด้วย

นโยบายรัฐ

แก้

สหภาพยุโรปได้ใช้พิชญพิจารณ์เป็นการ "ประสานงานกันด้วยวิธีเปิด" เกี่ยวกับนโยบายตลาดแรงงานเชิงรุก เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999[12] ต่อมาในปี ค.ศ. 2004 จึงเริ่มมีแผนงานพิชญพิจารณ์เกี่ยวกับนโยบายการรวมเข้าในสังคม (social inclusion)[13] แผนงานแต่ละแผนสนับสนุนการประชุมพิชญพิจารณ์ประมาณ 8 งานแต่ละปี โดยประเทศเจ้าภาพจะเปิดนโยบายหรือแผนงานให้ตรวจสอบโดยประเทศอื่นประมาณ 6 ประเทศและโดยองค์การนอกภาครัฐของยุโรป การประชุมปกติจะใช้เวลา 2 วัน และจะมีการแวะเยี่ยมพื้นที่เพื่อตรวจดูการทำงานของนโยบายที่ว่าได้ ก่อนงานประชุม จะมีการรวบรวมรายงานผู้เชี่ยวชาญ (expert report) ที่ประเทศ "ระดับเดียวกัน" จะให้ความเห็น ผลที่ได้จะเผยแพร่ทางเว็บไซต์คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยุโรปแห่งสหประชาชาติ (United Nations Economic Commission for Europe ตัวย่อ UNECE) โดยกระบวนการวิจารณ์สมรรถนะทางสิ่งแวดล้อม (UNECE Environmental Performance Reviews) ใช้เทคนิคพิชญพิจารณ์เพื่อประเมินความก้าวหน้าของประเทศสมาชิกในการปรับปรุงนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม[ต้องการอ้างอิง]

รัฐแคลิฟอร์เนียเป็นรัฐเดียวในสหรัฐที่บังคับให้มีพิชญพิจารณ์ทางวิทยาศาสตร์ ในปี 2540 ผู้ว่าการรัฐเซ็นกฎหมายวุฒิสภาหมายเลข 1320 (Sher) บทที่ 295 เป็นรัฐบัญญัติของปี 2540 ซึ่งบังคับว่า ก่อนที่กรรมการ กระทรวง หรือสำนักงานขององค์กรป้องกันสิ่งแวดล้อมแคลิฟอร์เนีย (CalEPA) จะเริ่มบังคับกฎ ทั้งการค้นพบข้อเท็จจริง ข้อสรุป และสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่เป็นฐานของกฎที่ว่า ต้องผ่านพิชญพิจารณ์ทางวิทยาศาสตร์จากองค์กรภายนอกที่เป็นอิสระ เป็นข้อบังคับที่รวมเข้าในประมวลกฎหมายสุขภาพและความปลอดภัยแคลิฟอร์เนียมาตรา 57004[ต้องการอ้างอิง]

การแพทย์

แก้

คำอังกฤษว่า medical peer review (พิชญพิจารณ์ทางการแพทย์) อาจหมายถึง

  • พิชญพิจารณ์ทางคลินิก (clinical peer review) คือการประเมินการปฏิบัติการทางคลินิก ของบุคคลในอาชีพรักษาพยาบาล เช่น แพทย์ พยาบาล[14][15]
  • การประเมินทักษะในการสอนการรักษา (clinical teaching) ของแพทย์และพยาบาล[14][15]
  • พิชญพิจารณ์ทางวิทยาศาสตร์ (scientific peer review) ของบทความในวารสารวิชาการ หรือการประเมินชั้นทุติยภูมิเพื่อตรวจสอบคุณค่าทางคลินิกของบทความที่เผยแพร่แล้วในวารสารการแพทย์[16]

นอกจากนั้นแล้ว สมาคมการแพทย์อเมริกัน (American Medical Association) ยังใช้คำว่า "medical peer review" หมายถึงไม่ใช่เพียงแต่กระบวนการปรับปรุงคุณภาพและความปลอดภัยในองค์กรรักษาพยาบาล แต่ยังหมายถึงกระบวนการประเมินพฤติกรรมทางคลินิก หรือการประเมินความประพฤติตามมาตรฐานสมาชิกขององค์กรอาชีพ[17] ดังนั้น คำว่า "medical peer review" จึงไม่ค่อยมีมาตรฐานและความเฉพาะเจาะจง เพื่อใช้เป็นบทค้นหาในฐานข้อมูล

เชิงอรรถและอ้างอิง

แก้
  1. "Peer review", ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑, การทบทวนระดับเดียวกัน, การติชมจากสหมิตร
  2. Spier, Ray (2002). "The history of the peer-review process". Trends in Biotechnology. 20 (8): 357–8. doi:10.1016/S0167-7799(02)01985-6. PMID 12127284.
  3. Dans, PE (1993). "Clinical peer review: burnishing a tarnished image". Ann. Intern. Med. 118 (7): 566–8. doi:10.7326/0003-4819-118-7-199304010-00014. PMID 8442628.
  4. Milgrom, P; Weinstein, P; Ratener, P; Read, WA; Morrison, K (1978). "Dental Examinations for Quality Control: Peer Review versus Self-Assessment". Am. J. Public Health. 68 (4): 394–401. doi:10.2105/AJPH.68.4.394. PMC 1653950. PMID 645987.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  5. "AICPA Peer Review Manual". American Institute of CPAs. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-28. สืบค้นเมื่อ 2010-10-04.
  6. "Peer Review Program Manual". American Institute of Certified Public Accountants. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-28. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22.
  7. "Peer Review". UK Legal Services Commission. สืบค้นเมื่อ 2010-10-04.
  8. "Peer Review Ratings". Martindale. สืบค้นเมื่อ 2010-10-04.
  9. "Peer Review Panels - Purpose and Process" (PDF). USDA Forest Service. 2006-02-06. สืบค้นเมื่อ 2010-10-04.
  10. Sims, Gerald K. (1989). "Student Peer Review in the Classroom: A Teaching and Grading Tool" (PDF). Journal of Agronomic Education. 18: 105–108. The review process was double-blind to provide anonymity for both authors and reviewers, but was otherwise handled in a fashion similar to that used by scientific journals
  11. Liu, Jianguo; Pysarchik, Dawn Thorndike; Taylor, William W. (2002). "Peer Review in the Classroom" (PDF). BioScience. 52 (9): 824–829. doi:10.1641/0006-3568(2002)052[0824:PRITC]2.0.CO;2.
  12. "Mutual Learning Programme - Peer Reviews". European Union.
  13. "Peer Review and Assessment in Social Inclusion—Evaluations par les pairs".
  14. 14.0 14.1 "Clinical Peer Review: Excerpts from the Literature" (PDF). UCSF Medical School. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2010-08-14. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22.
  15. 15.0 15.1 Ludwick, R; Dieckman, BC; Herdtner, S; Dugan, M; Roche, M (1998). "Documenting the scholarship of clinical teaching through peer review". Nurse Educ. 23 (6): 17–20. doi:10.1097/00006223-199811000-00008. PMID 9934106.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  16. Haynes, RB; Cotoi, C; Holland, J (2006). "Second-order peer review of the medical literature for clinical practitioners". JAMA. 295 (15): 1801–8. doi:10.1001/jama.295.15.1801. PMID 16622142.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  17. "Medical Peer Review". American Medical Association. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-01. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22.