กรมหมื่นอินทรภักดี
พระเจ้าหลานเธอ กรมหมื่นอินทรภักดี (ไม่ปรากฏ – พ.ศ. 2293)[1]: 205 หรือ เจ้าพระพิไชยสุรินทร์ ไม่ปรากฏพระนามเดิม ทรงเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระเพทราชา ราชนิกูลราชวงศ์บ้านพลูหลวง เจ้ากรมพระคชบาล[1]: 205 [note 1] ในรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระจนถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และทรงเป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายราชสมบัติของสมเด็จพระเพทราชาให้แก่กรมพระราชวังบวรพระมหาอุปราช (หลวงสรศักดิ์) ให้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี
กรมหมื่นอินทรภักดี | |
---|---|
พระองค์เจ้าต่างกรม | |
เจ้ากรมพระคชบาล | |
ดำรงตำแหน่ง | ไม่ปรากฏ – พ.ศ. 2293 |
รัชสมัย | สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ |
ประสูติ | กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา |
สิ้นพระชนม์ | พ.ศ. 2293 กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา |
พระราชบุตร | หม่อมพัด หม่อมกลาง |
ราชวงศ์ | บ้านพลูหลวง |
ศาสนา | พุทธ |
พระประวัติ
แก้กรมหมื่นอินทรภักดี เดิมมีบรรดาศักดิ์เป็น นายกรินท์คชประสิทธิ์ ทรงบาศซ้าย กรมพระคชบาล (สมัยอยุธยาเรียกว่า กรมช้างอัษฐคช)[3] รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[4]: 252 ซึ่งเป็นพระราชนัดดารับราชการมาด้วยกันกับพระเพทราชาเมื่อครั้งรับราชการกรมช้างก่อนขึ้นเสวยราชย์ พอเสวยราชสมบัติแล้วสมเด็จพระเพทราชาจึงทรงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นเจ้าราชนิกูล ชื่อ เจ้าพระพิไชยสุรินทร์[5]
สมเด็จพระเพทราชาทรงโปรดปรานเจ้าพระขวัญ พระราชโอรสของพระองค์และกรมหลวงโยธาทิพ (หลักฐานร่วมสมัยว่ากรมหลวงโยธาเทพ) แถมมีผู้คนมากมายต่างพากันนับถือ ทำให้กรมพระราชวังบวรฯ เกิดความหวาดระแวงว่าราชสมบัติจะตกไปอยู่กับเจ้าพระขวัญ จึงเกิดเหตุการณ์นำเจ้าพระขวัญมาสำเร็จโทษด้วยไม้ท่อนจันทร์ ปรากฏความว่า :-
แผ่นดินขุนหลวงเสือ เห็นจะฆ่ามากเพราะคนนิยมเจ้าพระขวัญ ฤาพวกเจ้าพระพิไชยสุรินทรจะเป็นขุนนางอยู่ไม่ได้[6]
เมื่อสมเด็จพระเพทราชาซึ่งทรงประชวรทรงทราบทรงพระพิโรธกรมพระราชวังบวรฯ เป็นอันมากแลตรัสว่าจะไม่ยกราชสมบัติให้แก่กรมพระราชวังบวรฯ แล้วทรงพระกรุณาตรัสเวนราชสมบัติให้ "เจ้าพระพิไชยสุรินทร" พระราชนัดดา
ปรากฏใน พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ว่า :-
...มีพระราชดำรัศให้หาเจ้าพระพิไชยสุรินทรราชนัดา ขึ้นมาเฝ้าบนพระที่นั่งบันยงครัตนาศน ซึ่งเสดจทรงพระประชวรอยู่นั้น แล้วทรงพระกรุณาตรัสมอบเวรราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้าพระพิไชยสุรินทร แล้วสมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสดจสวรรคตในเพลาราษตรีวันนั้น...[7]
หลังจากสมเด็จพระเพทราชาเสด็จสวรรคต กรมพระราชวังบวรฯ ไม่ได้เสร็จพระราชดำเนินมายังพระราชวังหลวง และเจ้าพระพิไชยสุรินทร์ก็เกรงพระเดชานุภาพจึงได้นำเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ทั้ง 5 ประการ พร้อมท้าวพระยาเสนาบดีขึ้นเข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯ เพื่อกราบบังคมทูลถวายราชสมบัติและเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ แต่กรมพระราชวังบวรฯ ทรงไม่รับ และมีพระบัณฑูรตรัสแก่เจ้าพระพิไชยสุรินทร์ว่า :-
พระราชโองการโปรดมอบเวนราชสมบัติให้เป็นสิทธิแก่ท่านแล้ว ท่านจงครองราชสมบัติเถิด แลซึ่งท่านจะมายกราชสมบัติให้แก่เรา แลเราจะรับราชสมบัตินั้น ก็จะเป็นการละเมิดพระโองการไปดูมิบังควรนัก[8]: 262–266
เจ้าพระพิไชยสุรินทร์จึงทราบทูลอ้อนวอนหลายครั้ง และซบพระเศียรเกล้าลงกลิ้งเกลือกกับฝ่าพระบาทของกรมพระราชวังบวรฯ และกราบทูลวิงวอนกับกรมพระราชวังบวรฯ ความว่า :-
ข้าพระพุทธเจ้าวาสนาบารมีก็น้อยบุญน้อยกําลังน้อย มิอาจสามารถจะดํารงราชสมบัติไว้ได้ ถ้าแลข้าพระพุทธเจ้าจะครองแผ่นดินสืบไปบัดนี้ เห็นจะมีภยันตรายแก่ราชสมบัติและบ้านเมือง สมณพราหมณาจารย์อาณาประชาราษฎรจะได้ความเดือดร้อนเป็นมั่งคง อันเศวตฉัตรนี้เป็นมหาสิริอันประเสริฐ ถ้าบุคคลผู้ใดมิได้มีบุญญาภิสังขารล่ำสมมาแต่ก่อน ก็หาดำรงรักษาไว้ได้ไม่ อุปมาดังมันเหลวแห่งพระยาราชสีห์ มีธรรมชาติอันสุขุมละเอียดยิ่งนัก ถ้าจะเอาภาชนะใด ๆ ก็ดีมารองรับไว้นั้น ก็หารองรับไว้ได้ไม่ ก็จะไหลรั่วไปเสียสิ้น แลซึ่งจะรองรับไว้ได้นั้น ก็แต่สุวรรณภาชนะสิ่งเดียว และพระองค์กอปรด้วยพระกฤษฎาเดชาธิการภินิหารบารมีมาก สมควรจะดำรงราชอาณาจักรในแผ่นดินสยามประเทศได้ อุปมาดังภาชนะทองอันรองรับไว้ซึ่งมันเหลวแห่งพระยาราชสีห์เหมือนฉะนั้น ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาโปรดรับครอบราชสมบัติโดยสุภาวสุจริตธรรมเถิด เหมือนพระองค์ทรงพระมหาการุญภาพแก่แผ่นดิน อย่าให้เป็นจลาจลเลย สมณพราหมณาจารย์อาณาประชาราษฎรจะได้พึ่งพระบารมีร่มเย็นเป็นสุขานุสุข แลซึ่งพระองค์จะมิทรงพระกรุณาโปรดรับครอบราชสมบัติไซร้ ก็เหมือนหนึ่งมิทรงพระกรุณาแก่แผ่นดินและไพร่ฟ้าข้าขอบขัณฑเสมาทั้งปวง เห็นว่าบ้านเมืองจะเกิดอันตราย สมณพราหมณาจารย์อาณาประชาราษฎรจะได้ความเดือดร้อนเป็นแท้ ข้าพระพุทธเจ้าก็จะหาที่พึ่งที่พำนักมิได้ ก็จะกราบถวายบังคมลาพระองค์ บุกป่าผ่าดงไปซุกซ่อนนอนตายเสียตามยถากรรมของข้าพระพุทธเจ้า[8]: 262–266
กรมพระราชวังบวรฯ ก็รับพระโองการและพระบัณฑูรตามเจ้าเจ้าพระพิไชยสุรินทร์ และจัดพระราชพิธีราชาภิเษกตามอย่างโบราณราชประเพณีเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8
ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ สถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าและทรงกรมเป็นเจ้าต่างกรม เฉลิมพระยศว่า พระเจ้าหลานเธอ กรมหมื่นอินทรภักดี[9]: 83 มีความชอบครั้งถวายราชสมบัติให้แก่สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี[10] และตั้งเป็นเจ้ากรมพระคชบาล ข้อสันนิษฐานของสมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เรื่อง กรมหมื่นอินทรภักดี ทรงทราบไม่แน่ชัดว่าเป็นพระองค์ใดแต่ทรงสันนิษฐานว่าเป็นเจ้าพระพิไชยสุรินทร์ ราชนิกุล[11]: 15
ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พ.ศ. 2277 ได้มีพระราชโองการให้กรมหมื่นอินทรภักดีกับเจ้าพระยากลาโหม ขึ้นไปล้อมช้าง ณ เมืองลพบุรี[12]
พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กล่าวว่า :-
...วันเดือน ๙ ข้างขึ้น ปีขาล ฉศก มีพระราชโองการให้กรมหมื่นอินทรภักดีกับเจ้าพระยากลาโหม ขึ้นไปล้อมช้าง ณ เมืองลพบุรี ครั้น ณ เดือน ๑๐ ก็เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปเมืองลพบุรี ให้ออกไปเร่งนายกองต้อนสัตว์จตุบาท มาแต่ทะลชุบศรฟากตะวันออกที่ล้อมเก่าเมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเจ้านั้น แล้วเสด็จพระราชดำเนินออกไปขึ้นพระตำหนักห้างให้คนยิง ปืน ตีม้า ฬ่อ ฆ้องกลองโห่ร้องเร้าเข้ามา แลฝูงโค กระทิง มหิงสาเถื่อน ละมั่ง กวาง ทราย สุกรป่า วิ่งกระเจิงออกมาเป็นอันมาก ฝูงช้างเถื่อนก็วิ่งบากบ่ายหน้าหนี ช้างเชือกก็วงล้อมไว้ ได้ทีคล้องต้อนไล่ช้าง[13]
ครั้นกรมหลวงโยธาเทพเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2278 กรมหมื่นอินทรภักดีทรงรับหน้าที่เป็นผู้โยงพระมหาพิชัยราชรถ[14]
สิ้นพระชนม์
แก้กรมหมื่นอินทรภักดีสิ้นพระชนม์เมื่อศักราช ๑๑๑๒ ปีมะเมีย (ตรงกับปี พ.ศ. 2293)[15] สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โปรดให้สร้างพระเมรุชั้นเจ้าต่างกรม และเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพกรมหมื่นอินทรภักดี ณ วัดไชยวัฒนาราม[16]
ส่วนคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม และคำให้การชาวกรุงเก่า กล่าวถึงการสิ้นพระชนม์ของกรมหมื่นอินทรภักดีต่างจากพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาออกไป กล่าวคือ เมื่อปลายรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ เกิดปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติระหว่างเจ้าฟ้าอภัยกับพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) เจ้าพระพิไชยสุรินทร์ เจ้าราชนิกุล ก็ได้ไปเข้ากับวังหลวงฝ่ายเจ้าฟ้าอภัย เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ (เจ้าฟ้าพร) มีชัยชนะได้ขึ้นครองราชย์แล้ว จึงจับเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศวร์ไปสำเร็จโทษเมื่อ พ.ศ. 2275 บรรดาเจ้านายและข้าราชการฝ่ายวังหลวงต่างถูกกวาดล้างสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และเจ้าพระพิไชยสุรินทร์กับเจ้าพระอินทรอภัย เจ้าราชนิกุลทั้งสองพระองค์จึงถูกสำเร็จโทษด้วยเหตุไม่ซื่อตรงต่อกรมพระราชวังบวรฯ (เจ้าฟ้าพร)
ปรากฏใน คําให้การขุนหลวงหาวัด ความว่า :-
อันกุมารทั้งสองนั้น พระองค์สั่งให้สังหารชีวิตตามกฎหมายพิพากษา อันไชยสุรินทร อินทอภัยนั้น ก็มาพลอยตายด้วยไม่ตรง อันพระยาอภัยราชากับพระยายมราชนั้นหนีไปบวชเป็นสงฆ์ เป็นกรรมที่จะตายนั้นจึงแต่งแขกอาสาออกไป[17]
หากยึดหลักฐานตาม คําให้การขุนหลวงหาวัด กรมหมื่นอินทรภักดีสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2275 (พ.ศ. 2276 หากนับปีแบบปัจจุบัน)
พระโอรสธิดา
แก้กรมหมื่นอินทรภักดี มีพระบุตร ดังนี้
- หม่อมเรือง (ต่อมาคือ เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ)[18]
- หม่อมจัน (ต่อมาคือพระยาไชยบูรณ์ (จัน))
- หม่อมกลาง
พระอิสริยยศ
แก้เครื่องราชอิสริยยศ
แก้กรมหมื่นอินทรภักดี ได้รับพระราชทานเครื่องยศ ดังนี้[4]: 252
- เครื่องราชูปโภค
- หมากทองคำ
- เต้าน้ำทองคำ
วัฒนธรรมร่วมสมัย
แก้นวนิยาย
แก้- เรื่องหลายรส ตอน ละครพงศาวดารตอนสิ้นแผ่นดินพระนารายณ์[22] นิพนธ์โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงใช้นามปากกาว่า ว.ณ ประมวญมารค เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวถึงเหตุการณ์มีข้อราชการด่วนให้เรียกตามตัว นายกรินท์คชประสิทธิ์ ทรงบาศซ้าย และเป็นครูช้างในกรมพระคชบาลกับนายประจบคชสิน และให้คัดเลือกชายฉกรรจ์ในกรมช้างจำนวนมากตามมาด้วย
- เพชรพระนารายณ์ ตอนอวสานพระนารายณ์[23] เป็นนวนิยายประวัติศาสตร์แต่งโดยหลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง) โดยเหตุการณ์หลังราชวงศ์บ้านพลูหลวงได้ขึ้นครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาสืบต่อจากราชวงศ์ปราสาททอง กล่าวถึง นายกรินทคชประสิทธิ์ ทรงบาศซ้าย ข้าราชการในกรมช้างและเป็นหลานของพระเพทราชา ได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นราชนิกูลทรงพระนามว่า เจ้าพระพิชัยสุรินทร์
ภาพยนตร์
แก้- พระเจ้าเสือ พันท้ายนรสิงห์[24] ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์พระนิพนธ์ต้นฉบับของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ฉายเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2525 กำกับโดยสมโพธิ แสงเดือนฉาย มีตัวละครชื่อ เจ้าฟ้าพระพิไชยสุรินทร์ เป็นพระนามของกรมหมื่นอินทรภักดีครั้งยังทรงเป็นเจ้าพระพิไชยสุรินทร์ ปรากฏใน พระราชพงศาวดาร ฉบับกรมศึกษาธิการ ร.ศ. 120[25]
ทรงเป็นบรรพบุรุษขุนนางผู้หนึ่ง
แก้มีหลักฐานร่วมสมัยกล่าวถึง กรมหมื่นอินทรภักดี ครั้งยังทรงเป็น เจ้าพระพิไชยสุรินทร์ เจ้าราชนิกุลในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา เป็นบรรพบุรุษของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ผู้เป็นต้นสกุล "โรจนกุล"[26] ผู้สำเร็จราชการเมืองพระพิษณุโลก แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เช่น เชาวน์ รูปเทวินทร์ กล่าวว่า "อันเจ้าพระยาพิษณุโลกเรือง ที่ยกตัวขึ้นเป็นกษัตริย์ได้เพียง ๗ วันเท่านั้น เดิมเป็นนายทหารผู้มีฝีมือคนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา เข้าใจว่ามีเชื้อสายเป็นเจ้าราชนิกูลผู้หนึ่งในราชวงศ์บ้านพลูหลวงของพระเพทราชา..."[27] สอดคล้องกับ หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ซึ่งกล่าวว่า "จ้าวพระพิศณุโลกย์เรืองสืบสายจ้าวราชนิกุญผู้เปนพระหลานเธอแผ่นดินพระมหาบุรุษ"[28] และใน ประชุมพงศาวดาร เรื่อง ไทยรบพม่า พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างเครือพระญาติกับเจ้าพระยาพิษณุโลกว่า "...ทํานองเจ้าฟ้าจีดจะเกี่ยวดองเป็นญาติกับเจ้าพระยาพิษณุโลกอย่างใดอย่างหนึ่ง..."[29]
อ้างอิง
แก้- หมายเหตุ
- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 1.2 ประยุทธ สิทธิพันธ์. (2505). ต้นตระกูลขุนนางไทย. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา. 544 หน้า.
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน. (2523). สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑๑. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
- ↑ กรมศิลปากร. (2523). กฏหมายตราสามดวง เล่ม 1. พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภา. หน้า 37.
- นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา และดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2505). สาส์นสมเด็จ เล่ม ๒๓. ลายพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา. หน้า 135.
- ↑ 4.0 4.1 กำธรเทพ กระต่ายทอง และปริยัติธรรมธาดา (แพ), พระยา. (2514). พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ และพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย. 298 หน้า.
- ↑ "ตั้งเจ้าราชนิกูล แผ่นดินสมเด็จพระมหาบุรุษ (พระเพทราชา) จุลศักราช ๑๐๔๔-๑๐๕๙", ใน พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ภาค ๒. กรุงเทพฯ: ม.ป.พ., 2455. หน้า 126.
- ↑ ยิ้ม ปัณฑยางกูร และสายไหม จบกลศึก (บก.). (2528). งานพระเมรุมาศสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2528. 451 หน้า. หน้า 86. ISBN 974-7921-98-7
- ↑ พระราชพงษาวดารกรุงเก่า-ฉบับหมอบรัดเล/๒๒. หน้า 22.
- ↑ 8.0 8.1 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2495). "แผ่นดินสมเด็จพระสรรเพชญที่ ๘ (พระเจ้าเสือ)", ใน พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๒ ตอน ๑. พระนคร: โอเดียนสโตร์. 499 หน้า.
- ↑ 9.0 9.1 ประยูร พิศนาคะ. (2515). สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ. กรุงเทพฯ: สำนักหอสมุดกลาง 09. 472 หน้า.
- ↑ สมมตอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. (2545). จดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. หน้า 9. ISBN 978-974-4175-27-4
- ↑ 11.0 11.1 สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2538). เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งและกองทัพเรือ. 348 หน้า. ISBN 978-974-8274-51-5
- ↑ พระราชพงษาวดารกรุงเก่า-ฉบับหมอบรัดเล/๒๖. หน้า 26.
- ↑ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๘๒ เรื่อง พระราชพงศาวดารกรุงสยามจากต้นฉบับของ บริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2537. 423 หน้า. หน้า 320. ISBN 978-974-4190-25-3
- เกริกฤทธิ์ เชื้อมงคล. (2562). ก่อนแผ่นดินเปลี่ยนราชบัลลังก์. กรุงเทพฯ: สยามความรู้. 240 หน้า. หน้า 224. ISBN 978-616-4415-19-5
- ↑ ลานพระเมรุเผาพระศพ และสนามหน้าจักรวรรดิ ยุคกรุงศรีอยุธยา.
- ↑ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา. (พิมพ์ครั้งที่ 6). พระนคร: กรมศิลปากร, 2511. 884 หน้า. หน้า 563.
- ↑ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2499). สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พระนคร: สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. หน้า 6,601.
- ↑ คำให้การขุนหลวงหาวัด. นนทบุรี: โครงการเลือกสรรหนังสือ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2547. 244 หน้า. หน้า 85. ISBN 978-974-6457-67-5
- ↑ 18.0 18.1 กฤตภาส โรจนกุล. (2554). เอกสารการค้นคว้าประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาเรื่อง โรจนกุล ชีวประวัติและเชื้อสายสัมพันธ์. กรุงเทพฯ: [ม.ป.ท.] (เอกสารไม่ตีพิมพ์เผยแพร่). อ้างใน ลิขิตปรีชา (คุ้ม), หลวง. (2378). ธรรมเนียบตระกูลสังเขปครั้งกรุงเก่า ต้นฉบับลายมือคัดของนายคุ้ม ร.ศ. ๕๓. กรุงเทพพระมหานคร, [ม.ป.ท.] (เอกสารไม่ตีพิมพ์เผยแพร่). หน้า 18.
- ↑ "ตั้งเจ้าราชนิกูล แผ่นดินสมเด็จพระมหาบุรุษ (พระเพทราชา) จุลศักราช ๑๐๔๔-๑๐๕๙", ใน พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ภาค ๒. กรุงเทพฯ: ม.ป.พ., 2455. หน้า 126.
- ↑ ดนัย ไชยโยธา. (2543). พัฒนาการของมนุษย์กับอารยธรรมในราชอาณาจักรไทย เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์. หน้า 198. ISBN 978-974-2777-80-7
- ↑ นริศรานุวัตติวงศ์, สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา และดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2534). สาส์นสมเด็จ เล่มที่ ๒. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์. หน้า 216. ISBN 978-974-0056-57-7
- สมมตอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. (2520). จดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 1. กรุงเทพฯ: รุ่งคิลป์การพิมพ์. ISBN 974-417-527-3
- ↑ ว.ณ ประมวญมารค.. (2514). เรื่องหลายรส. กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา. 433 หน้า. หน้า 163.
- ↑ วิจิตรวาทการ (กิมเหลียง), พลตรี หลวง. (2513). เพ็ชรพระนารายณ์. กรุงเทพฯ: เสริมวิทย์บรรณาคาร. 536 หน้า. หน้า 476.
- ↑ พระเจ้าเสือ พันท้ายนรสิงห์ (2525) เก็บถาวร 2022-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เว็บภาพยนตร์ไทย. สืบค้นเมื่อ 17 กันยายน พ.ศ. 2565.
- ↑ กรมศึกษาธิการ. (2444). พระราชพงศาวดาร ฉบับกรมศึกษาธิการ ร.ศ. ๑๒๐ เล่ม ๒. พระนคร: กรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ. หน้า 110.
- ↑ นามสกุลพระราชทาน. พระราชวังพญาไท. หมวดอักษร ร. ลำดับที่ 368.
- เทพ สุนทรศารทูล. (2534). มงคลนามตามตำราโหราศาสตร์. กรุงเทพฯ: พระนารายณ์. หน้า 205.
- ↑ เชาวน์ รูปเทวินทร์. (2528). ย่ำอดีต พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับงานกู้อิสรภาพของชาติไทย เลมที่ 1. กรุงเทพฯ: บริษัท พี.วาทิน พับลิเคชั่น จำกัด. 672 หน้า. หน้า 342–343.
- ↑ ลิขิตปรีชา (คุ้ม), หลวง. (2378). ธรรมเนียบตระกูลสังเขปครั้งกรุงเก่า ต้นฉบับลายมือคัดของนายคุ้ม ร.ศ. ๕๓. กรุงเทพพระมหานคร, [ม.ป.ท.] (เอกสารไม่ตีพิมพ์เผยแพร่). หน้า 24.
- ↑ ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2506). "สงครามครั้งที่ 24 คราวเสียกรุงครั้งหลัง ปีกุน พ.ศ. ๒๓๑๐", ใน ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๖. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา. หน้า 107.