กระดูกยาว
กระดูกยาว (อังกฤษ: Long bones) เป็นประเภทหนึ่งของกระดูกที่มีความยาวมากกว่าความกว้าง ซึ่งมีการเติบโตแบบปฐมภูมิโดยการยืดออกของไดอะไฟซิส (diaphysis) โดยมีเอพิไฟซิส (epiphysis) อยู่ที่ปลายของกระดูกที่เจริญ ปลายของเอพิไฟซิสถูกคลุมด้วยกระดูกอ่อนชนิดไฮยาลิน คาร์ทิเลจ (hyaline cartilage) (หรือ "articular cartilage") การเจริญเติบโตทางยาวของกระดูกยาวเป็นผลจากการสร้างกระดูกแบบแทนที่กระดูกอ่อน (endochondral ossification) ที่บริเวณแผ่นเอพิไฟเซียล (epiphyseal plate) การยืดยาวออกของกระดูกถูกกระตุ้นโดยการสร้างโกรทฮอร์โมน (growth hormone) ซึ่งหลั่งจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า
ตัวอย่างของกระดูกยาว เช่น กระดูกต้นขา กระดูกแข้ง และกระดูกน่องของขา กระดูกต้นแขน กระดูกเรเดียส กระดูกอัลนาของแขน กระดูกฝ่ามือและกระดูกฝ่าเท้า (metatarsal) ของมือและเท้า และกระดูกนิ้วมือและกระดูกนิ้วเท้า กระดูกยาวของขามนุษย์มีความยาวเกือบเป็นครึ่งหนึ่งของความสูงในผู้ใหญ่ นอกจากนั้นโครงสร้างที่เป็นกระดูกที่ประกอบเป็นความสูงก็ได้แก่กระดูกสันหลังและกะโหลกศีรษะ
ด้านนอกของกระดูกประกอบด้วยชั้นของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่เรียกว่า เยื่อหุ้มกระดูก (periosteum) นอกจากนี้เปลือกนอกของกระดูกยาวเป็นกระดูกเนื้อแน่น หรือกระดูกทึบ (compact bone)[1] ชั้นลึกลงไปเป็นชั้นกระดูกฟ่าม, กระดูกฟองน้ำ, กระดูกพรุน หรือกระดูกโปร่ง (cancellous bone หรือ spongy bone) ซึ่งมีไขกระดูก (bone marrow) ส่วนด้านในของกระดูกยาวเป็นช่องว่างเรียกว่า medullary cavity ซึ่งแกนกลางของโพรงกระดูกประกอบด้วยไขกระดูกเหลือง (yellow marrow) ในผู้ใหญ่ ซึ่งจะพบมากในผู้หญิง
อ้างอิง
แก้- ↑ Nelms, Marcia; Sucher, Kathryn P. (2019). Nutrition Therapy and Pathophysiology. Cengage Learning. p. 731. ISBN 978-0-357-39059-7.
บรรณานุกรม
แก้- Stedman, Thomas Lathrop; และคณะ (14 ธันวาคม 2005). Stedman's Online Medical Dictionary (28th ed.). ISBN 978-0-7817-3390-8.
- "Anatomy of long bone". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 สิงหาคม 2020.