กระดูกในเอ็นกล้ามเนื้อ
กระดูกในเอ็นกล้ามเนื้อ หรือ กระดูกเซซามอยด์ (อังกฤษ: sesamoid bone) ในทางกายวิภาคศาสตร์เป็นกระดูกชนิดหนึ่งที่ฝังอยู่ในเอ็นกล้ามเนื้อ รูปร่างของกระดูกจะคล้ายเมล็ดงา มักจะพบในตำแหน่งที่เอ็นกล้ามเนื้อพาดข้ามข้อต่อ เช่นในมือ, เข่า, และเท้า
หน้าที่ของกระดูกชนิดนี้คือทำหน้าที่ปกป้องเอ็นกล้ามเนื้อและช่วยเพิ่มความได้เปรียบเชิงกล การมีกระดูกในเอ็นกล้ามเนื้อจะช่วยให้เอ็นกล้ามเนื้ออยู่ห่างจากศูนย์กลางของข้อเล็กน้อย ซึ่งช่วยทำให้เพิ่มความยาวแขนโมเมนต์ในการหมุน นอกจากนั้นกระดูกในเอ็นกล้ามเนื้อยังช่วยป้องกันไม่ให้เอ็นแบนเข้าไปในข้อต่อเมื่อความตึงมากขึ้น และช่วยคงให้แขนโมเมนต์คงที่ไม่ว่าจะต้องรับแรงมากเท่าใด กระดูกในเอ็นกล้ามเนื้อแตกต่างจากเมนิสคัส (Meniscus) ซึ่งเป็นกระดูกอ่อนที่ทำหน้าที่ช่วยกระจายน้ำหนักของร่างกายที่ลงบนข้อต่อและช่วยลดแรงเสียดทานขณะที่เคลื่อนไหว
กายวิภาคศาสตร์มนุษย์
แก้กระดูกในเอ็นกล้ามเนื้อสามารถพบได้ในข้อต่อต่างๆ ทั่วร่างกาย
- ในเข่า - กระดูกสะบ้า
- ในมือ - กระดูกในเอ็นกล้ามเนื้อ 4 ชิ้นที่พบส่วนปลายของกระดูกฝ่ามือ (Metacarpus) ได้แก่ ที่กระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 1 มี 2 อัน, กระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 2 มี 1 อัน, และสุดท้ายคือกระดูกพิสิฟอร์ม (pisiform) ในข้อมือ
- ในเท้า - ที่กระดูกฝ่าเท้าชิ้นที่ 1 มีกระดูกในเอ็นกล้ามเนื้อ 2 อันที่จุดเชื่อมกับนิ้วหัวแม่เท้า กระดูกทั้งสองชิ้นนี้ช่วยป้องกันเอ็นกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่งอนิ้วเท้าและช่วยในการเรียงตัวของนิ้วเท้า
การบาดเจ็บของกระดูกในเอ็นกล้ามเนื้อ
แก้- อาการเจ็บปวดที่เท้าที่พบได้บ่อยในนักเต้นคือ กระดูกในเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ (sesamoiditis)
- อาการที่กระดูกในเอ็นกล้ามเนื้อแยกออกเป็น 2 ชิ้น อาจพบมาตั้งแต่กำเนิด หรืออาจมีความสัมพันธ์กับการบาดเจ็บในอดีต