กลบท คือการประดิษฐ์คิดแต่งคำประพันธ์ให้มีลักษณะแปลกไปจากเดิม โดยที่ลักษณะบังคับของคำประพันธ์ชนิดนั้นยังอยู่ครบถ้วน คำประพันธ์ที่แต่งเป็นกลได้มีทั้ง โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย[1]

กลบทเป็นเครื่องแสดงสติปัญญาของกวีในการที่จะคิดค้นพลิกแพลงกวีนิพนธ์แบบฉบับให้มีลักษณะเด่นเป็นพิเศษขึ้น โดยการเพิ่มลักษณะบังคับต่าง ๆ และเป็นเครื่องลับสมองลองปัญญาในหมู่กวีด้วยกัน ในการที่จะพยายามถอดรูปกลแบบที่ซ่อนไว้ให้สำเร็จ ผลพลอยได้คือความไพเราะของกวีนิพนธ์ แต่ก็มีกลบทจำนวนไม่น้อยที่ไพเราะสู้คำประพันธ์ธรรมดาไม่ได้ เนื่องจากลักษณะบังคับที่เพิ่มมาอาจจะไม่เอื้ออำนวยต่อความไพเราะ ตัวอย่าง เช่นกลบทบังคับใช้คำตายทุกคำ เป็นต้น[2]

การจำแนกแบบของกลบท

แก้

กลบทแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ แบบเพิ่มลักษณะบังคับ และแบบซ่อนรูปคำประพันธ์

แบบเพิ่มลักษณะบังคับ

แก้

กลแบบนี้ถึงแม้จะมีการเพิ่มลักษณะบังคับ แต่รูปคำประพันธ์ยังคงเหมือนเดิม เรียกว่า กลอักษร ตัวอย่างเช่น

บังคับใช้พยัญชนะเสียงเดียวกันตลอดบาทและซ้ำคำสองคำแรกของทุกบาท

สรวลสรวลสู่โศกเศร้า แสนศัลย์
ตอกตอกแต่ตันตัน ติดต้อง
ยั่วยั่วย่อยยับยรร- ยงยาก
ครบครบเข็ญคามคล้อง คลุกเคล้าขื่นขม
เลือดเนื้อเพื่อไทย

บังคับพยัญชนะ 2 เสียงสลับกันตลอดบท

สำเริงสำราญสานรัก สมานสมัคร
สุมิตรสุมนสมัย
รุมเคียวเรี่ยวแรงใคร เกี่ยวรำกำไร
ได้พูดได้พ้อโดยเพลง
เพื่อนแก้วคำกาพย์

บังคับซ้ำคำต้นวรรคและท้ายวรรคทุกวรรค

ริ้วรวงพวงข้าวริ้ว เห็นพริ้วพริ้วริ้วทองเห็น
เย็นลมลมเช้าเย็น เรียวรวงเล่นระเนนเรียว
ข้าวปรังสั่งทุกข้าว เคียวจะน้าวด้วยชาวเคียว
เกลียวรักถักรัดเกลียว ลงแขกเกี่ยวเร่งเคียวลง
เพื่อนแก้วคำกาพย์

แบบซ่อนรูปคำประพันธ์

แก้

ผู้แต่งจะจัดวางคำประพันธ์เป็นรูปต่างจากเดิม ผู้อ่านจะต้องทราบฉันทลักษณ์คำประพันธ์ชนิดนั้น จึงจะถอดคำอ่านได้ถูกต้อง กลชนิดนี้เรียก กลแบบ อาจมีทั้งการซ่อนรูปคำประพันธ์และการเพิ่มลักษณะบังคับด้วย เช่น

ซ่อนรูปคำประพันธ์

 

ถอด

เสียงนกเรียมคิดว้า หวั่นมิตร แม่เฮย
หวาดว่าเสียงสายจิตร แจ่มแจ้ว
โอ้อกนกนิ่งคิด ใจหวั่น ถวิลแม่
ฟังหวาดแว่วเสียงแก้ว จิตรร้องแจ้วเสียง
ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ

ซ่อนรูปคำประพันธ์ และเพิ่มลักษณะบังคับ

 

ถอด

พักตร์ผ่องผ่องพักตร์เพี้ยง จันทร
คมเนตรเนตรคมศร บาดซ้ำ
งามแง่แง่งามงอน มารยาท
งามศักดิ์ศักดิ์งามล้ำ เลิศล้ำศักดิ์งาม
ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ

โคลงบทนี้นอกจากจะซ่อนรูปคำประพันธ์แล้วยังเพิ่มลักษณะบังคับให้ซ้ำคำต้นบาทและท้ายบาท ทุกบาทด้วย

ความเป็นมาของกลบท

แก้

มีหลักฐานเชื่อได้ว่ากวีไทยได้แบบอย่างการแต่งกลบทมาจากอินเดีย ในคัมภีร์สุโพธาลังการ อันเป็นตำราอังการศาสตร์ฉบับบาลี ที่รวมรวมขึ้นโดยพระสังฆรักขิต ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 และตำราอลังการศาสตร์ฉบับสันสกฤตของวาคภัฏที่รวบรวมขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 ล้วนปรากฏกลวิธีการประพันธ์ที่มีลักษณะเหมือนกับกลบทของไทยอยู่[3]

ตำรากลบท

แก้

วรรณกรรมที่ถือกันว่าเป็นตำรากลบทของไทยมี 3 เล่ม คือ

จินดามณี ของ พระโหราธิบดี

แก้

เป็นแบบเรียนภาษาไทยเล่มแรก แต่งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เนื้อหาประกอบด้วย การใช้สระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ การแจกลูก การผันอักษร อักษรศัพท์ อักษรเลข การสะกดการันต์ การแต่งคำประพันธ์ชนิดต่าง ๆ และกลบท ซึ่งปรากฏกลบทอยู่ 60 ชนิด มีทั้งกลอักษรและกลแบบ

ศิริวิบุลกิตติ์ ของ หลวงศรีปรีชา (เซ่ง)

แก้

เป็นวรรณกรรมที่แต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย เนื้อเรื่องนำมาจากศิริวิบุลกิตติ์ชาดก แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทกลอน โดยใช้กลบทชนิดต่าง ๆ สลับกันตลอดเรื่อง รวมกลบททั้งสิ้น 85 ชนิด เป็นกลอักษรทั้งหมด มีทั้งที่ซ้ำและต่างจากกลบทในจินดามณี

ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ

แก้

พ.ศ. 2375 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ และทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้รวบรวมเลือกสรรตำรับตำราต่าง ๆ โดยตรวจแก้จากของเดิมบ้าง ประชุมผู้รู้ให้แต่งขึ้นใหม่บ้าง ทั้งด้านวรรณคดี โบราณคดี และวิชาอื่น ๆ และโปรดฯ ให้จารึกแผ่นศิลาประดับไว้ในบริเวณวัดพระเชตุพนฯ ต่อมามีการรวบรวมพิมพ์เป็นหนังสือขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2472 มีทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ตำรากลบทอยู่ในหมวดวรรณคดี มีทั้งหมด 97 ชนิด มีทั้งกลอักษร และกลแบบ กลอักษรส่วนใหญ่ซ้ำกับกลบทในศิริวิบุลกิตติ์

เปรียบเทียบกลบทในตำรากลบท

แก้

กลบทจากตำรากลบททั้ง 3 เล่ม เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบกลบทที่มีเฉพาะในเล่มใดเล่มหนึ่ง พบว่ากลบทที่มีเฉพาะในจินดามณี มีจำนวน 18 ชนิด กลบทที่มีเฉพาะในศิริวิบุลกิตติ์ มีจำนวน 30 ชนิด กลบทที่มีเฉพาะในประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ มีจำนวน 10 ชนิด

นอกจากนี้ยังปรากฏกลบทที่มีลักษณะบังคับเหมือนกันแต่ชื่อต่างกัน เช่น หมายกงรถ, สกัดแคร่, ทวารตรึงประดับ, จักรวาล, ครอบจักรวาล และทวารตรีประดับ เป็นต้น และที่ชื่อเหมือนกันแต่ลักษณะบังคับต่างกัน เช่น สารถีชักรถมี 2 แบบ, นกกางปีกมี 2 แบบ, ช้างประสานงามี 2 แบบ เป็นต้น

กลบทในกวีนิพนธ์ไทย

แก้

การใช้กลบทในกวีนิพนธ์

แก้

กวีไทยใช้กลบทกับคำประพันธ์ทุกชนิด โดยพิจารณาตามความเหมาะสมของกลบทที่นำมาใช้ คำประพันธ์ที่ไม่มีข้อจำกัดในการเลือกใช้กลบท คือ โคลง กาพย์และกลอน ส่วนร่ายนั้นค่อนข้างมีข้อจำกัดและมีจำนวนคำน้อย ส่วนฉันท์บังคับครุและลหุตายตัวทำให้ยุ่งยากในการเพิ่มลักษณะบังคับ จึงมีกลบทไม่มากส่วนใหญ่มีลักษณะซ้ำคำ เช่น ธงนำริ้ว, บัวบานกลีบขยาย, กวางเดินดง เป็นต้น

บางครั้งกวีอาจจำเป็นต้องมีการดัดแปลงฉันทลักษณ์เพื่อให้เหมาะกับกลบทเช่น การเพิ่มคำ เป็นต้น หรือบางครั้งอาจมีการใช้กลบทหลาย ๆ แบบผสมกันก็ได้

การปรากฏของกลบทในกวีนิพนธ์

แก้

กวีนิพนธ์ที่ใช้กลบทตลอดเรื่อง มี 4 เรื่อง ได้แก่ โคลงอักษรสามหมู่ ของพระศรีมโหสถ (ใช้กลบทชนิดเดียวตลอดเรื่อง), ศิริวิบุลกิตติ์ ของหลวงศรีปรีชา (เซ่ง), โคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ของกรมพระปรมานุชิตชิโนรส, และกลบทสุภาษิต ของหลวงธรรมาภิมณฑ์

กวีนิพนธ์ที่มีกลบทแทรกอยู่ มีปรากฏอยู่ค่อนข้างมากทุกสมัย ตลอดจนปัจจุบัน ซึ่งกวีนิยมแต่งแทรกไว้มากกว่าจะใช้กลบทตลอดเรื่อง นิยมใช้กลอักษรมากกว่ากลแบบ และนิยมใช้กลบทประเภทบังคับเสียงมากกว่ากลบทบังคับอักขรวิธีและฉันทลักษณ์

พัฒนาการของกลบทในกวีนิพนธ์

แก้

กวีมีอิสระในการนำกวีนิพนธ์ไปใช้ในงานของตน รวมทั้งพลิกแพลงใช้กลบทตามความชอบใจของตน จึงมักมีกลใหม่ที่ไม่มีอยู่ในตำรากลบท เช่น กลบทต่อบทต่อคำ ในเพื่อนแก้วคำกาพย์ ที่มีลักษณะคล้ายวัวพันหลัก แต่ซ้ำเฉพาะคำสุดท้ายของบท กับคำแรกของบทต่อไป เป็นต้น

บางครั้งมีการพลิกแพลงกลบทเดิมให้แปลกออกไป มีการพลิกแพลงกลกระทู้เป็นกระทู้ทุกวรรค กระทู้ทุกบาท กระทู้ทุกบท ฯลฯ รวมทั้งมีการนำกลบทหลาย ๆ ชนิดมาต่างร่วมกัน

ส่วนเนื้อความที่กวีนิยมแทรกกลบทได้แก่ บทไหว้ครู บทพรรณนาต่าง ๆ เช่น ความงาม ความรัก ธรรมชาติ การจัดขบวนทัพ การสู้รบ ตลอดจนการจบเรื่องเพื่อบอกชื่อผู้แต่ง และวัตถุประสงค์ในการแต่ง

อ้างอิง

แก้
  1. อุทัย สินธุสาร. สารานุกรมไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, 2516.
  2. สุภาพร มากแจ้ง. กวีนิพนธ์ไทย 1. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2535.
  3. โกชัย สาริกบุตร. การวิเคราะห์กลบทในกวีนิพนธ์ไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2518.