กบฏดุซงญอ
กบฏดุซงญอ (มลายูปัตตานี: ปือแร ดุซงญอ แปลว่า "ดุซงญอลุกขึ้นสู้" หรือ "สงครามดุซงญอ" (Dusun Nyor Rebellion) เป็นเหตุการณ์การปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มชาวมุสลิมไทยเชื้อสายมลายู ระหว่าง 25 – 28 เมษายน พ.ศ. 2491 ที่ตำบลดุซงญอ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส เป็นเหตุให้ทั้งสองฝ่ายมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก หลังเหตุการณ์ มีการสร้างอนุสาวรีย์ลูกปืนเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์นี้ แต่อนุสาวรีย์นี้ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก
สงครามดุซงญอ | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
เจ้าหน้าที่รัฐไทย
|
"กลุ่มชาวไทยเชื้อสายมลายู"
| ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
ร.ต.อ.บุญเลิศ เลิศปรีชา | หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ | ||||||
กำลัง | |||||||
ตำรวจ 3 กองร้อย เครื่องบินรบ 3 ลำ | กลุ่มก่อการจลาจลนับพันคน | ||||||
ความสูญเสีย | |||||||
ตำรวจเสียชีวิต 125 นาย | กลุ่มก่อจลาจลเสียชีวิตประมาณ 3,130 คน | ||||||
ชนวนเหตุ ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย |
เหตุการณ์กบฏนี้ ได้มีผู้กล่าวถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ "กรณีกรือเซะ" เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2547[1] จนมีผู้เสียชีวิต 108 ศพ ซึ่งวันนั้นเป็นวันครบรอบ 56 ปีเหตุการณ์
การก่อตัว
แก้ความไม่พอใจรัฐบาลไทยของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูเริ่มขึ้นจากการยกเลิกระบบสุลต่านหรือเจ้าผู้ครองนครมาเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 [2] และทวีความรุนแรงขึ้นในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรม[3] ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งความอดอยากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ราษฎรที่นับถือศาสนาอิสลาม เห็นว่าพวกตนไม่ได้รับการดูแลเท่าเทียมกับราษฎรที่นับถือศาสนาพุทธ นอกจากนี้ยังมีแรงหนุนจากภายนอก โดยอังกฤษสนับสนุนตนกู มะไฮยิดดิน อับดุลกาเดร์ บุตรของรายาปัตตานีองค์สุดท้ายให้แยกตัวออกจากไทย เพื่อแก้แค้นที่ไทยหันไปร่วมมือกับญี่ปุ่น[4] แกนนำในการต่อต้านรัฐบาลยุคนั้นคือ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ซึ่งมีบทบาทในการคัดค้านการตั้งดะโต๊ะยุติธรรม เรียกร้องให้แยกศาลศาสนา และเสนอคำขอ 7 ข้อต่อรัฐบาล หะยีสุหลงถูกจับด้วยข้อหากบฏเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2491 ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ราษฎรอย่างกว้างขวาง
เหตุการณ์ในพื้นที่
แก้การรวมกลุ่มของชาวไทยเชื้อสายมลายูในยุคนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 สาเหตุ อย่างแรก คือ ไม่พอใจนโยบายรัฐบาลที่ราษฎรรู้สึกว่าเป็นการกดขี่พวกตน อย่างที่สองคือ รวมตัวกันต่อสู้กับโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาที่มักข้ามแดนมารังควานชาวไทยเชื้อสายมลายูเป็นประจำ แต่พวกเขาไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐเพราะมีความระแวงกันอยู่แล้ว ความระแวงซึ่งกันและกันนี้เป็นให้เกิดความรุนแรงขึ้นในที่สุด ทั้งโดยความเข้าใจผิดและถูกยุยงจากผู้ไม่หวังดี[5]
ลำดับเหตุการณ์ในพื้นที่เป็นดังต่อไปนี้[6]
- 24 เมษายน เจ้าหน้าที่รัฐได้รับรายงานว่า หะยีสะแมงฟันนายบุนกี (จีนเข้ารีตอิสลาม) ได้รับบาดเจ็บสาหัส
- 25 เมษายน ตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองรวม 4 นาย เข้าไปตรวจเหตุการณ์ในหมู่บ้าน ถูกพวกก่อจลาจลราว 30 คนถือดาบไล่ฟัน จนต้องหนีออกจากหมู่บ้าน
- 26 เมษายน
- ตอนเช้า ตำรวจราว 28 นาย นำโดย ร.ต.อ. บุญเลิศ เลิศปรีชา ยกเข้ามาที่ตลาดดุซงญอและส่งตำรวจ 4 นาย คือ สิบตรีสง รุ่งเรือง พลฯสมัคร ประดิษฐ์ สุวรรณภักดี พลฯสมัคร บุญ กล้าหาญ และพลฯสมัคร สมศักดิ์ แหวนสำริด ไปเป็นกองล่อให้ฝ่ายจลาจลแสดงตัว ผลปรากฏว่าฝ่ายจลาจลมีกำลังมากกว่า ฝ่ายตำรวจต้องล่าถอย ตำรวจที่เป็นกองล่อทั้ง 4 นายเสียชีวิตทั้งหมด
- ตอนค่ำ กำลังตำรวจจากจังหวัดใกล้เคียงคือ จังหวัดยะลา 20 นาย จังหวัดปัตตานี 30 นาย อำเภอสุไหงปาดี 8 นาย ยกมาสมทบและรวมกำลังกันที่ตำบลกรีซา 1 คืน
- 27 เมษายน กำลังตำรวจจากจังหวัดสงขลาอีก 20 นาย มาถึงตำบลกรีซา เริ่มยกพลเข้าหมู่บ้านดุซงญอ ปะทะกับพวกจลาจล ยิงโต้ตอบกันราว 3 ชั่วโมง ฝ่ายตำรวจจึงล่าถอย ระหว่างถอย พลฯสมัคร วิน ไกรเลิศถูกฝ่ายจลาจลยิงเสียชีวิต
- 28 เมษายน กำลังตำรวจเข้าโจมตีหมู่บ้านดุซงญออีกครั้ง และปราบปรามฝ่ายจลาจลได้เด็ดขาด
ข้อมูลจากชาวบ้านดุซงญอที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า ชาวบ้านส่วนหนึ่งขึ้นไปรวมตัวบนเขาเพื่อประกอบพิธีทางไสยศาสตร์ให้อยู่ยงคงกระพันเพื่อต่อสู้กับโจรจีนคอมมิวนิสต์ ในกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งเป็นคนหนุ่มที่หนีการเกณฑ์ทหาร เพราะเชื่อว่าถ้าเป็นทหารเกณฑ์แล้วต้องถูกบังคับให้ไหว้พระพุทธรูป เจ้าหน้าที่ตำรวจขึ้นไปตามตัวชาวบ้านบนเขาให้ลงมา แต่ชาวบ้านไม่ยอม ขับไล่ตำรวจลงมา ตำรวจจึงรวมกลุ่มกันขึ้นไปยิงชาวบ้านบนเขา ชาวบ้านจึงหนีลงมารวมตัวกันที่สุเหร่าและบ้านของโต๊ะเปรัก ก่อนจะถูกตำรวจยกพลเข้ามาปราบ[7]
อย่างไรก็ตามรายละเอียดของเหตุการณ์แตกต่างกันไปขึ้นกับว่าเป็นเอกสารของฝ่ายใด เอกสารของรัฐบาลไทยกับเอกสารที่เขียนโดยชาวมลายูให้ข้อมูลที่ต่างกันทั้งวันที่เกิดเหตุการณ์และจำนวนชาวบ้านดุซงญอผู้เสียชีวิต แต่จำนวนตำรวจที่เสียชีวิตตลอดเหตุการณ์ ข้อมูลส่วนใหญ่ระบุว่าอยู่ที่ราว 30 ศพ
ยอดผู้เสียชีวิต
แก้สรุปจำนวนผู้เสียชีวิตจากแหล่งต่างๆ ดังนี้[8]
แหล่งอ้างอิง | วันที่เกิดเหตุการณ์ | จำนวนผู้เสียชีวิต | รายละเอียด |
---|---|---|---|
ปิยนาถ, 2534 | 26–27 เม.ย. | > 100 คน | ชาวไทยมุสลิมเข้าโจมตีสถานีตำรวจ เกิดการต่อสู้ 2 วัน |
อิมรอน, 2538 | 25–26 เม.ย. | 30-100 คน | ชาวไทยมุสลิมเข้าโจมตีสถานีตำรวจ โดยตำรวจเป็นฝ่ายยิงก่อน |
อิบรอฮิม, 2541 | 28 เม.ย. | ชาวบ้าน 400 คน ตำรวจ 30 คน | - |
Malek, 1993 | 26 เม.ย. | ชาวบ้าน 400 – 600 คน ตำรวจ 30 คน | กำลังตำรวจ 3 กองร้อยเข้ากวาดล้างชาวบ้านที่ไม่มีอาวุธ มีเครื่องบินรบ 3 ลำ บินหาเป้าหมายในหมู่บ้าน |
Syed Serajul Islam, 1998 | ? | ชาวบ้าน 1,100 คน | - |
อัฮหมัดสมบูรณ์, 2543 | 28 เม.ย. | ชาวบ้าน 400 คน ตำรวจ 30 คน | การปราบปรามเกิดขึ้นขณะชาวบ้านกำลังละหมาดซุบฮิของวันที่ 28 เม.ย. |
Mahmad, 1999 | 25–28 เม.ย. | ชาวบ้าน 400 คน ตำรวจ 30 คน | รัฐบาลส่งเครื่องบินรบเรือรบเตรียมเข้ากวาดล้าง ในวันที่ 27 เม.ย. ก่อนส่งกำลังตำรวจเข้ากวาดล้างเมื่อ 28 เม.ย. |
วรมัย, 2547[9] | 25–28 เม.ย. | ชาวบ้าน 30 คน ตำรวจ 5 คน | ดูข้างบน |
ปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์
แก้ปฏิกิริยาของฝ่ายรัฐบาล
แก้จอมพล ป. พิบูลสงครามตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อสอบสวนหาสาเหตุ โดยมีพระยาอมรฤทธิธำรง (พร้อม ณ ถลาง) เป็นประธานกรรมการ และ พ.ต.ท. เผ่า ศรียานนท์ เป็นรองประธาน ระหว่างการสอบสวน ทางจังหวัดนราธิวาสส่งโทรเลขเข้ามาขอกำลังทหาร ทางรัฐบาลตัดสินใจส่งเรือรบ 3 ลำที่ซ้อมรบในบริเวณนั้น และเครื่องบิน 1 ฝูง เข้าไป แต่เหตุการณ์สงบลงเสียก่อน
คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งได้ลงไปสำรวจบริเวณที่เกิดเหตุ ผลการสอบสวนของคณะกรรมการ แจ้งว่าการจลาจลเกิดจากความเข้าใจผิด ราษฎรมาชุมนุมกันมากเพื่อเข้าร่วมพิธีทางไสยศาสตร์ จนเป็นที่ผิดสังเกตของตำรวจ จึงขอเข้าตรวจค้น ชาวบ้านไม่ยอมจึงเกิดการปะทะกัน[10] เนื่องจากพบว่าคนในพื้นที่ไม่พอใจมาก อับดุลลา หวังปูเต๊ะ เสนอให้เชิญตนกู มะไฮยิดดินเข้ามาปรึกษาในกรุงเทพมหานคร แต่รัฐบาลไม่ได้ทำตาม[11]
ปฏิกิริยาของคนในพื้นที่
แก้ผลจากการปราบปรามครั้งนี้ฝ่ายชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในพื้นที่ไม่พอใจการกระทำของรัฐมาก ดังที่เขียนไว้ในงานเขียนของอิมรอนว่า[12]
...ถ้าข้าราชการเป็นผู้ฉลาดและมีสติปัญญาแล้ว ย่อมไม่เกิดจลาจลขึ้นแน่นอน ทั้งนี้เพราะนายและพรรคพวกโง่บัดซบและมีใจอำมหิต จึงกระทำต่อชาวมลายูเช่นนั้น...
ผลของการจลาจลทำให้ชาวไทยมุสลิมประมาณ 2,000 – 4,000 คนอพยพเข้าไปในสหพันธรัฐมลายู (ประเทศมาเลเซียปัจจุบัน) ความตึงเครียดในพื้นที่ ทำให้รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อปราบคอมมิวนิสต์
การอพยพของคนไทยเข้าสู่มาลายายังเกิดอย่างต่อเนื่อง ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2491 นายกรัฐมนตรีกล่าวปราศัยผ่านทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยชักชวนให้ชาวไทยมุสลิมกลับคืนถิ่นฐาน แต่การลักลอบเข้ามาลายายังเกิดขึ้นอยู่ต่อไป[13]
ปฏิกิริยาจากมุสลิมในประเทศ
แก้นายแพทย์เจริญ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี และบรรจง ศรีจรูญ ประธานสันนิบาตไทยอิสลาม ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลดูแลและปรับปรุงความเป็นอยู่ของชาวไทยในมุสลิมให้ดีขึ้น ขอให้มีเสรีภาพทางศาสนา วัฒนธรรมและการศึกษา ซึ่งทางรัฐบาลได้รับหลักการไว้พิจารณา[14]
ปฏิกิริยาจากสหพันธรัฐมาลายา
แก้เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวมลายูในมาลายามาก โดยมีสมาคมที่โกตาบาห์รูส่งสาส์นมายังรัฐบาลไทยให้มีการแก้ไขปัญหาสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างสันติ และขอให้ปล่อยตัว หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ที่ถูกจับในข้อหากบฏ ซึ่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นรับปากว่าจะดูแลให้ดีที่สุด[15]
ในขณะนั้นรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาลายามีความร่วมมือกันเพื่อปราบคอมมิวนิสต์ตามแนวชายแดน โดยฝ่ายไทยขอร้องไม่ให้ฝ่ายมาลายาช่วยเหลือกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในไทย ส่วนรัฐบาลมาลายาต้องการให้ไทยร่วมมือกับมาลายาในการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาที่มีฐานที่มั่นบางส่วนในฝั่งไทย ความร่วมมือนี้ทำให้มีการกวดขันและลาดตระเวนตามแนวชายแดนมากขึ้น
การประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อปราบคอมมิวนิสต์ในไทยทำให้หนังสือพิมพ์มาลายาโจมตีว่ารัฐบาลไทยหาโอกาสจะฆ่าชาวไทยมุสลิมที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล ทำให้รัฐบาลไทยต้องออกมาแถลงข่าวว่า จะมีการปฏิรูปอย่างกว้างขวางในสี่จังหวัดภาคใต้ โดยยึดถือตามรายงานของคณะกรรมการที่ลงพื้นที่ นำโดยนายอับดุลลา หวังปูเต๊ะ[16]
อนุสาวรีย์ลูกปืน
แก้อนุสาวรีย์ลูกปืนเป็นอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์กบฏดุซงญอแต่ไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก ตั้งอยู่ภายในบริเวณสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส สร้างเป็นรูปลูกกระสุนปืน ตั้งอยู่บนฐานทรงกลม 3 ชั้น สูง 36, 30, และ 30 เซนติเมตรตามลำดับจากล่างขึ้นบน ตัวกระสุนปืนมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 34 เซนติเมตร ส่วนปลอกกระสุนสูง 150 เซนติเมตร มีช่องสี่เหลี่ยมในส่วนใกล้หัวกระสุนซึ่งสูง 25 เซนติเมตร รวมความสูงของกระสุนปืน 245 เซนติเมตร กล่าวกันว่ามีการบรรจุอัฐิของตำรวจที่เสียชีวิตในเหตุการณ์กบฏดุซงญอไว้ภายใน[17]
อ้างอิง
แก้- ↑ สุภลักษณ์, 2547
- ↑ กรณีเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง การเริ่มต้นความจริงเกี่ยวกับปัตตานี ด้วยประวัติศาสตร์แห่งการลวง ศิลปวัฒนธรรม สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2563
- ↑ แขกตานี ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2546
- ↑ การดับไฟด้วยน้ำมัน(กรณี 3 จังหวัดชายแดนใต้)...(1) ผู้จัดการออนไลน์ สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2554
- ↑ ย้อนอดีต 60 ปี”ดุซงญอ” เจ้าหน้าที่ล้อมปราบชาวบ้านมลายูตายเป็นเบือ Mtoday สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2561
- ↑ วรมัย, 2548 ผู้เขียนระบุว่าเป็นข้อมูลจากตำรวจในเหตุการณ์
- ↑ ชัยวัฒน์, 2547 ผู้เขียนระบุว่าเป็นข้อมูลจากชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์ปะทะช่วงแรก แต่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ช่วงที่มีการปราบปรามครั้งสุดท้าย
- ↑ ข้อมูลต่อไปนี้มาจากชัยวัฒน์, 2547
- ↑ อ้างข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ Malay Tribune แบบวันที่ 27 เม.ย. 2491
- ↑ เฉลิมเกียรติ, 2547; อาจเป็นเหตุการณ์ในวันที่ 25 หรือ 26 เมษายนตามวรมัย, 2548
- ↑ ปิยนาถ, 2534
- ↑ อิมรอน,2538
- ↑ ปิยนาถ,2534
- ↑ ปิยนาถ, 2534
- ↑ ปิยนาถ, 2534
- ↑ ปิยนาถ, 2534
- ↑ ชัยวัฒน์, 2547
บรรณานุกรม
แก้- เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร.หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ กบฏหรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดภาคใต้. พิมพ์ครั้งที่ 2. มติชน. 2547
- ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. ความเงียบของอนุสาวรีย์ลูกปืน: ดุซงญอ-นราธิวาส 2491. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 25 (9), กรกฎาคม 2547. หน้า 132–150
- ปิยนาถ บุญนาค. นโยบายการปกครองของรัฐบาลไทยต่อชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ. 2475 - 2516). กทม. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2534. หน้า 104–105
- วรมัย กบิลสิงห์. ดุซงญอ 2491 ถึงตากใบวิปโยค. พิมพ์ครั้งที่ 2. ร่วมด้วยช่วยกัน. 2548
- สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี. สันติภาพในเปลวเพลิง. กทม. เนชั่นบุกส์. 2547
- อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง. ดูซงญอ ฤๅคือกบฏ. ทางนำ. ตุลาคม 2543. หน้า 7
- อิบรอฮิม ชุกรี. ประวัติราชอาณาจักรมลายูปัตตานี แปลและเรียบเรียงโดย หะสัน หมัดหมาน มะหามะซากี เจ๊ะหะ และ ดลมนรรจ์ บากา. ปัตตานี: โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี. 2541 หน้า 53-54
- อิมรอน มะลูลีม. วิเคราะห์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับมุสลิมในประเทศ: กรณีศึกษากลุ่มมุสลิมในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้. กทม. อิสลามิคอะคาเดมี. 2538. หน้า 161
- Malek, Mohd Zamberi A. Umat Islam Patani: Sejarah dan Politik. Shah Alam: Hizbi. 1993 p. 210-211 (มลายู)
- Mahmad, Nik Anuar Nik. Sejarah Perjuangan Melayu patani 1785 - 1954. Bengi: Penerbit University kebangsaan Malaysia. 1999. p.77 (มลายู)
- Syed Serajul Islam. The Islamic Independence Movements Patani of Thailand and the Mindanao of the philippines. Asian Survey. vol. XXXVIII No.5 (May 1998) p. 446 (อังกฤษ)